กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ดำเนินโครงการ “ต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ” เพื่อขับเคลื่อนและสนับสนุนนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงรุกภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการ “ต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ” เป็นอีกแผนงานภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 -2573 ที่มุ่งสู่เป้าหมายการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
ซึ่งการสร้างโมเดลแบบองค์รวมนี้ จะเป็นต้นแบบที่ดี ไม่เพียงแต่การแก้ปัญหาขยะ แต่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ รวมถึงนักท่องเที่ยว และประชาชน ในการร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ได้ จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นศักยภาพของประเทศไทย ในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและเปลี่ยนจากวิกฤติเป็นโอกาสสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนสู่ประเทศของเราต่อไป
ด้าน ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GC ในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ ได้อาสามาร่วมทำโครงการฯ GC โดยยึดหลักแนวปฏิบัติตามหลัก Circular Economy ให้กับพื้นที่อุทยานฯ สนับสนุนองค์ความรู้และดำเนินงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆ ในการจัดการขยะพลาสติกแบบยั่งยืน
โดย GC มีแนวทางออกที่ยั่งยืน (Total Solutions for Everyone) และสร้างระบบ (Platform) เพื่อแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่
- Bio-based ไบโอเบส มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ไบโอ ( Bio Product ) ที่สลายตัวได้ด้วยการฝังกลบ
- ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากปิโตรเลียม (Fossil-based ) มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยความรับผิดชอบ นำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิล (Recycle) หรือ อัพไซเคิล (Upcycle)
- อีโคซิสเต็ม (Ecosystem) เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้พลาสติก เพื่อให้เกิดการขยายผลในวงกว้าง
- GC จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusiveness)
โดยพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้า SMEs ให้ปรับตัวกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค มีแนวร่วมสำคัญจากพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน ) หรือTPBI และ Farm D
“GC คาดว่าโครงการนี้จะเป็นการสร้างต้นแบบโมเดลแห่งความสำเร็จระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น เพื่อขยายผลใน วงกว้างต่อไป” ดร.คงกระพัน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการคัดเลือกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินงานโครงการครั้งนี้และจะขยายผลไปยังอุทยานแห่งชาติ อีกจำนวน 14 แห่ง ประกอบด้วย
อุทยานทางบก 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติอินทนนท์, อุทยานแห่งชาติเอราวัณ, อุทยานแห่งชาติเขาสก, อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก, อุทยานแห่งชาติภูกระดึง, อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย
อุทยานทางทะเล 7 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด, อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี, อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์, อุทยานแห่งชาติ ตะรุเตา, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง
ซึ่งคาดว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติต้นแบบให้กับอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศต่อไป