ในช่วงบ่ายๆ ของวันศุกร์ที่ไม่ร้อนจนเกินไป ทีมงาน thumbsup ได้มีโอกาสเดินทางไปบ้าน GDH559 ค่ายหนัง Feel Good ที่อยู่คู่วงการภาพยนตร์ไทยมานาน เพื่อพูดคุยกับ สิน ยงยุทธ ทองกองทุน ในวันที่สื่อบันเทิงมีความเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง แต่ GDH559 ก็ยังสามารถสร้างหนังที่เรียกว่าได้ไปทั้งใจและเงินจากคนดู เราลองมาดูกันค่ะว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้คืออะไรบ้าง
ปีที่ผ่านมาของ GDH เป็นอย่างไรบ้าง
ยงยุทธ : ปีที่แล้วมีผลลัพธ์ที่ดีต่อเนื่องจากเรื่อง ‘ฉลาดเกมส์โกง’ ซึ่งยังทยอยฉายในต่างประเทศอยู่ ซึ่งกระแสพวกนี้เป็นตัวปลุกกระแสให้ทาง GDH ได้รับความสนใจจากบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อเยอะ โดยเฉพาะประเทศจีนที่เข้ามาพูดคุยให้ทำโปรเจกต์ร่วมกัน และตอนต้นปี 2561 ก็มีหนังเรื่อง “น้อง.พี่.ที่รัก” ออกไป ซึ่งก็ทำ Box Office เฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ 150 กว่าล้าน ในต่างจังหวัดอยู่ที่ 120 กว่าล้าน
ภาพจาก – GDH
ภาพรวมธุรกิจบันเทิงในมุมมองส่วนตัว
ยงยุทธ : ในช่วงเวลาที่ผ่านมาในภาพรวมมันมีการเติบโตในเรื่องของ ‘ขนาด‘ เพราะถ้านับในส่วนของโรงหนังจะเห็นว่ามีการเพิ่มจำนวนสาขา จำนวนโรงค่อนข้างเยอะ ด้วยความหวังว่าจะสามารถเพิ่มยอดจำนวน “คนดูหนัง” ให้เพิ่มขึ้นได้ แต่จริงๆ แล้วสัดส่วนการเติบโตของจำนวนคนเข้าไปดูหนังกับจำนวนโรงมันไม่ได้แปรผันตามบัญญัติไตรยางค์แบบชัดเจน มันเหมือนค่อนข้างโตแต่ขนาดแต่คุณภาพอาจจะยังไม่ชัด
ได้ยินว่า ‘ตลาดหนังต่างจังหวัด’ มีการเติบโตจนน่าตกใจ
ยงยุทธ : ข้อดีอย่างหนึ่งของโรงหนังสมัยนี้คือตลาดต่างจังหวัดจะ “โต” มากกว่า เพราะว่าตลาดต่างจังหวัดกับกรุงเทพถ้าเทียบเปอร์เซ็นต์กันแล้วต่างจังหวัดจะเริ่มมีเปอร์เซ็นที่มากกว่าแล้ว ซึ่งต่างจากเมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อน
ในเรื่องรายได้หนังถ้าหนังบางเรื่องที่ถูกจริตกับตลาดต่างจังหวัดมากกว่า จำนวน Box Office ในต่างจังหวัดก็จะเยอะอย่างเช่น ‘นาคี 2’ ที่มีการเข้าฉายก่อนภาพยนตร์เรื่อง ‘Homestay’ ของ GDH เป็นเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ ตัวเลขต่างจังหวัดของนาคีเติบโตมากกว่าในกรุงเทพฯ 2-3 เท่า
แต่ ‘Homestay’ มีการเก็บในกรุงเทพฯ ได้ 68 ล้านบาท ในต่างจังหวัดเก็บได้ 60 ล้นบาท ทำให้เห็นได้ชัดว่าหนังที่มีเนื้อหากลางๆ อาจได้ผลลัพธ์ที่เท่ากัน แต่หนังที่ถูกจริตกลุ่มนอกเหนือกรุงเทพฯ ไปจะเริ่มเห็นผลกว่า
ภาพจาก – GDH
แล้ว GDH อยากทำหนังเจาะตลาดนี้บ้างไหม
ยงยุทธ : การที่เราเห็นผลลัพธ์แบบนี้แล้วสร้างโปรเจคใดๆ ขึ้นมานั้น น่าจะเป็นสิ่งที่เราทำไม่ทัน (หัวเราะ) และส่วนใหญ่การที่เราจะสร้างอะไรขึ้นมานั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน อย่างหนังที่มีการฉายปีนี้ก็เริ่มมีการทำงานมาเมื่อ 2-3 ปีก่อน เรียกได้ว่าไม่ได้เป็นโปรเจคแบบปีต่อปี หรือเกิดขึ้นจากกระแส แต่เราก็จะเลือกหนังที่มีเนื้อหาที่ไม่ได้เน้นกลุ่มคนในเมืองหรือกลุ่มคนต่างจังหวัดเท่านั้นที่จะชอบ
อย่างหนังเรื่อง ‘Friend Zone‘ เป็นหนังที่ว่าด้วยรูปแบบความสัมพันธ์ ที่ไม่ว่าใครก็มักจะมีรูปแบบความสัมพันธ์นี้ ทำให้เรามองว่าหนังเรื่องเองก็มีโอกาสทั้งสองตลาด แต่ถ้าวันนี้ GDH ตั้งเป้าว่าอยากทำหนังไปตอบตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น หนังเรื่องนั้นก็คงจะได้ไปฉายตอนปี 2565 (หัวเราะ) เพราะตอนนี้ก็เตรียมการของปีหน้าเอาไว้แล้วตามลำดับ
” ถ้าสื่อสารให้คนดูรู้ได้ว่า ‘หนังของเรามันคุ้มค่ายังไงที่ต้องเข้าไปดูในโรง’ ก็เชื่อว่าเรายังมีโอกาสอยู่ “
Key Sucess ในการทำหนังที่ทำให้ได้ทั้งใจและเงินจากคนดู
ยงยุทธ : มันคงไม่ใช่สูตรสำเร็จ เพราะหนังเรื่องไหนก็ตามที่จบแล้วขึ้นต้นเรื่องใหม่มันก็เหมือนเริ่มต้นจากศูนย์ เนื่องจากต้องเปลี่ยนเรื่อง ผู้กำกับ ดารา ใหม่ หรือแม้กระทั่งคนดูก็ตาม ซึ่งกลุ่มคนดูที่เป็นแฟนหนังของเราเขาก็ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่ได้หมายความว่าทำแบบเดิมแล้วจะประสบความสำเร็จ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นลักษณะเด่นคือเราเลือกเรื่องที่ทำให้คนดูมี ‘ความรู้สึกร่วม’ อย่างเรื่อง ‘ฉลาดเกมส์โกง’ ที่หลายๆ คนเคยผ่านการสอบ
สองคือการให้เวลากับการทำบทให้ดี ด้วยการคิดอย่างรอบคอบมีการให้เหตุให้ผล การที่จะทำให้ ‘ซีนรัก’ มันต้องซึ้ง หรือ ‘ซีนตลก’ มันต้องขำ มันคือสิ่งที่เราต้องทำให้ได้เมื่อเห็นเป็นบทแล้ว และไม่ใช่ว่าสิ่งที่เราเขียนมาอย่างคร่าวๆ แล้วไปผจญภัยที่การถ่ายทำแล้วหวังผลเอาจากข้างหน้า
ส่วนสุดท้ายเรามองว่า ‘เราต้องทำการโปรโมต‘ ให้หนังเข้าไปถึงกลุ่มคนเป้าหมายเรา เพื่อให้รับรู้ให้ได้ว่ามีหนังเรื่องนี้ และเขาต้องรู้สึกอยากดู เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้แค่ปล่อยตัวอย่าง เรียกได้ว่าเป็นหน้าที่หลักเพราะเราใช้เวลาทำหนังมาถึง 2 ปี การที่ปล่อยไปแล้วไม่ทำอะไรก็เหมือนถูกหนังตกน้ำให้จบชีวิตไปอย่างรวดเร็ว
ภาพจาก – GDH
ปรับตัวอย่างไรในวันที่คนเข้าโรงหนังน้อยลงๆ
ยงยุทธ : ตอนนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างเหนื่อยยากสำหรับคนที่มีพื้นฐานใจรัก และเติบโตมากับโรงภาพยนตร์ เพราะความรู้สึกสิ่งหนึ่งที่ทำให้รุ่นก่อตั้งของ GDH โดดเข้ามาในธุรกิจนี้เพราะ “ทุกคนชอบการดูหนังในโรง และรู้สึกถึงเวทมนต์ของการดูหนังในโรงใหญ่ พร้อมๆ กับคนจำนวนมาก” เราจึงยังยืนยันก้าวเดินในแง่ที่ว่ายังไก็ตาม Core Business ของที่นี่จะยังเป็นการทำหนังเข้าโรงหนัง
ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ปฎิเสธพื้นที่ของมีเดียอื่นๆ เพราะ ‘ หนัง’ ก็เป็นสื่อหนึ่งอย่าง ดังนั้นก็ต้องเริ่มปรับตัว เพราะว่าคนดูของเราไม่ได้อยู่ในที่โรงหนังอย่างเดียว โดยปัจจุบันมีพาร์ทเนอร์ที่เราเริ่มจะมี Original Content ร่วมกับทาง LINE TV สำหรับแพลนต์ฟอร์มของ LINE TV ก็เป็นสิ่งที่ชัดว่าคนดูเริ่มจะพุ่งเข้าหาสื่ออีกทางหนึ่ง
ปัญหาที่คนทำหนังต้องพบเจอ
ยงยุทธ : การที่โรงภาพยนตร์ขยายตัวเยอะมันน่าจะแปรว่าเรามีโอกาสขยายกลุ่มคนดูมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วอัตราส่วนมันไม่ได้เป็นไปในลักษณะนั้น เพราะมันเป็นไปในลักษณะอำนวยความสะดวกให้กลุ่มคนที่เคยดูหนังแทน ทำให้คนมีโรงหนังใกล้บ้านมากขึ้น ไม่ใช่ในมุมมองที่ดึงคนที่ไม่ค่อยเข้าโรงหนังให้เข้ามาดูหนังเพิ่มขึ้นได้
ซึ่งเท่ากับว่า “จำนวนโรงหนังเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าเทียบแล้วคนดูต่อโรงมันน้อยลง” นั่นแปรว่าตัวเลขคุ้นเคยอย่างการทำหนังได้ 100 ล้าน จริงๆ แล้วจำนวนคนดูมันลดลง เพราะค่าตั๋วนั้นแพงขึ้นหากดูตัวเลขดีๆ แต่เราก็เชื่อว่า “ถ้าเราสามารถสื่อสารให้คนดูรู้ได้ว่าหนังของเรามันคุ้มค่ายังไงที่ต้องเข้าไปดูในโรง ก็เชื่อว่าเรายังมีโอกาสอยู่”
” ความตั้งใจเราตั้งไว้ได้ แต่ผลลัพธ์เราตั้งไว้ไม่ได้ “
ทำไมถึงทำหนังแค่ปีละ 2 เรื่อง
หนังเรื่องหนึ่งใช้เงินในการถ่ายทำเฉลี่ย 30 ล้าน แล้วใช้เงินโปรโมตอีก 20 ล้าน ซึ่ง 50 ล้านเป็นเงินที่เราต้องออกเองทั้งหมดก่อนที่จะเข้าโรงภาพยนตร์ แล้วเงินที่จะคืนก้อนแรกจะกลับมาจาก ‘ตั๋วใบแรก‘ ถ้าเราทำส่วนไหนไม่ดีสักจุด นั่นหมายความว่าเจ๊งทันที เพราะฉะนั้นเราต้องวางแผนให้ดี เพราะสุดท้ายแล้วก็บอกไม่ได้ว่าสิ่งที่เราพยายามอยู่ผลมันการันตี หนังทุกเรื่องพระเจ้าเท่านั้นที่จะบอกว่าไปรอดหรือไม่รอด และความตั้งใจเราตั้งไว้ได้ แต่ผลลัพธ์เราตั้งไว้ไม่ได้ เราจึงต้องมั่นใจว่าเราทำงานให้มันเต็มที่แล้ว
” เหมือนว่าคุณได้ทำ Master ส่งไปให้ผีเรียบร้อยแล้ว “
มีแผนทำจะ Boxset อีกไหม เพราะมีแฟนๆ หลายคนเรียกร้อง
ยงยุทธ : จริงๆ ตรงนี้มันไม่ตลาดแล้ว ถามว่าทุกวันนี้ที่บ้านยังมีเครื่องเล่น DVD เหลืออยู่ไหม (หัวเราะ) แต่ปัญหาจริงๆ ที่เราพบเจอมาคือเรื่องของการ ‘ละเมิดลิขสิทธ์’ ทำให้แพลตฟอร์มนี้ตายไปด้วย เพราะเมื่อแผ่นออกมาก็เหมือนว่าคุณได้ทำ Master ส่งไปให้ผีเรียบร้อยแล้ว และอยู่ๆ ก็ลงอินเตอร์เน็ต หรือเอาแผ่นไปไลฟ์ Facebook จึงทำให้เรามองว่าอาจจะทำเป็นบางเรื่องไปที่ทำในเชิงของสะสมที่น่าสนใจ
ภาพจาก – GDH
คนชอบบ่นว่า “ตั๋วหนังแพงเกินไป” มันมีทางที่จะถูกลงไหม
ยงยุทธ : คิดว่าตั๋วไม่มีทางถูกลงโดยราคากลไกแบบปกติคิดว่าไม่ แต่จะกลายเป็นเรื่องของโปรโมชั่นแบบอื่นๆ อย่างที่เราเห็นกันว่ามันจะมีการร่วมกับบัตรเครดิตต่างๆ เพื่อให้ได้ส่วนลด การแลกแต้ม ฯลฯ ซึ่งดีมากสำหรับคนดูยิ่งถ้าเป็นคนชอบดูหนังจะยิ่งคุ้มมาก แต่ถ้ามองย้อนไปสำหรับคนทำหนังต่อเรื่องส่วนแบ่งของคนทำหนังมันจะถูกเฉลี่ย หากราคาตั๋วเฉลี่ยอยู่ที่ 200 กว่า ราคาตั๋วก็จะอยู่ที่ 100 บาท แล้วใน 100 บาทจะถูกแบ่งระหว่างโรงกับเรา 50:50 ซึ่งถ้ามีคนใช้แต่บัตรนี้เยอะๆ เท่ากับรายได้เราหายไปเยอะมาก จึงอาจทำให้เราอยู่ไม่ได้เหมือนกัน
” ผมว่าหนังไทยอาภัพนิดหน่อยนะ “
รัฐบาลมีการสนับสนุนหนังไทยอย่างไรบ้าง
ยงยุทธ : ผมว่าหนังไทยอาภัพนิดหน่อยนะ (หัวเราะ) เหมือนทุกครั้งที่หนังไทยที่ส่วนใหญ่ซึ่งเกิดจากภาคเอกชนนั้น ประสบความสำเร็จ หรือมีการไปทำชื่อเสียงที่ต่างประเทศ มันจะเกิดกระแสเห่อจากทางรัฐที่จะสนับสนุน แต่พอไปคุยรายละเอียดก็พบว่าไม่ได้ถูกคิดขึ้นมาจากฐานในการส่งเสริมจริงๆ เพราะอาจจะไม่มีการต่อเนื่องเพราะเปลี่ยนคนดูแลบ่อยๆ
แนวทางกลยุทธ์การทำธุรกิจของ GDH ในปี 2019
ยงยุทธ : ยังไงที่นี่ก็ทำหนังเป็นหัวใจหลัก โดยในปีนี้น่าจะมีหนัง 3 เรื่องที่เข้าฉาก ซึ่งเรื่องแรกคือ ‘Friend Zone’ ที่จะฉาย 14 ก.พ. นี้ ส่วนช่วงกลางปีถึงปลายปีก็จะมีอีก 2 โปรเจคที่ร่วมงานกับเต๋อ นวพล และจะมีโปรเจก ‘ตุ๊ดซี่ส์ เดอะมูฟวี่’ ซึ่งเป็นการเอาเรื่องราวที่ต่อเนื่องจากซีรีส์มาทำต่อในแบบใหญ่ขึ้นเป็นภาพยนตร์ และมีโปรเจกร่วมกับ LINE TV และ BNK คือ ‘One Year’ ที่มีนักแสดงหลายคน นอกจากนั้นก็ยังคงมีโปรเจคร่วมทุนกัยต่างประเทศด้วย
สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้จากการคุยกันครั้งนี้คือ “หัวใจของคนทำหนัง” ที่หลงรักในสิ่งที่ตัวเองทำ แต่ก็ไม่ลืมที่จะสื่อสารความตั้งใจของตัวเองออกมาให้ผู้ชมเข้าใจได้ด้วยในเชิงธุรกิจ ซึ่งปีนี้ก็เป็นปีที่น่าจับตามองสำหรับวงการภาพยนตร์ไทยในการปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างเต็มตัวกว่าเดิมแน่นอน