ในยุคนี้คงต้องบอกว่า ใครหรือองค์กรใดที่ยังไม่มีนโยบายก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลก็อาจใกล้จะตกขบวนรถไฟที่ชื่อว่า “อนาคต” เต็มที ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นข่าวดีที่หลาย ๆ องค์กรตระหนักถึงความสำคัญ และลุกขึ้นมาปรับตัวกันอย่างคึกคัก อย่างไรก็ดี การสร้างวัฒนธรรมความเป็นดิจิทัลเพื่อให้พร้อมสำหรับการก้าวต่อไปในโลกยุคหน้านั้น บางทีก็ไม่อาจทำได้ด้วยตัวคนเดียว หรือทำกันแค่ภายในประเทศเดียวอีกต่อไป การมียักษ์ใหญ่เข้ามาช่วยสนับสนุนบางทีก็อาจเป็นหนทางที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
ล่าสุดในงานฉลองเปิดพื้นที่ใหม่ของ Google ประเทศไทย เราจึงได้มีโอกาสฟังวิสัยทัศน์จาก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมถึงแนวทางของภาครัฐในการสร้างประเทศไทยให้ก้าวสู่ความเป็นดิจิทัล ตลอดจนได้พูดคุยและสอบถามถึงแนวทางของ Google ในประเด็นเดียวกันจาก คุณเบน คิง (Ben King) หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ Google ประเทศไทย
โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวว่า การมาถึงของยุคดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแล้ว เศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพทางสังคมก็เปลี่ยนไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้น วันนี้ประเทศไทย ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 และการตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในอีกหลาย ๆ ด้านเช่นกัน
“เฉพาะในปีนี้จะมีความน่าตื่นเต้นหลายเรื่องด้วยกัน นั่นคือเราจะมีการลงทุนวางเครือข่ายใยแก้วนำแสงไปสู่หมู่บ้านของไทย 24,700 แห่งทั่วประเทศ ก็เหมือนสมัยก่อนที่มีการสร้างถนน แต่ถนนเส้นที่เรากำลังจะสร้างนี้เป็นถนนสายดิจิทัล ที่จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้ดีขึ้น ทำอีคอมเมิร์ซได้ อยู่ กทม. อยู่ต่างจังหวัดค่าเท่ากันแล้ว”
พร้อมกันนี้ ดร.พิเชฐ ได้เผยด้วยว่าในสัปดาห์ที่จะถึงนี้กระทรวงฯ มีแผนจะเสนอการสร้าง Digital park Thailand ขึ้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นแหล่งรวมนวัตกรรมและการลงทุนด้านดิจิทัลของไทย และหวังว่าบริษัทอย่าง Google จะให้ความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน
ด้าน คุณเบน คิง หัวหน้าฝ่ายธุรกิจของ Google ประเทศไทยเอง นอกจากจะเผยว่าทางตัวแทนจาก Google ได้มีการพูดคุยกับรัฐบาลไทยหลายครั้งแล้ว เขายังได้เผยถึงทิศทางในการดำเนินงานของ Google ในปี 2017 ในแง่ของการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลไว้ 4 ด้านได้แก่
ด้านการศึกษา
Google มีแผนจะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ผ่านโครงการ Google Ignite ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับนักศึกษาเพื่อให้เรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์ก่อนเข้าสู่สายงานด้าน Digital Marketing โดยจะสอนทักษะล่าสุดสำหรับโฆษณาออนไลน์ และการพัฒนาสู่ความเป็นมืออาชีพ ที่สามารถนำไปใช้ในโลกแห่งการทำงานจริงได้ โดย Google มองว่าโปรแกรมดังกล่าวจะช่วยสนับสนุน Digital Economy ของประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง
ด้านการบ่มเพาะสตาร์ทอัป และธุรกิจ SMB
มร.เบน คิงเผยว่า Google มีโครงการ Launchpad Accelerator ซึ่งเป็นโปรแกรมระดับโลกสำหรับบ่มเพาะสตาร์ทอัป ซึ่งที่ผ่านมาได้มีสตาร์ทอัปจากไทยได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการสองรายนั่นคือ Wongnai และ Skootar โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินทุนให้เปล่า 50,000 เหรียญสหรัฐ และได้เข้าร่วมเวิร์กชอปการอบรมที่เข้มข้น การให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ของ Google และการได้พบกับนักลงทุนจากซิลิคอนวัลเลย์ด้วย
ด้านผู้ใช้งาน
ในข้อนี้ Google ได้สร้างระบบการแปล Neural Machine Translation สำหรับภาษาไทยขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้การแปลเป็นธรรมชาติมากขึ้น เพราะระบบจะแปลประโยคในครั้งเดียว แทนที่จะแปลเป็นส่วน ๆ ซึ่งในจุดนี้ Google มองว่าจะทำให้ภาษาไทยสามารถเชื่อมต่อเข้ากับความเป็นสากลได้มากขึ้น
ปัจจุบันระบบ Neural Machine Translation มีการใช้งานแล้วใน 12 คู่ภาษษกับภาษาอังกฤษ ได้แก่ ภาษาไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย ฮินดี ฝรั่งเศส เยอรมรัน สเปน โปรตุเกส ตุรกี และเวียดนาม
ด้านครีเอเตอร์
ข้อสุดท้ายเป็นสิ่งที่ Google มองว่าประเทศไทยมี Content Creator ที่มีศักยภาพสูงมาก ซึ่งการสนับสนุนกลุ่ม Content Creator ดังกล่าวเกิดขึ้นผ่านการจัดงาน YouTube Summit 2017 ขึ้นเพื่อเป็นกำลังใจแก่นักการตลาด และกลุ่ม Content Creator ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านแอคเคาน์ขึ้นไป (ในชื่อ Gold Button ที่มีถึง 32 ช่องด้วย)
การสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่ Digital Economy ในหลาย ๆ ด้านดังที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ความยากนับต่อจากนี้ไปก็คือ ภาพในอนาคตที่รถไฟขบวนนี้จะแล่นไปนั้นยังเป็นภาพที่เลือนรางจนยากจะบอกได้ว่า การเดินทางเส้นทางไหนจึงจะปลอดภัยที่สุดเสียมากกว่า