ความพยายามที่บริษัทชั้นนำของโลกจะพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาระบบการศึกษานั้นมีให้เห็นกันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนจากหนังสือมาเป็นคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต การเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ แต่ในวันนี้ Google กับบทบาทผู้นำเทคโนโลยีของโลกมาพร้อมกับบริการใหม่ที่จะเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนอีกครั้ง ภายใต้ชื่อ Google Classroom
Google Classroom มีรูปแบบคล้ายกับระบบการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เราอาจจะชินตากันจากภาพยนตร์ไซไฟ ที่ครูสั่งและตรวจงานของนักเรียนทั้งหมดผ่านคอมพิวเตอร์ ในขณะที่นักเรียนทุกคนก็จะมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวไว้เรียน ทำงานร่วมกับเพื่อนและส่งการบ้าน ซึ่ง Google Classroom ก็มาพร้อมกับรูปแบบนี้ โดยตัวบริการจะเปิดให้ครูผู้สอนสามารถสร้างการบ้านแบบออนไลน์ได้ง่ายๆ จากนั้นการบ้านเหล่านี้จะถูกส่งไปยังเด็กนักเรียนทุกคนทันทีโดยไม่ต้องพึ่งระบบกระดาษอีกต่อไป
ในฝั่งของนักเรียนเองก็สามารถที่จะทำการบ้านเหล่านั้นผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งในขณะที่นักเรียนทำอยู่นั้น ครูที่เป็นผู้สร้างการบ้านดังกล่าวก็สามารถที่จะตรวจสอบสถานะของนักเรียนแต่ละคนได้ง่ายๆ นอกจากนั้น Google Classroom ยังผนวกเข้ากับบริการต่างๆ ของ Google เพื่อให้ครูและนักเรียนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ความน่าสนใจอยู่ที่ Google เปิดให้เป้าหมายกลุ่มสถานศึกษาสามารถใช้บริการนี้ได้ฟรีโดยไม่มีแม้แต่การเข้าไปดูข้อมูลเพื่อหาทางโฆษณาเหมือนในบริการทั่วไปของ Google โดยกลุ่มที่สนใจสามารถสมัครทดลองใช้งานได้ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
ลองมาดูคลิปแนะนำเพิ่มเติมกันดูครับ
ความเห็นผู้แปล
ความพยายามในการเจาะกลุ่มการศึกษาถือเป็นเรื่องที่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างมุ่งไปทั้งสิ้น ด้วยฐานของผู้ใช้งานและเม็ดเงินจำนวนมหาศาล การที่ใครสามารถเจาะเข้าไปสร้างความนิยมได้ก็หมายถึงช่องทางในการ engage กับผู้ใช้ในระยะยาว ก่อนหน้านี้ Google ได้พยายามผลักดันคอมพิวเตอร์ราคาประหยัดภายใต้โครงการ Chromebook ที่มีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจและหันมาใช้งาน นอกจากนั้น Google Apps for Education ก็ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้นักเรียนนักศึกษาทั่วโลกสามารถใช้บริการต่างๆ ของ Google ในเวอร์ชั่นที่ถูกปรับให้เข้ากับการเรียนการสอนสามารถใช้งานได้ฟรี ซึ่งในปัจจุบันก็มีกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวเป็นจำนวนหลายล้านคนใช้บริการนี้อยู่ และมหาวิทยาลัยดังๆ หลายแห่งก็เลือกใช้ Google Apps for Education แทนที่จะลงทุนพัฒนาหรือซื้อระบบแพงๆ มาใช้งาน
การสานต่อด้วย Google Classroom จึงเหมือนเป็นก้าวต่อที่เสริมจากฐานเดิมที่เป็นที่รู้จักในระดับหนึ่งอยู่แล้วเพื่อให้มีบริการที่ครบถ้วนมากขึ้น แต่ในระยะแรกคงจะได้รับความนิยมเฉพาะในกลุ่มเมืองหรือประเทศที่มีโครงข่ายพื้นฐานค่อนข้างดีและมีแนวคิดเปิดกว้างกับเทคโนโลยีใหม่ๆ (ซึ่งประเทศไทยน่าจะยังไม่ตกอยู่ในกลุ่มประเทศนี้) โดยตัวแปลที่สำคัญที่สุดที่จะเปิดรับหรือไม่รับระบบดังกล่าว นอกจากจะอยู่ที่การตัดสินใจของผู้บริหารสถานศึกษาแล้วก็คงอยู่ที่ตัวครูผู้ใช้งานนั่นเอง เนื่องจากการเปลี่ยนจากระบบกระดาษมาสู่คอมพิวเตอร์ถือเป็นการเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือพอสมควร คงต้องมาติดตามดูว่า Google จะสามารถผลักดัน Google Classroom ให้เกิดในวงกว้างได้แค่ไหน
ที่มา: Android and Me