Google และพาร์ทเนอร์อย่าง Temasek และ Bain & Company ได้เผยแพร่รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉบับที่ 6 e-Conomy SEA Report 2021: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเข้าสู่ “ทศวรรษแห่งดิจิทัล” และคาดว่า เศรษฐกิจดิจิทัล ของไทยจะมีมูลค่าสินค้ารวม 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 จากจำนวนผู้บริโภคและผู้ค้าที่ใช้งานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร และบริการด้านการเงินดิจิทัลคาดเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573
ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 440 ล้านคน และที่สำคัญ 350 ล้านคนในจำนวนนี้ หรือประมาณ 80% เป็นผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เคยใช้บริการออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งรายการ นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ มีผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ถึง 60 ล้านราย โดย 20 ล้านรายในจำนวนนี้เพิ่มเข้ามาในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เท่านั้น
สำหรับประเทศไทย คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 51% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ไทยยังคงเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย ทั้งนี้คาดว่าในปี 2568 มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะแตะที่ 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 17% ซึ่งสูงขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้ถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยก่อนหน้านี้ได้ประมาณการไว้ที่ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลไทย
- อีคอมเมิร์ซ : เป็นแรงผลักดันที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย และคาดว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในทศวรรษหน้า ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นถึง 68% จากปีก่อน โดยมีมูลค่าสูงถึง 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 และคาดว่าจะแตะ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568
- สื่อออนไลน์ เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึง 29% โดยมีมูลค่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 นอกจากนี้ยังพบว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดทำให้มีเกมเมอร์หน้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยมีความต้องการซื้อเกมและใช้จ่ายในเกมเป็นตัวขับเคลื่อน
- การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ : ภาคธุรกิจส่งอาหารออนไลน์มีการเติบโตที่สดใส ส่งผลให้ภาคธุรกิจการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์เติบโตขึ้นถึง 37% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้พบว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยหันมาใช้บริการส่งอาหารออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในบริการดิจิทัลที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด โดย 76% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยสั่งอาหารออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง
- ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวออนไลน์ยังไม่ฟื้นตัว แต่คาดว่าอาจจะได้เห็นการฟื้นตัวในระยะกลางถึงระยะยาว โดยได้แรงหนุนจากความต้องการที่ถูกอั้นไว้ของผู้บริโภคและความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านคนนับตั้งแต่การเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดในปี 2563 (ถึงครึ่งแรกของปี 2564) โดยกว่า 67% ของผู้ใช้รายใหม่อาศัยอยู่นอกหัวเมืองหลัก อัตราการใช้บริการดิจิทัลของประเทศไทยสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากฟิลิปปินส์ โดยมีผู้ใช้บริการดิจิทัลสูงถึงร้อยละ 90 ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต
ผู้ใช้งานเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะใช้งานต่อไปในอนาคต โดยกว่า 96% ของผู้ใช้งานในช่วงการแพร่ระบาดยังคงใช้งานอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ และ 98% คาดว่าจะใช้งานต่อไปในอนาคต ผู้ที่เคยใช้บริการดิจิทัลก่อนการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้น 3.9 บริการนับตั้งแต่มีการระบาด ระดับความพึงพอใจที่มีต่อบริการทุกประเภทอยู่ที่ 87%
ความพร้อมในด้านดิจิทัลของผู้ค้า
กว่า 1 ใน 3 ของผู้ค้าดิจิทัล ในประเทศไทยเชื่อว่าธุรกิจของพวกเขาจะไม่สามารถผ่านวิกฤตโรคระบาดไปได้ หากไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล แม้ว่าผู้ค้าดิจิทัลใช้บริการถึง 2 แพลตฟอร์มโดยเฉลี่ย แต่กำไรของธุรกิจยังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง บริการด้านการเงินดิจิทัลกําลังกลายมาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักเพราะ 96% ของผู้ค้าดิจิทัลรับการชำระเงินดิจิทัลแล้ว และ 82% ของผู้ค้าดิจิทัลรับบริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล นอกจากนี้ ผู้ค้าจํานวนมากยังใช้เครื่องมือดิจิทัลในการเชื่อมต่อกับลูกค้า โดยกว่า 58% มีแนวโน้มที่จะใช้เครื่องมือการตลาดดิจิทัลมากขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า
การระดมทุนขยับขึ้นอีกระดับ
นักลงทุนต่างมองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเป้าหมายการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนงดงามในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซและบริการด้านการเงินดิจิทัลที่ยังคงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ การลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปี 2564 คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกับปี 2563 บริษัทยูนิคอร์นที่ถือกําเนิดขึ้นแห่งแรกในประเทศไทยในปีนี้ เป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนในบริการดิจิทัลที่เติบโตขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech)
บริการด้านการเงินดิจิทัลทุกชนิดเติบโตอย่างสดใส
นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริการด้านการเงินดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตที่ดี โดยผู้ค้าและผู้บริโภคหันมาใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีวอลเล็ท (e-wallet) และระบบการชำระเงินแบบ A2A (account-to-account) กันมากขึ้น ทั้งนี้ การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลคาดว่าจะมีมูลค่าธุรกรรมรวม (Gross Transaction Value: GTV) กว่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการจำนวน 7.07 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564
ปัจจัยขับเคลื่อนและหนุนเศรษฐกิจดิจิทัลให้มีมูลค่าแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573
อีคอมเมิร์ซและบริการจับจ่ายออนไลน์จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญของมูลค่าสินค้ารวมของเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2573 มูลค่าของธุรกิจขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ รวมทั้งสื่อออนไลน์ อาจเติบโตแบบอีคอมเมิร์ซได้ หากความต้องการของผู้บริโภคนอกเขตเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ปัจจัยหนุนที่เกี่ยวพันกับผู้บริโภค ผู้ค้า แพลตฟอร์ม และหน่วยงานกำกับดูแล จะเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโต ไม่ว่าจะเป็นความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืน การกำกับดูแลข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาและเอื้อต่อการทำธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการไหลของข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีความถี่มากขึ้น รวมถึงมาตรการคุ้มครองผลประโยชน์ของแรงงาน และผู้บริโภคควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม
แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า “รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วภูมิภาค ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดที่มีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคนี้
โดยมีการเติบโตของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ตลอดจนสื่อออนไลน์ และธุรกิจขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์เป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญ เพื่อให้ตระหนักถึงศักยภาพสูงสุดของเศรษฐกิจดิจิทัล จะต้องมีการวางรากฐานอนาคตอย่างครอบคลุมเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล
ทั้งนี้ Google ยังคงมุ่งมั่นนำเสนอผลิตภัณฑ์และข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจดิจิทัลที่เท่าเทียมสำหรับคนไทย รวมทั้งให้การฝึกอบรมแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในการเพิ่มพูนทักษะดิจิทัลเพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ และช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคในทศวรรษแห่งดิจิทัล”
Rohit Sipahimalani, Chief Investment Strategist; Head, South East Asia, Temasek กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หันมาใช้บริการดิจิทัลกันมากขึ้น ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้เติบโตสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ Temasek ตั้งตารอที่จะเพิ่มการลงทุนในบริษัทต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความเป็นเลิศในด้านดิจิทัล โดยใช้เงินทุนของเราเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโซลูชันดิจิทัลใหม่ๆ และเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและโอกาสในการจ้างงานสำหรับผู้คนในภูมิภาคนี้”
Willy Chang, Associate Partner at Bain & Company กล่าวว่า “ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนของผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตแบบก้าวกระโดดของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ ปี 2563 ยังถือเป็นปีที่เศรษฐกิจดิจิทัลไทยสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ และมูลค่าการลงทุนในครึ่งแรกของปี 2564 ก็อยู่ในระดับเดียวกันกับปีที่ผ่านมา หรืออาจสร้างสถิติใหม่ด้วยซ้ำ”
ที่มา : Google