เข้าสู่เดือนพฤศจิกายนที่หลายคนเริ่มบอกว่าลมหนาวมาเยือนก็จริง แต่ในภาคธุรกิจต้องยอมรับว่า การแข่งขันต่าง ๆ เริ่มจะร้อนแรงขึ้นอีกครั้งแล้ว โดยในวันนี้แบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Google ก็ได้ออกมาประกาศเปิดตัวเครื่องมือที่มีชื่อว่า Google My Business อย่างเป็นทางการ โดยบอกว่าเครื่องมือนี้จะช่วยเชื่อมหน้าร้านในโลกออฟไลน์ให้ขึ้นมามีตัวตนบนโลกออนไลน์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และมองว่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กของไทยได้มากขึ้นในยุคที่ใคร ๆ ก็ “Go Digital”
สำหรับการ Go Digital ที่ทุกฝ่ายต้องมุ่งไปนี้ ในมุมมองของ Google มองว่า ถ้าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อาจไม่ต้องกังวลเนื่องจากมีทีมงานพร้อม แถมงบประมาณก็พร้อม แต่ถ้าเป็นธุรกิจ SME ผู้ประกอบการบางรายอาจไม่มีความถนัดในด้านเทคนิค เช่น ไม่มีความรู้ความสามารถในการสร้างเว็บไซต์ที่จะให้ผู้บริโภคเสิร์ชหาได้ ในจุดนี้ Google มองว่าการส่งเครื่องมืออย่าง Google My Business ที่สามารถสร้างเว็บไซต์ให้ผู้ประกอบการได้เลยนั้นจะช่วยให้การมีตัวตนบนโลกออนไลน์ของธุรกิจ SME ไทยทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น และเพื่อทำความรู้จักเครื่องมือใหม่อย่าง Google My Business ให้ดีขึ้น เราจึงรวบรวม 10 ความสามารถเด่น ๆ ที่ Google My Business สามารถช่วยธุรกิจไทยได้มาฝากกัน
1. สามารถสร้างเว็บไซต์ได้ในเวลาที่รวดเร็ว โดยสามารถรับโดเมนฟรีจาก Google หรือซื้อโดเมนจาก Google Domain ได้โดยตรงภายใน Google My Business
2. เมื่อถูกเสิร์ชบน Google Searchหรือบน Google Maps ข้อมูลของร้านค้าที่มาใช้บริการ Google My Business ก็จะปรากฏขึ้นให้ผู้บริโภคได้เห็น และสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
3. มี Dashboard สำหรับแสดงผล Insight ของร้านซึ่งทำให้ทราบว่า Demographic ของผู้ที่เข้าถึงหน้าร้านนั้นเป็นผู้บริโภคกลุ่มใด อีกทั้งยังรองรับการทำงานทั้งบนเดสก์ทอป และสมาร์ทโฟน
4. สามารถเพิ่มรูปภาพ ข้อความ เลือกธีมต่าง ๆ ได้ โดย Host ของเว็บไซต์คือ Google
5. มีคอลล์เซนเตอร์ ให้บริการสำหรับตอบคำถามในกรณีที่เกิดข้อสงสัย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของ Google ที่ลงทุนเพิ่มพนักงานสำหรับเป็นคอลล์เซนเตอร์ด้วย โดยโทรสอบถามได้ที่หมายเลข 1800-012-722
6. สามารถสร้างโพสต์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ของร้าน หรือใช้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ฯลฯ ได้
7. รองรับธุรกิจทุกประเภท
8. เจ้าของธุรกิจสามารถเข้าไปแสดงความรับผิดชอบ หรือชี้แจงได้กรณีที่มีฟีดแบก หรือรีวิวในแง่ลบเกิดขึ้นกับร้านค้า
9. หากมีเว็บไซต์อยู่แล้ว ก็สามารถเชื่อมโยงเว็บไซต์ของตัวเองมาใส่ในบริการ Google My Business ได้ ไม่จำเป็นต้องสร้างเว็บไซต์กับ Google เสมอไป
10. ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี การใช้บริการ Google My Business ก็อาจมีข้อจำกัดบางประการด้วยเช่นกัน ดังนี้
1. ไม่สามารถเพิ่มเติมคุณสมบัติต่าง ๆ บนเว็บไซต์ได้เอง
2. ถ้าไม่มีหน้าร้าน หรือไม่สะดวกที่จะระบุหน้าร้านได้ก็อาจไม่เหมาะสำหรับบริการนี้
โดยคุณไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทยให้ความเห็นว่าทุกวันนี้ แม้ผู้บริโภคจะเสิร์ชหาหน้าร้านผ่านทางอุปกรณ์ดิจิทัลก็จริง แต่การใช้ชีวิตก็ยังไม่ได้ขึ้นไปอยู่บนโลกออนไลน์อย่างถาวร หลายคนยังบริโภคบนโลกออฟไลน์ จึงมองว่าบริการ Google My Business นี้จะสามารถเชื่อมลูกค้าจากโลกออนไลน์ให้มาสู่หน้าร้านที่โลกออฟไลน์ได้นั่นเอง
ส่วนในกรณีของแพลตฟอร์ม Social Media ที่เน้นให้ผู้คนเกิดการซื้อขายกันบนโลกออนไลน์ และจัดส่งสินค้าผ่านผู้ให้บริการโลจิสติกส์นั้น คุณไมเคิลมองว่า บางธุรกิจก็ไม่เหมาะกับแนวคิดเหล่านั้น เช่น ธุรกิจฟิตเนส ที่ผู้บริโภคก็ยังต้องการเดินทางมาที่ร้านเพื่อออกกำลังกายด้วยตัวเอง ไม่สามารถคลิกซื้อออนไลน์ได้
เมื่อถามถึงแนวโน้มของโมเดลการคิดค่าบริการพิเศษจาก Google My Business ว่าจะมีเพิ่มขึ้นหรือไม่ในอนาคต คุณไมเคิลตอบว่า ณ ขณะนี้บริการ Google My Business เป็นบริการที่เปิดให้ใช้ฟรี และยังไม่มีการคิดค่าบริการเพิ่มเติมแต่อย่างใด