Site icon Thumbsup

นับถอยหลังชาว Android ชำระเงินสดบน Google Play

นอกจากบัตรเครดิตและบัตรเติมเงิน วันนี้โลกกำลังตื่นเต้นกับฟีเจอร์ใหม่บน Google Play ที่ทำให้ผู้ใช้ Android สามารถชำระเงินสดได้อย่างสะดวกสบาย เบื้องต้นฟีเจอร์นี้กำลังนำร่องในเม็กซิโกและญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งหากผลตอบรับดี ก็อาจขยายตลาดได้อีกหลายประเทศ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Google ได้เพิ่มการเรียกเก็บเงินผ่านผู้ให้บริการหรือ carrier billing เพื่อให้ผู้ใช้ที่ซื้อเนื้อหาดิจิทัลบน Play Store มีช่องทางการซื้อที่ง่ายขึ้น ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นคือแอปพลิเคชันแบบต้องชำระเงิน (paid apps) และระบบรับชำระเงินในแอป (in-app payments) นั้นสามารถขยายตลาดและเข้าถึงผู้ใช้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ ล่าสุด ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีกำลังเดินหน้าเพิ่มความง่ายยิ่งขึ้นให้ผู้ใช้ในตลาดเหล่านี้ โดยเฉพาะตลาดที่เป็นสังคมใช้เงินสดเป็นหลัก

เลือกก่อน จ่ายทีหลัง

เมื่อเข้าถึงเนื้อหาที่ต้องชำระเงิน แล้วผู้ใช้ต้องการจ่ายเป็นเงินสด จะสามารถเลือก option การชำระเงินแบบใหม่ชื่อ “pending transactions” ตัวเลือกการชำระเงินใหม่นี้แปลเป็นไทยได้ว่า “ธุรกรรมที่รอดำเนินการ” ซึ่งอูราช มาห์บอด (Aurash Mahbod) ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมของ Play Store อธิบายว่าเป็นรูปแบบ “การชำระเงินภายหลังแบบใหม่” หรือ delayed form of payment รูปแบบใหม่ที่จะอนุโลมให้ผู้ใช้จองบริการก่อนที่จะไปชำระเงินด้วยตัวเองในภายหลัง

pending transactions ไม่ได้รองรับเฉพาะเงินสด แต่ยังครอบคลุมการโอนเงินผ่านธนาคาร และการตัดบัญชีโดยตรง ซึ่งคาดว่าจะโดนใจผู้ที่ไม่ได้ใช้บริการชำระเงินออนไลน์เป็นประจำ

สำหรับ pending transactions ที่เริ่มให้บริการในญี่ปุ่นและเม็กซิโกขณะนี้ จะอนุญาตให้ผู้ใช้ซื้อ paid apps แล้วจ่ายเงินสดที่ร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน โดย Google ระบุว่าจะเพิ่มตัวเลือกการชำระเงินสำหรับการทำธุรกรรมในแอปให้อีกหลายประเทศกำลังพัฒนาต่อไป

refund ไม่ได้ ต้องจ่ายในเวลาที่กำหนด

หากมองในด้านขั้นตอนการจ่ายเงิน ผู้ใช้สามารถแสดงรหัสการทำธุรกรรมกับแคชเชียร์ โดยจะต้องชำระเงินภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งหากทุกกระบวนการไม่เกิดปัญหา การชำระเงินของผู้ใช้จะเรียบร้อยในเวลาไม่เกิน 10 นาที แต่หากเกิดข้อผิดพลาด อาจใช้เวลานานถึง 48 ชั่วโมงในการตรวจสอบหรือแก้ปัญหาเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่าธุรกรรมที่ชำระเงินผ่านตัวเลือก pending transactions จะไม่สามารถขอคืนหรือ refund ได้ ซึ่งอาจจะไม่มีผลเนื่องจากผู้ใช้สามารถใช้เวลาคิดได้เต็มที่ขณะกำลังเดินทางไปที่ร้านเพื่อชำระเงิน

นักวิเคราะห์มองว่าการที่ Google เปิดตัว option การชำระเงินใหม่นี้เกิดขึ้นเพราะ Google ต้องการบุกตลาดเกิดใหม่หรือ emerging markets ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับนักพัฒนา ความหวังสูงสุดคือการเปลี่ยนผู้ใช้ฟรีให้เป็นผู้ใช้ที่ยอมจ่ายเงิน จุดนี้การทำธุรกรรมเงินสดยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดเหล่านี้ เพราะเป็นตลาดที่ผู้ใช้ยังไม่ค่อยมีบัตรเครดิต และไม่นิยมสมัครบริการโทรศัพท์มือถือแบบแพคเกจรายเดือน

ไม่แน่ อีคอมเมิร์ซในอนาคตอาจจะทำแบบนี้บ้างก็ได้.

ที่มา: : EnGadget