Google, Temasek และ Bain & Company เผยผลวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกี่ยวกับการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลของคนไทยที่เติบโตขึ้น 30% และคาดว่าจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยแตะ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568
Google, Temasek และ Bain & Company ร่วมกันทำวิจัยเพื่อติดตามการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2563 (e-Conomy SEA 2020) โดยในรายงานเผยผลวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่ามีมูลค่าทะลุ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563
มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่เพิ่มขึ้น 40 ล้านคนจากปี 2562 ทำให้ปัจจุบันทั่วทั้งภูมิภาคมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น 400 ล้านคน คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 สำหรับประเทศไทยคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตขึ้นประมาณ 25% ในปี 2568
แม้ว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปีนี้จะเต็มไปด้วยความท้าทาย ผลการวิจัยระบุว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยเติบโตขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยจะมีมูลค่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 นับเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ อัตราการเติบโตในประเทศไทยยังมาจากส่วนอุตสาหกรรมต่อไปนี้
- อีคอมเมิร์ซ ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด
-
- อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี อยู่ที่ 81% จากปีที่ผ่านมา มีมูลค่าแตะ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568
- การขยายตัวของอีคอมเมิร์ซช่วยชดเชยการชะลอตัวของการท่องเที่ยวและการขนส่งออนไลน์
- สื่อออนไลน์ (โฆษณา เกม บริการวิดีโอออนดีมานด์ และบริการเพลงออนดีมานด์) ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเติบโตขึ้น 20% จากปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และจะทะลุ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568
-
- คนไทยใช้เวลาออนไลน์ 3.7 ชั่วโมง (ใช้งานส่วนตัว) ในช่วงก่อนโควิด และพุ่งขึ้นถึง 4.6 ชั่วโมงในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ และปัจจุบันคงที่อยู่ที่ 4.3 ชั่วโมงต่อวัน
- กลุ่มผู้ใช้จาก 8 ใน 10 ราย เห็นว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์อย่างมากในช่วงโควิด-19 จึงทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของผู้คนอีกต่อไป
นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า ช่วงล็อกดาวน์ผู้บริโภคที่ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผู้ใช้งานจํานวนมากเริ่มลองใช้บริการดิจิทัลใหม่ๆ โดย 30% ของผู้ใช้บริการดิจิทัลทั้งหมดคือผู้ใช้รายใหม่ และ 95% ของพวกเขาเหล่านี้ตั้งใจที่จะใช้ต่อไปหลังช่วงระบาด
- การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ ในประเทศไทยมีมูลค่า 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี ลดลง 12% แม้ว่าจะมีการเติบโตของบริการส่งอาหารออนไลน์ ทั้งนี้ คาดว่าจะมีมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตขึ้น 45% ในปี 2568
- การท่องเที่ยวออนไลน์ (ธุรกิจจองโรงแรม ที่พัก และเที่ยวบิน) ในประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีมูลค่าตลาด (Gross Bookings Value) ในปี 2563 อยู่ที่ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีลดลง 47% และคาดว่าจะมีมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568
นอกจากนี้รายงานฯ ยังได้ให้ข้อมูลอัปเดตในส่วนของบริการทางการเงินดิจิทัล (การชำระเงิน การโอนเงิน การให้กู้ยืม ประกันภัย และการลงทุน) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย โดยระบุว่าผู้บริโภคและธุรกิจเอสเอ็มอีได้หันมาใช้บริการทางการเงินดิจิทัลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
นอกจากบริการให้กู้ยืมแล้ว มูลค่าธุรกรรมรวมการชำระเงินดิจิทัล (GTV) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2563 อยู่ที่ 620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นจากปีที่แล้ว 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีมูลค่ารวมที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568
และอีก 2 ภาคส่วนใหม่ที่ได้ทำการวิจัยขึ้นในปีนี้ ที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้แก่ เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech)
ผลการวิจัยร่วมกันของ Google, Temasek และ Bain & Company ในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงก้าวต่อไปของอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคและระบบนิเวศขนานใหญ่ในปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีความก้าวหน้าและเติบโตมาสู่จุดที่แข็งแกร่งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และจากผลการวิจัยการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยได้ค้นพบถึงสาระสำคัญ 7 ประการดังนี้
- การย้ายสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล การใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในประเทศไทยที่มีผู้ลองใช้บริการดิจิทัลใหม่ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด – 19
- ออนไลน์อย่างมีความหมาย ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เวลาโดยเฉลี่ยมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวันบนอินเทอร์เน็ตในช่วงล็อกดาวน์ ในขณะที่คนไทยใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นในช่วงโควิด-19 และมองว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จำเป็น
- ปรับตัวในช่วงวิกฤต อีคอมเมิร์ซได้ขับเคลื่อนการเติบโตในประเทศไทยอย่างมากถึง 81% การก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วนี้ช่วยชดเชยการชะลอตัวของการท่องเที่ยวและการขนส่งออนไลน์เป็นอย่างมาก
- เส้นทางสู่การสร้างผลกําไร การให้เงินทุนกับธุรกิจระดับยูนิคอร์นในภาคธุรกิจที่เริ่มอิ่มตัวชะลอตัวลงนับตั้งแต่จุดเฟื่องฟูในปี 2561 ปัจจุบันแพลตฟอร์มต่างๆ หันกลับมาให้ความสําคัญกับธุรกิจหลักของตนเพื่อมุ่งเน้นการสร้างผลกําไรเป็นอันดับแรก
- บุกเบิกธุรกิจใหม่ เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) มีบทบาทสำคัญมากในช่วงของการระบาด โดยมีอัตราการนำไปใช้ (Adoption Rate) ที่โดดเด่น
- มองบวกอย่างรอบคอบ นักลงทุนตัดสินใจลงทุนอย่างรอบคอบในการซื้อขายที่น้อยลงแต่ด้วยมูลค่า (valuation) ที่น่าดึงดูดมากขึ้น โดยคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว
- ก้าวต่อไป จากผลการวิจัยในปีนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจอินเทอร์เน็ตเติบโตมาสู่จุดที่แข็งแร็งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้นการพัฒนาข้อจำกัดสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อจํากัดด้านบุคลากรที่มีความสามารถ