เศรษฐกิจดิจิทัลไทยยังใหญ่และโตเร็วเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดมูลค่าสินค้ารวม (GMV) แตะ 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 ด้านความนิยมของวิดีโอคอมเมิร์ซที่เพิ่มขึ้น ช่วยผลักดันการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ การช้อปปิ้งแบบเรียลไทม์และคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์โดยครีเอเตอร์ ได้ปรับเปลี่ยนวิธีที่ผู้คนค้นพบและซื้อผลิตภัณฑ์
รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับล่าสุด (e-Conomy SEA 2024 Report) ที่จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะมีมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value หรือ GMV) 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 โดยยังคงมีขนาดใหญ่และเติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภาคธุรกิจดิจิทัลมีแนวโน้มเติบโตในเชิงบวก
อีคอมเมิร์ซยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย โดยคาดว่าจะโตขึ้น 19% และมีมูลค่าสินค้ารวม 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่มีส่วนสำคัญในการเติบโตนี้ โดยยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมและเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น วิดีโอคอมเมิร์ซ เพื่อยกระดับประสบการณ์การช็อปปิ้งออนไลน์ ซึ่งประสบการณ์การช็อปปิ้งแบบอินเทอร์แอคทีฟและคอนเทนต์วิดีโอที่น่าติดตามช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคและกระตุ้นยอดขายออนไลน์ได้เป็นอย่างดี
การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์คาดว่าจะมีมูลค่าสินค้ารวมกันกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โตขึ้น 6% จากปีที่ผ่านมา การขนส่งกลับมาฟื้นตัวและอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยว บริการส่งอาหารออนไลน์ยังคงเป็นภาคส่วนที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะในเรื่องของการทำกำไร เนื่องจากในประเทศไทยมีผู้ให้บริการด้านอาหารและเครื่องดื่มจำนวนมาก
การท่องเที่ยวออนไลน์เป็นภาคธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในไทย โดยคาดว่ามูลค่าสินค้ารวมจะแตะ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 หรือโตขึ้น 32% จากปี 2566 และมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคฯ นอกจากนี้ มาตรการใหม่ในการตรวจวีซ่า ซึ่งรวมถึงมาตรการยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจาก 93 ประเทศ (เพิ่มขึ้นจากเดิม 57 ประเทศ)
โครงการวีซ่าสำหรับกลุ่มบุคคลที่สามารถทำงานจากทุกที่บนโลก (Digital Nomad) และโครงการขอวีซ่าที่ผู้ถือพาสปอร์ตสามารถขอได้ ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองในประเทศ (Visa on Arrival หรือ VOA) ยังช่วยส่งเสริมให้มีการเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นด้วย โดย 45% ของการใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวในไทยมาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศของนักท่องเที่ยวชาวไทยพุ่งสูงขึ้นถึง 270% นับตั้งแต่ปี 2563 โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยเกือบ 70% ใช้จ่ายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
สื่อออนไลน์ ซึ่งได้แก่ โฆษณา วิดีโอออนดีมานด์ เพลงออนดีมานด์ และเกม เติบโตอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 7% โดยคาดว่ามูลค่าสินค้ารวมจะแตะ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ ภาคธุรกิจนี้ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง โดยได้รับแรงหนุนจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของดิจิทัลคอนเทนต์ เกม และบริการสตรีมมิงต่างๆ
บริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital Financial Services หรือ DFS) เติบโตอย่างแข็งแกร่ง การชำระเงินดิจิทัลโตขึ้น 5% ในปี 2567 และคาดว่าจะมีมูลค่าธุรกรรมรวม (Gross Transaction Value หรือ GTV) สูงถึง 1.41 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลคาดว่าจะมียอดคงค้างสินเชื่อ (Loan Book Balance) สูงถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 คิดเป็นอัตราการเติบโต 28% ซึ่งเติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลและความมั่งคั่งทางดิจิทัลจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2573 นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีการชำระเงินดิจิทัลมากขึ้นผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)
AI ขับเคลื่อนภูมิทัศน์ดิจิทัลของประเทศไทย
ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) กำลังพลิกโฉมภูมิทัศน์ดิจิทัลของประเทศไทย กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีความสนใจและความต้องการด้าน AI สูงที่สุด โดยอุตสาหกรรมหลักที่มีความสนใจในการค้นหาเกี่ยวกับ AI ได้แก่ การศึกษา เกม และการตลาด นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความต้องการแอปบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มีฟีเจอร์ AI ในการทำสิ่งต่างๆ เช่น การสร้างคอนเทนต์ เอฟเฟกต์ภาพถ่าย และการตัดต่อวิดีโอด้วย
ในขณะเดียวกัน ธุรกิจต่างๆ ก็กำลังใช้ประโยชน์จาก AI สำหรับการโฆษณาแบบกำหนดเป้าหมาย การสร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้าแบบเฉพาะบุคคล และการสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่แก่ลูกค้า AI กลายเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจ รวมถึงการยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า และการส่งเสริมนวัตกรรม
ในส่วนของการลงทุนก็เพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ โดยในครึ่งแรกของปี 2567 การลงทุนเพื่อสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ความจุ (Capacity) ของศูนย์ข้อมูลที่วางแผนไว้เพิ่มขึ้น 550% โดยเติบโตมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การลงทุนจากภาคเอกชนในประเทศไทย
การลงทุนจากภาคเอกชนในประเทศไทยกลับมาฟื้นตัว โดยในครึ่งแรกของปี 2567 มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง 92% ของจำนวนนี้เป็นการลงทุนในบริการด้านการเงินดิจิทัล สำหรับปีที่ผ่านมา รายงานได้ระบุปัจจัย 4 ประการเพื่อช่วยดึงดูดการลงทุน ได้แก่ การประเมินมูลค่าในการเข้าลงทุนที่สมจริง โมเดลการสร้างรายได้ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง แนวทางในการทำกำไรที่ชัดเจน และทางออกสำหรับธุรกิจที่ทำได้จริง โดย 3 ปัจจัยแรกประสบความสำเร็จแล้ว แต่ธุรกิจยังต้องพิสูจน์ให้นักลงทุนเห็นว่ามีแผนทางออกสำหรับธุรกิจ เนื่องจากตลาดทุนยังคงมีความท้าทาย
ความไว้วางใจในระบบดิจิทัล (Digital trust) หนึ่งในเสาหลักสำคัญของเศรษฐกิจไทย
ความไว้วางใจในระบบดิจิทัล (Digital Trust) และการปลดล็อกศักยภาพของ AI รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล จะช่วยให้เศรษฐกิจดิจิทัลไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์ที่อาชญากรรมทางไซเบอร์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ผู้บริโภคไทยมองหาฟีเจอร์การรักษาความปลอดภัยที่เชื่อถือได้ เช่น การเข้ารหัส (Encryption) และการตรวจสอบสิทธิ์แบบ 2 ปัจจัย (Two-Factor Authentication หรือ 2FA) ด้านแพลตฟอร์มต่างๆ ก็ได้นำการตรวจจับกลโกงที่ทำงานด้วยระบบ AI และมาตรการการปฏิบัติตามข้อกำหนดมาใช้กันมากขึ้นเพื่อสร้างความไว้วางใจ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและโปร่งใสจะช่วยส่งเสริมการใช้บริการชำระเงินดิจิทัลซึ่งเป็นที่นิยมในไทย ตลอดจนการเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทยได้ : https://services.google.com/fh/files/misc/thailand_e_conomy_sea_2024_report.pdf