Site icon Thumbsup

Google ลุยเก็บข้อมูลการซื้อหน้าร้านเพิ่มรายได้ Mobile Ads

BN-IN798_Googad_J_20150521113023

การที่ผู้บริโภคอย่างเรายกสมาร์ทโฟนขึ้นมาเสิร์ชหาข้อมูลสินค้าจากหน้าร้านกำลังจะเป็นช่องทางให้ Google มีธุรกิจ Mobile Ads ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ล่าสุดเจ้าพ่อเสิร์ชเอนจิ้นระบุว่าเทคโนโลยีและโปรเจ็กต์เก็บข้อมูลใหม่ของบริษัทจะทำให้นักการตลาดสามารถลงโฆษณากับ Google ได้อย่างเข้าถึงผู้บริโภคยิ่งกว่าเดิม

Google เปิดเผยเรื่องนี้ในรายงานถึงลูกค้าที่เป็นผู้ค้าปลีกหลายร้อยรายในสหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย ในรายงานระบุว่าเทคโนโลยีใหม่ของ Google กำลังจะเชื่อมโลกของการลงโฆษณาบนอุปกรณ์พกพา เข้ากับวงจรการซื้อขายที่หน้าร้านขายปลีกได้ดีกว่าเดิม ด้วยการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างโฆษณาที่ผู้บริโภคเห็นบนสมาร์ทโฟนของตัวเอง กับสิ่งที่ผู้บริโภคควักกระเป๋าซื้อในร้านค้า

ผู้บริโภคจะเห็นโฆษณาบนสมาร์ทโฟนของตัวเองก็ต่อเมื่อมีการเสิร์ชหาข้อมูล สิ่งที่ Google ต้องการสื่อคือโฆษณา Mobile search ads เหล่านี้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อในร้านค้าหรือ in-store purchase สูงมาก ดังนั้น Google จึงจับมือกับบริษัทวิจัยตลาดอย่าง Acxiom และ Datalogix ก่อนจะเชื่อมข้อมูลจากมหาสมุทรอุปกรณ์พกพาที่ Google เก็บสะสมไว้แบบไม่ระบุชื่อผู้ใช้ แล้ววิเคราะห์จนทำให้ทราบว่าผู้บริโภคกี่รายที่ซื้อสินค้าที่คลิกชมโฆษณาบนสมาร์ทโฟนของตัวเอง

ข้อมูลที่ Google นำมาวิเคราะห์นั้นมีทั้งพิกัดสถานที่ที่ใช้งานอุปกรณ์ออนไลน์ อีเมลแอดเดรส และข้อมูลการซื้อสินค้า จุดนี้รายงานระบุว่า Google ประเดิมทดลองกับกลุ่มผู้ค้าปลีกกลุ่มเล็กซึ่งมีห้าง Target เป็นหนึ่งในนั้น ทั้ง Google และ Target ลงมือแบ่งปันข้อมูลกันจนทำให้ทราบว่า 1 ใน 3 ของโฆษณาที่ Target ลงแบบ mobile search ads ไว้กับ Google ทำให้ผู้บริโภคเดินทางมาที่ร้าน Target ช่วงเทศกาลหยุดยาวปลายปี 2014 จริง

Kristi Argyilan รองประธานอาวุโสของ Target ระบุว่าข้อมูลจาก Google สะท้อนถึงการใช้จ่ายของชาวออนไลน์ที่คลิกดูโฆษณา mobile search ads ซึงสูงกว่าผู้ที่คลิกชมโฆษณาบนคอมพิวเตอร์ส่วนตัวหรือ desktop search ads ชัดเจน

ความจริงข้อนี้อาจทำให้ Google สามารถจูงใจให้นักการตลาดหันมาเทเงินลงโฆษณา mobile ads มากขึ้นในอนาคต ถือเป็นมิติใหม่ของการต่อยอดธุรกิจที่แปลกไม่น้อย เพราะข้อมูลการซื้อในร้านแบบออฟไลน์กลับสามารถต่อยอดธุรกิจ Mobile Ads ได้แบบคาดไม่ถึง

ที่มา : WSJ