Google ประกาศโครงการสร้างสายเคเบิลใต้ทะเลที่มีชื่อว่า FASTER ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำด้านเทเลคอมหลายๆ แห่งในเอเชีย ประกอบด้วย NEC, KDDI, China Telecom Global, SingTel, China Mobile International และ Global Transit
เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จ จะทำให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดอยู่ที่ 60 terabytes ต่อวินาที
Urs Hölzle รองประธานอาวุโสด้าน Technical Infrastructure ของ Google พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ใน Google+ ของเขาว่า โครงการ FASTER จะเชื่อมต่อระหว่างเมืองสำคัญๆ ทางชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เข้ากับพื้นที่ชายฝั่งของญี่ปุ่น ซึ่งมันจะทำให้อินเทอร์เน็ตเร็วขึ้น ดีขึ้น และมีความเสถียรมากขึ้นสำหรับผู้ใช้งานในเอเชีย
โครงการนี้ใช้เงินลงทุนมากถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 9,000 ล้านบาท และคาดว่าจะพร้อมให้บริการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2016 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยจะเชื่อมโยงตั้งแต่ Seattle, Portland, Los Angeles และ San Francisco ไปยังเมือง Shima และ Chikura ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น
แผนการลงทุนของ Google เพื่อเข้าถึงเอเชียในครั้งนี้ ถือว่าเป็นไปตามกระแสในระดับสากลที่มองเห็นแนวโน้มได้อย่างชัดเจนว่าเอเชียมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมากที่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม แผนการนี้ก็ใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะแผลเก่าระหว่างจีนกับ Google ก็ยังคงทิ้งร่องรอยไว้บ้าง เนื่องจากจีนมักจะบล็อกการให้บริการของ Google อยู่เสมอเพื่อควบคุมการไหลของข้อมูลข่าวสารภายในประเทศ ล่าสุดก็คือเหตุการณ์รำลึกเทียนอันเหมินเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ผู้ใช้งานจำนวนมากไม่สามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลและใช้อีเมลของ Google ได้
ถึงแม้ว่าหนึ่งเดือนถัดมานับจากการบล็อกครั้งล่าสุดนั้น ผู้คนในจีนจะกลับมาใช้บริการจาก Google ได้อีกครั้ง แต่การแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ และก็แน่นอนว่าแผนการเข้าถึงคนในภูมิภาคของ Google ครั้งนี้ย่อมต้องถูกจับตามองจากรัฐบาลจีนมากเป็นพิเศษ แม้จะยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าสายเคเบิล FASTER นี้จะส่งผลต่อผู้ใช้งาน Google ในจีนอย่างไรบ้าง แต่หากจะพูดถึงผู้ใช้งานในระดับองค์กรแล้ว การเชื่อมต่อครั้งนี้น่าจะทำให้เกิดผลประโยชน์ในระยะยาว
Woohyong Choi ผู้รับหน้าที่เป็น Chairman ของคณะกรรมการที่ดูแลโครงการนี้ กล่าวว่า “FASTER เป็นโครงการลงทุนในสายเคเบิลที่มีศักยภาพที่สุดที่เคยมีในเส้นทางสาย Trans – Pacific ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยาวที่สุดในโลก และมันก็จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในระดับสากล”
ที่มา : Mashable