คงยังจำกันได้กับข่าวที่ Eric Schmidt ออกมาเผย 3 วิสัยทัศน์และทิศทางที่ Google จะให้ความสำคัญต่อจากนี้ ซึ่งจะเน้นไปที่การสื่อสารโทรคมนาคมและโทรศัพท์มือถือเป็นหลักอันได้แก่
- การโฟกัสไปที่การพัฒนาโครงข่ายความเร็วสูง LTE หรือที่มักเรียกกันว่า 4G
- การผลักดันระบบ Mobile Money ที่จะเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์มือถือให้สามารถทำธุรกรรมการเงินได้
- การผลักดันการผลิตสมาร์ทโฟนราคาย่อมเยาแม้แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนาก็มีโอกาสที่จะได้ใช้หน้าจอสัมผัสและสามารถเข้าถึงเว็บฯได้
แม้ Eric Schmidt จะไม่ได้กล่าวถึงในรายละเอียดอะไรมากนัก แต่ข่าวต่างๆ ที่เคยนำเสนอก็เป็นตัวสนับสนุนทิศทางดังกล่าวค่อนข้างชัดเจน เลยขอรวบรวมข่าวคราวและอะไรน่าจะเป็นประเด็นที่ควรจับตามองต่อไปมาให้อ่านกัน
การก้าวสู่ยุคโครงข่ายความเร็วสูง LTE (4G)
หลังจากที่ทาง ITU ได้ออกมารองรับเทคโนโลยี LTE ให้เป็นหนึ่งในมาตรฐานสู่ยุคการสื่อสาร 4G อย่างเป็นทางการ ในขณะเดียวกันผู้ให้บริการชั้นนำต่างๆ ทั่วโลกก็ทยอยเปิดตัวและในบางประเทศก็กำลังอยู่ในขั้นทดสอบ สำหรับผู้ให้บริการในสหรัฐฯ อย่าง Verizon ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา และมีอุปกรณ์อย่าง USB modem อย่าง LG VL600 และ Pantech UML290 วางขาย และอีกไม่นานจะได้เห็นเครื่อง 4G LTE สมาร์ทโฟนจากค่าย HTC อย่าง ThunderBolt ในขณะที่ AT&T ก็กำลังเตรียมเปิดตัวในอีกไม่นานพร้อมอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการณ์ android อย่าง HTC Inspire, ?Motorola ATRIX, Samsung Infuse เป็นต้น
จากการที่ได้นำเสนอข่าวมาก่อนหน้านี้ว่า Google บริษัทที่ประสบความสำเร็จในโลกออนไลน์และไม่ได้มีพื้นฐานโดยตรงมาจากสายโทรคมนาคม กำลังสนใจการเปิดประมูลสิทธิบัตรกว่า 4,000 ชิ้นของ Nortel แม้ทาง Google ไม่ได้ออกมาเปิดเผยในรายละเอียดแต่ก็เชื่อว่าถ้า Google สามารถชนะประมูลได้ ข้อมูลและเทคโนโลยีเหล่านั้นจะมาช่วยเพิ่มความสามารถให้กับการพัฒนา Mobile Software ของตน แต่สิ่งที่น่าสังเกตตามมาคือ เดิมทีที่เราจะเห็น Google มุ่งพัฒนาด้านฝั่งลูกข่าย (Client) ไม่รู้ว่างานนี้เราจะได้เห็นการจับมือกับใครเพื่อพัฒนาต่อยอดด้านฝั่งโครงข่ายออกมาหรือไม่อย่างไร
อีกเหตุผลที่เชื่อกันว่า Google สนใจการเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ เพราะตนเองยังมีสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้น้อยมาก ถ้าสามารถครอบครองได้และไม่ตกไปยังมือคู่แข่งก็เปรียบเสมือนเกราะป้องกันตัวไม่ให้โดยฟ้องร้องเรื่องการลอกสิทธิบัตรที่มักจะพบเห็นกันประจำในเวทีโลก อย่างเช่น กรณีพิพาทระหว่าง Apple และ Nokia (อย่าลืมว่าท่าทาง Apple ก็ยื่นประมูลด้วยเช่นกัน :)) งานนี้นอกจากต้องติดตามว่าใครจะได้สิทธิบัตรดังกล่าวไปแล้วคงยังต้องดูอีกว่า Google จะมีแผนจับมือร่วมกับใครหรือเข้าซื้ออะไรเพิ่มเติม เพราะข่าวคราวที่สหรัฐฯ ช่างไปเร็วจริงๆ
Mobile Money และขบวนของบริการต่างๆ กับเทคโนโลยี NFC
iSuppli มีการคาดการณ์กันว่าในปี 2014 จะมีเครื่องโทรศัพท์มือถือที่รองรับ NFC กว่า 220.1 ล้านเครื่องทั่วโลก แม้ทุกวันนี้การใช้งานดังกล่าวจะยังไม่ถึงจุดที่เรียกว่า “Critical Mass” คือเป็นที่แพร่หลายทั่วไป (ยกเว้นที่ญี่ปุ่น) เพราะนอกจากขึ้นกับเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์มือถือที่ต้องรองรับแล้ว ยังต้องมี Infrastructure และ Ecosystem ที่ต้องอาศัยแรงผลักดันจากหลายภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตามที่สหรัฐฯ ก็เริ่มจะเห็นความเคลื่อนไหวของผู้เล่นรายใหญ่แล้วอย่าง Verizon Wireless, AT&T Mobility และ T-Mobile USA จับมือร่วมกันในการสร้างระบบ Mobile Payment System ชื่อว่า Isis ซึ่งพร้อมเปิดตัวในปี 2012 และตรงกับการคาดการณ์ของ iSuppli ว่าจะเป็นปีแห่งจุดเปลี่ยนของ NFC
ในฟากของ Google เราได้เริ่มเห็นการเปิดตัวเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์มือถือที่ผนวกเอาเทคโนโลยี NFC เข้าไปอย่าง Nexus S และระบบปฏิบัติการณ์ android Gingerbread ก็ผนวกเอาบางความสามารถของ NFC เข้าไปอย่าง Tag Reading ในขณะที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่ใช้ android OS อย่าง Motorola , Samsung, HTC ดูเหมือนจะเตรียมพร้อมกับเทคโนโลยีดังกล่าวกันแล้ว
แต่ท่าทาง Google ไม่ได้คาดหวังเพียงแค่นี้ เพราะเบื้องหลังถ้าใครได้ติดตามข่าวคราวเมื่อปีก่อนจะทราบว่า Google เข้าซื้อกิจการ Zetawire บริษัทที่มี Core-business ในการพัฒนา Mobile Payment System อาทิเช่น? Mobile Banking, Advertising, Identity Management, Credit Card และ Mobile Coupon (มาเป็นขบวน) ถือเป็น Jigsaw ตัวสำคัญที่ทาง Google จะเอาไปสร้างบริการใหม่ๆ (แค่ยังแอบสงสัยว่ามีจุดไหนที่จะชนกับโครงการ Isis บ้างหรือเปล่ามากกว่า) ด้วย Platform นี้เราอาจจะได้เห็น lifestyle ใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่างเช่น เราสามารถใช้โทรศัพท์มือถือในการจ่ายเงินที่ร้านค้าแล้วหักเงินจาก Bank Account หรือ Credit Card ได้, จะ Interact กับ Poster ดาวน์โหลด coupon, ดูรีวิวสินค้าและภาพยนตร์ ฯลฯ ฝันดังกล่าวอาจไม่ไกลเกินจริงเพราะปัจจุบันมีผู้ใช้เทคโนโลยีของ Google มากมาย และทุกๆ วันก็มีผู้ใช้ android เกิดขึ้นวันละ 300,000 รายแล้ว แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า Apple ก็เตรียมความพร้อมด้านนี้ไว้ด้วย คราวนี้คงต้องดูกันต่อว่าใครจะกินส่วนแบ่งการตลาดด้านนี้มากที่สุด แต่สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาก็คงต้องร้องเพลงรอกันไปก่อน?.
ทั่วทุกมุมโลกก็สามารถใช้สมาร์ทโฟนได้
การที่ระบบปฏิบัติการณ์ android เปิดให้ผู้ผลิตหลายรายสามารถนำไปใช้ จึงมีบริษัทท้องถิ่นของประเทศต่างๆ ขายเครื่องสมาร์ทโฟนที่อาจผลิตจากประเทศจีนและทำ Branding ใหม่ในราคาที่ไม่แพง ซึ่งตัวอย่างก็เริ่มมีให้เห็นตั้งแต่ปีก่อน ด้วยราคาประมาณ 5,000-6,000 บาทก็สามารถซื้อสมาร์ทโฟน android ได้ ดีไม่ดีอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะถูกกว่านี้อีก แต่ส่วนประเด็นที่จะสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต (ในแต่ละประเทศที่กำลังพัฒนา) เพื่อเล่นบริการต่างๆได้สะดวกหรือไม่นั้น อันนี้ Google คงไม่น่าจะใช่ผู้ที่สามารถออกมาตอบแทนแน่นอน….