นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ผู้ช่วยเลขานุการ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. เปิดเผยหลังการประชุม ศบศ. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า
ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนส่งเสริมการบริโภค และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไปที่ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอยประมาณ 80,000 ร้านค้า
โดยเบื้องต้นจะเป็นนโยบายแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้ประชาชนที่อายุ 18 ปี ขึ้นไปจำนวน 15 ล้านคน คนละ 3,000 บาท ให้เวลาใช้ 3 เดือน โดยจะกำหนดให้ใช้วันละ 100-250 บาท แต่จะเป็นลักษณะร่วมจ่าย โดยผู้ซื้อจ่าย 50% และ รัฐจ่ายให้ 50% โดยในครั้งนี้จะเปิดให้ซื้อของในร้านค้าสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่น และในห้างสรรพสินค้าได้ โดยรัฐบาลจะใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจในโครงการนี้จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบอีก 2 มาตรการ
1. ให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจสามารถลาพักผ่อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลาเมื่อลงทะเบียนและใช้สิทธิในแพ็คเกจเราเที่ยวด้วยกันเพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา
2. ส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบกํารศึกษาใหม่ 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รวมจำนวน 260,000 อัตรา โดยมีอัตราค่าจ้าง ตามวุฒิการศึกษาดังนี้ ปริญญาตรี เดือนละ 15,000 บาท ปวส. 11,500 บาท ปวช. 9,400 บาท ซึ่งรัฐบาลจะให้การสนับสนุนเงินค่าจ้าง 50% ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยจะมีระยะเวลาการจ้างงานทั้งสิ้น 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63-30 ก.ย.64
ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งหมด 6.8 หมื่นล้านบาท โดยที่ประชุมมีมติให้กระทรวงการคลังจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ภายในเดือน ต.ค.63
อ้างอิง Thairath, กรุงเทพธุรกิจ, efinancial