นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ร่วมกันเปิดเผยถึงมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ขยายวงกว้างขึ้น
สรุปมาตรการดูแลและเยียวยา “ผู้ประกอบการ” ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ประกอบด้วย 7 มาตรการ
1. สินเชื่อรายย่อยไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย
- วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะให้สินเชื่อต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท
- ดอกเบี้ย 3% ใน 2 ปีแรก
2. ยืดการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
- โดยยื่น ภ.ง.ด. 50 จากเดิมภายในเดือนพฤษภาคม 2563 ออกไปเป็นภายใน 31 สิงหาคม 2563 และ ภ.ง.ด. 51 จากเดิมสิงหาคม 2563 เป็นภายใน 30 กันยายน 2563
3. ยืดการเสียภาษีสรรพากร
- VAT ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอื่น ๆ ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และเลื่อนกำหนดเวลายื่นแบบและชำระภาษีทุกประเภท 1 เดือน
4. ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้กิจการสถานบริการออกไป 3 เดือน
- ตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2563 ให้เสียภาษี 15 กรกฎาคม 2563
5. ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน
- โดยเลื่อนการยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 10 วันเป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป (ระยะเวลา 3 เดือน)
6. ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษา Covid-19 เป็นเวลา 6 เดือนถึงช่วงกันยายน 2563
7. ยกเว้นภาษีและลดค่าธรรมเนียมจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้