ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ซอฟต์แวร์กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะการมีซอฟต์แวร์ในภาคธุรกิจ จะทำให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดระยะเวลาการทำงาน ทั้งยังสามารถสร้างเม็ดเงินให้หมุนเวียนในภาคธุรกิจได้อีกด้วย ภาครัฐฯ จะสนับสนุนอย่างไรกับการใช้ซอฟต์แวร์ที่ผลิตโดยคนไทยเพื่อคนไทย…
ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ Digital Economy เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อให้การดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นควรให้กำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ SMEs มีการนำผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านซอฟต์แวร์จากผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการเพิ่มมากขึ้น
การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการใช้ซอฟต์แวร์
สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผู้ประกอบการ SMEs จะได้จากการซื้อหรือจ้างทำซอฟต์แวร์จากผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA เพื่อนำมาใช้ในการประกอบกิจการในรอบระยะเวลาบัญชีที่กำหนด มีสิทธิ์นำค่าใช้จ่ายมาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวได้เต็มจำนวนของมูลค่าซื้อหรือจ้างทำ แต่ต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายสูงสุดที่กระทรวงการคลังร่วมกับ SIPA ในสังกัดของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้กำหนด โดยการซื้อ การจ้างทำ หรือการใช้บริการต้องไม่รวมค่าบำรุงรักษารายปีและค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้ซอฟต์แวร์ โดยสามารถเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้เพียงครั้งเดียว ภายใน 3 รอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลักดัน และเริ่มใช้ในปี 2560
ทั้งนี้ผู้ประกอบการ SMEs ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจะต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท หรือตามที่กรมสรรพากรกำหนด ทั้งนี้ซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชันที่ซื้อ จ้างทำ หรือใช้บริการจะต้องเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการบริหารจัดการ
ตัวอย่างการใช้สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการ SMEs กรณีซื้อหรือจ้างทำซอฟต์แวร์
สมมติผู้ประกอบการ SMEs มีการซื้อหรือจ้างทำซอฟต์แวร์มูลค่า 100,000 บาท ในวันที่ 1 มกราคม 2559 รอบระยะเวลาบัญชีของกิจการคือ 1 มกราคม 2559-31 ธันวาคม 2559 คิดค่าตัดจำหน่าย (ค่าเสื่อมราคา) 10% ต่อปี เท่ากับ 10,000 บาทต่อปี โดยได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่เกิน 200,000 บาท
กรณีทั่วไป (บาท) |
กรณีใช้สิทธิประโยชน์ (บาท) |
|
รายได้ |
3,000,000 |
3,000,000 |
ต้นทุนขาย |
2,400,000 |
2,400,000 |
กำไรขั้นต้น |
600,000 |
600,000 |
ค่าใช้จ่าย ฯลฯ |
300,000 |
300,000 |
ค่าตัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ |
10,000 |
10,000 |
กำไรสุทธิ |
290,000 |
290,000 |
หักค่าใช้จ่ายในการซื้อซอฟต์แวร์ |
– |
100,000 |
กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี |
290,000 |
190,000 |
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ เห็นตัวเลขที่ภาครัฐฯ สนับสนุนให้เราช่วยกันสนับสนุนธุรกิจซอฟต์แวร์ของบ้านเรา คงทำให้หลายๆ ท่านสนใจที่จะมองหาซอฟต์แวร์เหล่านี้มาใช้กันในภาคธุรกิจของท่านแล้วสินะครับ…
บทความนี้เป็น advertorial