ท่านผู้อ่านคงเคยใช้บริการในด้านต่างๆ จาก GRAB แพลตฟอร์มขนส่งทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น เดินทาง อาหาร จัดส่งสินค้า เป็นต้น ซึ่งวันนี้ thumbsup ได้รับเกียรติเข้าร่วมสัมภาษณ์คุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย ที่จะมาเล่าเกี่ยวกับการนำ Big Data ของแกร็บ มาพัฒนาออกเป็นบริการสินเชื่อทางการเงินให้แก่พาร์ทเนอร์ผู้ร่วมขับและธุรกิจในเครือให้มีเงินทุนหมุนเวียน ในยามที่เศษฐกิจไม่ดีนัก
วิสัยทัศน์ตั้งแต่วันแรกของ GRAB ที่ต้องการให้การเดินทางเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และการจัดเก็บข้อมูลที่มากมายของ GRAB ทำให้มีปริมาณข้อมูลในระบบที่เยอะมาก และ GRAB ก็พบว่าปัญหาความฉุกเฉินเรื่องเงินเป็นสิ่งที่พาร์ทเนอร์ทุกด้านของแกร็บต้องการ จึงได้เกิดหน่วยธุรกิจที่ชื่อว่า Grab Financial group ขึ้นมา เพื่อช่วยเสริมด้านการเงินทุนสำรองสำหรับพาร์ทเนอร์ที่กำลังเจอปัญหา
การใช้จ่ายแบบ Casless ภายในอีโคซิสเต็มส์
คุณวรฉัตร เล่าว่า ตั้งแต่เริ่มต้นเก็บข้อมูลด้านการเงิน ทำให้ GRAB พบว่า คนไทยเข้าสู่ยุค Cashless Society กันมากขึ้น ด้วยการใช้จ่ายผ่านวอลเลต (GrabPay Wallet) หรือจ่ายผ่านบัตรเครดิต (Citi Grab) รวมทั้งการช่วยให้พาร์ทเนอร์ร่วมขับและร้านค้าในระบบมีการจ่ายและรับเงินผ่านระบบได้สะดวกขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการเชื่อมโยงบริการและการใช้เงินได้สะดวกขึ้น และทั้งหมดนี้คือคลังข้อมูลในมุมของพาร์ทเนอร์ที่ร่วมงานกับ GRAB จนออกมาเป็นบริการที่รองรับความต้องการของพาร์ทเนอร์ในระบบของเรา
ตั้งแต่ GRAB Financial เปิดให้บริการเพียง 6 เดือน ตั้งแต่วันแรกของการเปิดจนถึงวันนี้ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า โดยมีการขอสินเชื่อผ่านระบบของพาร์ทเนอร์ไปแล้วถึง 20,000 ราย คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 500 ล้านบาท เชื่อว่าในสิ้นปี 2020 จะมีผู้ขอสินเชื่อกว่า 3,000 ล้านบาท ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนได้มากกว่า 100,000 ครัวเรือน
เช็คข้อมูลของผู้ขอสินเชื่อ
ด้วยระบบฐานข้อมูลของ GRAB ทำให้การวิเคราะห์ผลทางข้อมูลมีความชัดเจน โดยนำเรื่องของข้อมูลหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การได้เครดิตสกอร์ลิ่ง พฤติกรรมการขับขี่ ซึ่งเป็นคลังข้อมูลทุกด้านมาวิเคราะห์ผลว่าพาร์ทเนอร์ท่านั้น จะได้รับวงเงินในการปล่อยสินเชื่อเท่าไหร่
โดยเงินสินเชื่อนี้ ผู้ร่วมขับจะได้รับข้อเสนอหากทำงานกับ GRAB มาได้ 3 เดือนและวิเคราะห์แล้วว่ากำลังเจอปัญหาที่ต้องใช้เงิน เมื่อระบบตรวจพบว่าพาร์ทเนอร์รายนั้น มีเครดิตสกอร์ลิ่งสูง ก็สามารถปล่อยเงินกู้ได้แบบไม่ต้องยื่นประวัติ ไม่ต้องใช้เอกสาร ชำระคืนแบบรายวัน และให้วงเงินที่เหมาะสม
“การปล่อยกู้ของเราเป็นแบบ Nano Finance และยังจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มสมาชิกของ GRAB ทำให้ปัญหาหนี้เสียน้อยมาก ไม่เกิน 2% และระบบบริหารจัดการก็เป็นการภายใน จึงไม่ส่งผลกับปัญหาภาพรวม”
สำหรับระบบการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ข้อสินเชื่อด้วยระบบเครดิตสกอร์ลิ่งนั้น คือ จะวิเคราะห์จากพฤติกรรมการขับขี่ ประเภทงานที่รับ ลูกค้ารีวิว จำนวนงานที่รับในแต่ละสัปดาห์ ความสามารถในการชำระหนี้ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทำให้ GRAB มั่นใจมากขึ้นว่าจะปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ขอสินเชื่อมากน้อยแค่ไหน
ปริมาณข้อมูลที่เข้ามาในระบบแต่ละวัน มีจำนวนมหาศาล ทำให้การขอสินเชื่อจะมาจาก Base on Data ทั้งหมด และจะมีทีมงานเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และประเมินความสามารถจากด้านต่างๆ
3 กลุ่มพาร์ทเนอร์ที่จะปล่อยสินเชื่อกลุ่มแรก
สำหรับการปล่อยวงเงินสินเชื่อให้แก่พาร์ทเนอร์นั้น หากให้ GRAB ประเมินคาดว่าจะมีการเติบโตในการปล่อยสินเชื่อนี้จะโตต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5-6 เท่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ส่วนในปีนี้คาดว่าจะโต 6 เท่า (จากปริมาณธุรกรรม) จากที่โตมาได้ 7 เท่าแล้วเพียงครึ่งปีที่ผ่านมา
สำหรับวงเงินที่เอามาปล่อยกู้นั้น GRAB ใช้จากการบริหารจัดการภายในของบริษัทเอง โดยกลุ่มที่จะมีการขอสินเชื่อมากที่สุด น่าจะเป็น สมาร์ทโฟน สินเชื่อเงินสด และสินเชื่อ SMEs ตามลำดับ
การปล่อยสินเชื่อหรือคิดค้นบริการใหม่ๆ จาก Big Data นั้น ถือว่าเป็นการใช้คลังข้อมูลที่มีในมืออย่างเกิดประสิทธิผล เพราะใช้จากฐานข้อมูลเดิม และการสร้างข้อมูลใหม่ มาร่วมวิเคราะห์จนสร้างโอกาสให้แก่คนที่กำลังเดือดร้อน สามารถมีทางออกและใช้ชีวิตต่อไปได้ราบรื่นขึ้น