Site icon Thumbsup

Grab เผยรายได้จากบริการส่งอาหาร เริ่มแซงรายได้จากบริการรถรับส่งแล้ว !! แถมกำไรสูงกว่ามาก

 

แม้ทุกคนจะรู้จัก Grab จากบริการ Ride-hailing แต่ธุรกิจนี้อาจไม่ได้สร้างการเติบโตในระยะยาวได้เท่ากับบริการที่น่าจับตามองอย่าง Food Delivery และบริการทางการเงินที่เติบโตขึ้นกว่า 50% ของสัดส่วนรายได้หลักของบริษัท

ลิม เคล เจย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ สิงคโปร์ เล่าว่า แม้ว่า Grab จะเป็นที่รู้จักจากบริการ Taxi-hailing มานานกว่า 7 ปี มีมูลค่ากว่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หลังจากที่บริษัทได้เพิ่มบริการ Food Delivery และ Payment เข้ามาเสริม ถือว่าเป็นโอกาสในการเติบโตครั้งใหญ่

“เราสร้างตัวมาจากความต้องการใช้งานบริการเรียกรถของลูกค้าเป็นหลัก และได้มองหาโอกาสอีกหลายๆ ด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าอยากกลับเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มของเราบ่อยๆ”

ดังนั้น แกร็บจึงได้เพิ่มบริการส่งอาหารและบริการทางการเงินเข้ามาทำให้บริษัทมีบริการที่หลากหลาย แม้ว่าสัดส่วนรายได้จากการส่งอาหารและบริการทางการเงินยังน้อยกว่าบริการอื่นๆ เมื่อดูจากภาพรวมรายได้ทั้งหมด แต่แกร็บก็ยังมองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้ลูกค้าเข้าใช้บริการแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง และมองเรื่องผลกำไรในอนาคตมากกว่าผลกำไรในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว

โดย Grab เดินตามรอยของ Wechat ที่เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของโมเดล “Super App” ซึ่งแกร็บอยากจะเป็นแบรนด์ที่คนอยากใช้ทุกวัน หรือ “everyday app” จึงต้องมีการเสริมตัวเลือกของบริการที่หลากหลายบนแพลตฟอร์ม แม้ว่าบริการของ Grab จะมีจุดเริ่มต้นคล้ายกับ Gojek ซึ่งเริ่มต้นด้วยบริการเรียกหมอนวดผ่านแพลตฟอร์มก่อนที่จะกลายมาเป็นระบบอำนวยความสะดวกตามความต้องการของผู้ใช้งาน

จากข้อมูลของ China’s Meituan พบว่า เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีอัตราการเข้าใช้งาน Food Delivery สูงมากจนทำกำไรได้ถึง 184.6 ล้านเหรียญสหรัฐหลังหักค่าใช้จ่ายของช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

“สัดส่วนรายได้ของบริการ Food Delivery ดีกว่าบริการเรียกรถมากขึ้นเรื่อยๆ” Lim กล่าว

Grab เดินหน้าธุรกิจอาหารอย่างจริงจังตั้งแต่เข้าไปซื้อกิจการ Uber ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2018 โดยบริษัทเริ่มขยายบริการส่งอาหารใน 6 ประเทศของภูมิภาคนี้ ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม และยังมีแผนขยายไปใน 220 เมือง เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

แม้ว่าในภูมิภาคนี้บริการขนส่งจะมีสัดส่วนการเติบโตที่มากที่สุด รองลงมา คือ ส่งอาหารและบริการทางการเงิน แต่ Grab ยังมีคู่แข่งคนสำคัญอย่าง Gojek ซึ่งแข็งแรงมากในประเทศอินโดนีเซียและเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้

ทั้ง Grab และ Gojek ต่างก็มียังคงสร้างรายได้มากกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ และ Grab ก็มีส่วนแบ่งมากกว่าในบางประเทศ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะสร้างกำไรจากบริการส่งอาหารเป็นหลัก จึงต้องควบคู่ไปกับบริการอื่นๆด้วย เพราะพฤติกรรมของผู้ใช้งานยังติดกับการเข้าใช้งานแพลตฟอร์มที่ทำงานได้หลากหลายและมีให้เลือกมากว่าทำได้เพียงอย่างเดียว

สำหรับบริการส่งอาหารนั้น Grab พยายามตัดขั้นตอนในการทำงานร่วมกับสาขา เมื่อมีการสั่งสินค้า Grab จะจับคู่คนขับที่อยู่ใกล้บริเวณร้านอาหาร ซึ่งจะทำให้อาหารจากร้านอาหาร ถึงมือของผู้รับได้เร็วขึ้นกว่าเดิม

นอกจากบริการขนส่งอาหารแล้ว Grab ยังสร้าง Cloud Kitchen ที่มีการคัดเลือกจากร้านอาหารยอดนิยมในแต่ละเมืองและมีอัตราการสั่งจากลูกค้าจำนวนมากมาไว้ในที่เดียวกัน แนวคิดนี้คล้ายกับ Deliveroo หรือ UberEats ที่ดึงร้านอาหารจากพื้นที่ห่างไกลเข้ามาในเมืองเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าในเมืองและบริเวณโดยรอบได้จำนวนมาก รวมทั้งยังสร้างรูปแบบการแบ่งรายได้ร่วมกันระหว่าง Grab กับเจ้าของร้านอาหาร

โดยภาพของ Cloud Kitchen นั้น จะเป็นการให้ร้านอาหารเข้ามาจองพื้นที่ในการจัดเตรียมสินค้าตามที่ได้รับออเดอร์ ซึ่งร้านอาหารที่อยู่ใน Cloud Kitchen จะต้องใช้บริการอีโคซิสเต็มส์ทั้งหมดของ Grab ไม่ว่าจะเป็น บริการทางการเงินของ Grab Financial บริการคนขับของ Grab Delivery และจ่ายผ่านระบบวอลเลตหรือตัดผ่านบัตรเครดิตบน GrabPay ด้วย

“โอกาสของบริการส่งอาหารสร้างสัดส่วนในการเติบโตได้ดีกว่าบริการเดินทางมากขึ้นเรื่อยๆ หากดูจากภาพรวมของธุรกิจอื่นๆ ชี้ให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่บริการ delivery จะขยายตัวและสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้ดีกว่าบริการเดินทางในอนาคตเสียอีก” Lim กล่าว

ในขณะเดียวกัน Grab ยังปล่อยเงินกู้ให้แก่ร้านค้าที่ต้องการสร้างตัวตนในธุรกิจด้วยการไปร่วมมือกับสถาบันการเงินชื่อดังมากมาย เพื่อช่วยเป็นตัวกลางในการการันตีธุรกิจที่มีความน่าเชื่อถือโดยการแชร์ข้อมูลให้แก่ธนาคารโดยไม่ต้องยื่นเอกสารซ้ำเพื่อลดปัญหาเรื่องเงินทุนของร้านค้ารายย่อยและผู้ร่วมขับบนแพลตฟอร์ม

เช่นเดียวกับบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินรายอื่นๆ ที่มีแผนจะเริ่มต้นบริการทางการเงินของตนเอง ด้วยการหาช่องทางเสริมด้านบริการทางการเงินที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ร้านค้า จากนั้นก็ขยายสู่ประกัน เงินกู้และผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ที่ยื่นผ่านแพลตฟอร์มทั้งสิ้นและไม่ต้องเสียเวลาในการดำเนินเรื่องให้ยุ่งยากหรือเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ Grab ยังได้เปิดตัวบริการ Grabpay Card โดยเปิดให้ใช้จ่ายในร้านค้าต่างๆ ผ่านบัตรเครดิตของ Grab ได้ที่สิงคโปร์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้แบบทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งบริการทางการเงินนี้ จะเปิดให้บริการในฟิลิปปินส์ช่วงไตรมาสแรกและจะทะยอยเปิดตัวในประเทศอื่นๆ ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 ต่อไป

 

ที่มา : South China Morning Post

ภาพประกอบ : งานแถลงข่าวต่างๆ ของ Grab thailand