Grab บริการเรียกรถโดยสารและขนส่ง เพิ่งเปิดตัว GrabPay Wallet (แกร็บ เพย์ วอลเลต) ไปไม่นาน ซึ่งในแง่มุมของธุรกิจก็อาจจะช่วยเรื่องการใช้จ่ายแบบกระเป๋าเงินอัจฉริยะให้มีความสะดวกสบายขึ้น แต่ในมุมของผู้บริโภคย่อมอยากทราบว่าจะนำไปใช้จ่ายอะไรได้บ้าง และเข้ามาช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นอย่างไร วันนี้ thumbsup จะมาเผยรายละเอียดกัน
ที่มาที่ไปของวอลเลต
คนที่ติดตามข่าวเกี่ยวกับกระเป๋าเงินอัจฉริยะหรือวอลเลตของแกร็บ จะทราบมาสักพักแล้วว่า แกร็บพยายามผลักดันเรื่องกระเป๋าเงินนี้มาโดยตลอด สำหรับผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่น โดยจะมีส่วนลด โปรโมชั่นพิเศษ ของแถมต่างๆ เพื่อให้คนเติมเงินเข้าไปในกระเป๋าเงินนี้ และหักยอดเงินเหมือนบัตรเติมเงินในร้านกาแฟ Starbuck ที่ผู้ใช้จ่ายทั่วโลกใช้งานกันอย่างแพร่หลายมาก
ไม่ใช่แค่แกร็บเท่านั้นที่พยายามผลักดันกระเป๋าเงินอัจฉริยะนี้ เพราะเกือบทุกแอพพลิเคชั่นพยายามที่จะกระตุ้นให้คนที่มีและไม่มีบัตรเครดิต เลือกใช้บริการนี้ เพราะนั่นหมายถึงยอดเงินจำนวนมากจะเข้ามาอยู่ในระบบของผู้ให้บริการก่อน และค่อยหักยอดเงินออก การให้บริการแบบนี้จะทำให้ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นมีเงินอยู่ในมือและนำไปใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยหรือค่าใช้บริการให้กับทางพาร์ทเนอร์ ซึ่งถือเป็นข้อดีและยังนำเงินไปหมุนใช้ในด้านอีโคซิสเต็มอื่นๆ ได้ด้วย
แม้ว่าคนไทยบางกลุ่มจะมีบัตรเครดิตใช้จ่ายกันหลายใบ แต่ก็ต้องยอมรับว่า 93% ของการใช้จ่ายภายในประเทศยังคงเป็นเงินสด แม้หลายธนาคารพยายามที่จะจัดโปรโมชั่นกระตุ้นให้คนใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกันมากขึ้น แต่หากเปรียบเทียบเงินเดือนและสิทธิพิเศษที่คนถือบัตรได้รับ เรียกว่ามีการแบ่งชนชั้นกันสูงมาก
โดยคนที่มีฐานเงินเดือน 15,000 บาท จะได้รับสิทธิพิเศษขั้นพื้นฐาน ต่างจากคนที่มีฐานเงินเดือน 150,000 บาทที่คุณจะเป็นอีกระดับ และได้รับการดูแลระดับพรีเมียมจากบัตรเครดิตระดับทั่วไป อีกทั้งคนไทยเริ่มมีค่าครองชีพสูง เงินเหลือในบัญชีน้อยกว่าอัตราที่ธนาคารจะปล่อยบัตร ยิ่งตอกย้ำให้ผู้ถือบัตรเครดิตน้อยลงไปอีก
ดังนั้น โอกาสของผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นที่ต้องการจะกวาดผู้มีฐานรายได้ต่ำกว่า 150,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นฐานหลักของประเทศไทย การเปิดวอลเลต จึงเป็นทางเลือกที่ไม่ว่าใครก็ต้องลงมาทำบริการนี้ แม้กระทั่งภาครัฐที่งัดกลยุทธ์ ชิม ช้อป ใช้ ขึ้นมากระตุ้นพฤติกรรมให้คนอยากใช้จ่ายมากขึ้น และเข้าใจรูปแบบการใช้จ่ายแบบวอลเลตมากขึ้น (ไม่ดราม่าการเมืองกันเนอะ)
ทุกแอพพยายามที่จะเป็น “ซูเปอร์แอพ”
ไม่รู้ว่าความหมายของ “ซูเปอร์แอพ” ที่ทุกบริการแอพพลิเคชั่น พยายามที่จะนำมาครอบแบรนด์ของตนเองนั้น เกิดขึ้นจากจุดไหน จะกลายเป็นแค่คำพูดเท่ๆ (เหมือนคำว่าสตาร์ทอัพ = ขายตรง) หรือเกิดได้จริง ไม่ใช่แค่แนวคิดที่แต่ละคนจะคิดกันมาได้ เพราะการทำให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น “ไม่ง่าย”
ถ้าให้จินตนาการคำว่า “ซูเปอร์แอพ” แล้ว คุณผู้อ่านคิดว่า ใครจะไปถึงฝั่งฝันได้ก่อนกันคะ LINE, GRAB หรือ LAZADA แต่ความตลกอย่างหนึ่งที่คิดได้คือ ทั้ง 3 บริการจะมี KBANK ไปเป็นส่วนร่วมในระบบหลังบ้านทั้งสิ้น
เพียงสัปดาห์เดียว เราได้เห็น LINE BK และ แกร็บเพย์ วอลเล็ต พาวเวอร์ บาย เคแบงก์ ยังไม่นับบริการทางออนไลน์อื่นๆ ที่ KBANK พยายามเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อกลายเป็นผู้ครองฐานลูกค้าประเทศไทยทั้งหมดผ่านไลฟ์สไตล์
ถือว่าเป็นเรื่องดีที่บริการเหล่านี้มีธนาคารใหญ่เข้ามาเป็นส่วนเสริมในการ “อุ้ม” ธุรกิจ ที่อย่างน้อยผู้บริโภคที่จะตัดสินใจใช้ “วอลเลต” ของค่ายใด ก็มั่นใจได้ว่า เงินฝากของฉันยังอยู่ภายใต้บัญชีของ KBANK
กลับมาที่เรื่องของ GRAB ที่พยายามผลักดันตนเองให้เป็น ซูเปอร์แอพ ด้วยการขยายงานบริการจากเรียกรถยนต์โดยสาร เรียกแท็กซี่ ส่งอาหาร ส่งสินค้า ซึ่งตอนนี้ทุกบริการรวมกันก็มีผู้ใช้งานแตะ 120 ล้านครั้ง ในระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา
แน่นอนว่า แกร็บ ยังคงมีความพยายามที่จะต่อยอดบริการไปในด้านการใช้ชีวิตต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อความเป็นออนไลน์และออฟไลน์ไว้ด้วยกัน เพื่อให้ใช้จ่ายได้อย่างไร้รอยต่อมากขึ้น
แกร็บเพย์ จะเกิดได้อย่างไร
จากการให้ข่าวของ คุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บเพย์ ประจำประเทศไทย แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป แต่มีประสบการณ์จากสายการเงินดิจิทัลจากธนาคารดัง (เดิมเคยอยู่ทีม Krungsri มาก่อน) ซึ่งก็มั่นใจว่าจะปั้นบริการนี้ให้เติบโตได้
ด้วยกระแสการตอบรับด้านอีเพย์เม้นท์ ทำให้แกร็บเพย์โตขึ้น 3 เท่า หลังเปิดทดลองให้บริการมาเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา (โปรโมชั่นมาทุกวัน ไม่โตก็แย่แล้วจ้า) ส่งผลให้ แกร็บเพย์ กลายเป็นบริการทางการเงินที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในขณะนี้ ปริมาณธุรกรรมบนแกร็บเกินกว่า 40% เป็นการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด และในอนาคตก็เตรียมต่อยอดร่วมกับพาร์ทเนอร์ในการใช้จ่ายผ่านร้านค้าชั้นนำได้ด้วย ซึ่งมีสินค้าอะไรที่นำแกร็บวอลเลตไปใช้จ่ายได้ มาดูกัน
หน้าร้านที่รองรับบริการแกร็บเพย์ วอลเล็ต:
- ชำระเงินกับร้านค้า (In-store Payment): ผู้ใช้แอปสามารถนำ แกร็บเพย์ วอลเล็ต ไปชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าต่างๆ เช่น Major Cineplex, After You, KOI Thé, Boots, Lawson Station 108, Fuji, Miniso, Sukishi, Kyo Roll En, Seoul Grill และ Sukiya โดยสแกน QR code
ทั้งนี้ บริการของแกร็บไม่ได้จำกัดอยู่แต่การเรียกรถหรือการสั่งอาหารเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงบริการจากพาร์ทเนอร์ร้านค้าหลายประเภทธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบันเทิง ไลฟ์สไตล์ และอื่นๆ อีกมากมาย (ร้านเหล่านี้ยังไม่เคยลอง เดี๋ยวมารีวิวอีกที)
- เติมเงินโทรศัพท์มือถือ (Mobile Topup): ผู้ใช้งานสามารถใช้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือผ่านทางแอปของแกร็บ ทำให้การเชื่อมต่อในยุคดิจิทัลเป็นไปได้อย่างสะดวก โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรโทรคมนาคมต่างๆ
- ดีลบุ๊ก (Dealbook): รวมสินค้า ส่วนลดและสิทธิพิเศษจากพาร์ทเนอร์ร้านค้าของแกร็บในหลากหลายประเภทธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร บันเทิง และท่องเที่ยว เช่น ผู้ใช้งานสามารถซื้อเซ็ตตั๋วชมภาพยนตร์พร้อมป๊อปคอร์นราคาพิเศษจาก Major Cineplex และชานมไข่มุกจาก KOI Thé ได้ในราคาพิเศษ
- แพ็กเกจส่วนลด (Subscription): ผู้ที่ใช้งานแกร็บเป็นประจำสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 50% เมื่อลงทะเบียนเข้าใช้งานกลุ่มบริการต่างๆ ของแกร็บที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และความต้องการที่แตกต่างกันไป แพ็กเกจยอดนิยม ได้แก่ GrabPackage All-access Pass, GrabPackage Ride Pass, GrabPackage Food Pass and GrabPackage GrabExpress Pass
สิทธิประโยชน์สำหรับคนที่เปิดใช้แกร็บเพย์ วอลเลต คือ จะได้รับแกร็บรีวอร์ดส เพิ่มขึ้น 3 เท่าทุกการใช้บริการแกร็บ หรือรับเงินคืนจากร้านค้าสูงสุด 20% เมื่อใช้จ่ายผ่าน QR Code ในร้านค้าที่ร่วมรายการ
ส่วนคุณผู้อ่านท่านใดที่ได้ทดลองใช้บริการแกร็บเพย์วอลเลตแล้ว รู้สึกชอบหรือไม่อย่างไร ลองร่วมวิเคราะห์กันได้ ในมุมของผู้เขียนเอง รู้สึกว่าทุกวันนี้ก็แทบไม่ได้จับเงินสดแล้ว (ไม่ใช่รูดแต่บัตรเครดิตนะ คือไม่มีเงินใช้แล้วน่ะ ฮือออออ) การเข้ามาของบริการวอลเลตก็น่าจะช่วยสร้างเทรนด์ Cashless Society ให้เกิดขึ้นในไทยได้เร็วขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้เวลาเปลี่ยนพฤติกรรมถึง 5 ปี ของไทยน่าจะเร็วกว่านั้น
เรียกว่าเป็นการเติบโตด้านพฤติกรรมทางดิจิทัลได้อย่างดีและน่าสนใจทีเดียวนะคะ