Site icon Thumbsup

เปิดวิสัยทัศน์ “ธนา โพธิกำจร” CEO กสิกรไลน์ ที่จะมาเสริมบริการทางการเงินให้ LINE เป็นซูเปอร์แอพ

ธนา โพธิกำจร CEO บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด

นอกจากข่าวการย้ายค่ายจาก SCB มาสู่ร่ม KBANK ของธนา โพธิกำจร อาจไม่ใหญ่เท่าแผนดิสรัพวงการธนาคารที่เขาจะปั้นให้เกิดขึ้นภายใต้ร่มธนาคารกสิกรไทย ในชื่อ LINE BK ที่จะเข้ามาเอาใจสายฟรีแลนซ์ คนไม่มีงานประจำ สามารถมีเงินใช้ต่อเนื่องแบบไม่อดตายตอนสิ้นเดือนกันได้

กสิกรวิชั่นและไลน์ไฟแนนเชียล ถือหุ้นคนละครึ่ง

เพื่อเติมเต็มบริการทางการเงินที่มีอยู่เดิม LINE จึงมีวิสัยทัศน์ในการเป็นส่วนหนึ่งของทุกการใช้งานออนไลน์ โดยสำนักงานใหญ่ของ LINE จะเลือกเพียง 4 ประเทศ ในการเปิดบริการไฟแนนเชียล นั่นคือ ประเทศไทย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่นและไต้หวัน ในการปั้นบริการทางการเงินเข้ามาตอบโจทย์ทุกการใช้จ่ายของคนที่ยังไม่มีบัตรเครดิต โดยบริการทุกอย่างจะอยู่ภายใต้ร่มธนาคารกสิกรไทย เพราะ LINE BK ไม่ได้ขอใบอนุญาติในการตั้งธนาคาร

โครงสร้างผู้ถือหุ้น KASIKORN LINE

เป้าหมายของ LINE BK คือ อยากปฏิวัติการเงินของลูกค้า เน้นเรื่องประสบการณ์ให้ทำทุกอย่าง ทุกบริการเข้าถึงง่าย เหมือนการรับส่งข้อมูล ผ่าน LINE เข้าลูกค้าได้กว้างขึ้น ต้องง่าย เข้าถึงได้ ไว้ใจได้ ทั้งเรื่องของนวัตกรรมและเชื่อมโยงกับบริการต่างๆ ของ LINE ได้

เพื่อทำเรื่องของการเงินให้เชื่อมกับโซเชียลแบงกิ้งและบริการการเงินสามารถ Supportive ลูกค้าได้ทุกกลุ่ม รวมทั้งต้องช่วยลูกค้าในเรื่องของการออม การลงทุนและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดย LINE BK ตั้งเป้าที่จะเป็น Banking in your hand (ธนาคารในมือคุณ) เพื่อให้โลกการเงินอยู่ในมือคุณ ที่สามารถเข้าถึงและวางแผนได้เองทั้งหมด

 

คนไทยใช้มือถือเยอะ โอกาสยิ่งดี

ด้วยกลยุทธ์ของทาง KBANK ที่ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ด้านไลฟ์สไตล์เกือบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การเงิน การใช้จ่าย เพื่อรองรับการใช้จ่ายทุกช่องทางของลูกค้า ทำให้การลงทุนใน LINE BK เป็นอีกแผนของกสิกรที่จะมุ่งตอบโจทย์เรื่องการปล่อยเงินกู้และเสริมบริการทางการเงินด้านอื่นๆ

“ประเทศไทยถือว่าเป็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลกคืออยู่ที่วันละ 10.5 ชั่วโมง ขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ 6.7 ชั่วโมง ทำให้ในช่วง 2 ปีหลังคนไทยใช้งานโมบายแบงกิ้ง รวมทั้งใช้บริการของธนาคารผ่านมือถือมากถึง 74% หากเทียบสัดส่วนมูลค่าการใช้จ่ายของโมบายแบงกิ้งมากถึง 2,718 ล้านบาท ในขณะที่มีมูลค่าของการใช้จ่ายผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งเพียง 326 ล้านบาทเท่านั้น”

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนที่มีบัญชีธนาคารและใช้บริการต่างๆ ของธนาคารเพียง 37% ยังเหลือคนที่ใช้งานธนาคารเพียงบางส่วนอยู่ที่ 45% และไม่ใช้บริการใดๆ ของธนาคารเลยอยู่ที่ 18% หาก LINE BK สามารถเข้าถึงกลุ่มคนทั้งสามประเภทนี้ได้ก็จะสร้างโอกาสทางรายได้ใหม่ๆ อีกมาก

“ด้วยอาชีพของคนรุ่นใหม่ไม่ได้ทำงานประจำ พวกเขาไม่มี Statement แต่มีรายได้เข้ามาเป็นเงินสด การปล่อยกู้หรือให้บัตรเครดิตยุคนี้จึงเป็นการวางเงินประกันวงเงิน แต่ทาง LINE BK จะพยายามออกแบบบริการใหม่ๆ โดยอ้างอิงจากพฤติกรรมการใช้จ่าย โอกาสทางรายได้และการประกันวงเงิน เพื่อให้บริการทางการเงินเป็นเรื่องง่ายขึ้น”

สิ่งที่ LINE BK พยายามจะทำคือการสร้างความแตกต่างในด้านบริการและใช้งานได้ง่าย เพราะผู้ใช้งานส่วนใหญ่ยังใช้ LINE ในเรื่องของการสื่อสาร อ่านข้อมูลข่าวสาร และวอลเลตในการใช้จ่ายร้านค้าพาร์ทเนอร์ของ Rabbit LINE PAY ซึ่งหลังจากนี้บริการต่างๆ ที่ผู้ใช้งานเข้าถึงจะกลายเป็น Data ที่ LINE BK เอามาวิเคราะห์หาความสามารถในการผ่อนชำระและรูปแบบในการปล่อยเงินกู้ให้สะดวกเพียงปลายนิ้ว

“รูปแบบของสินเชื่อที่เราให้บริการยังคงเป็นสินเชื่อแบบนาโน คือให้วงเงินได้ไม่เกิน 1.5 เท่าของเงินเดือน ดังนั้นคนที่ไม่มี Statement ก็ต้องดูจากความสามารถทางการใช้จ่ายและเงินที่เข้าออกบัญชี เพราะลูกค้าของ LINE มีกว่า 44 ล้านคน มีคนถือบัตรเครดิตเพียง 8-10 ล้านคน ขณะที่ลูกค้าของกสิกรไทยอยู่ที่ 16.9 ล้านคน ซึ่งเราจะวิเคราะห์ข้อมูลจากรอบด้านในการปล่อยกู้”

นอกจากนี้ การให้บริการของ LINE BK จะไม่ทับซ้อนกับ Rabbit LINE PAY ที่เป็นบริการใช้จ่ายผ่านวอลเลตที่ผูกบัตรเครดิตได้ แม้จะใช้เกตเวย์ของธนาคารกรุงเทพอยู่ แต่ก็มีเกตเวย์ของธนาคารกสิกรเข้ามาช่วยเสริมการใช้จ่ายให้มากขึ้น การทำงานจึงไม่ทับซ้อนกันและทีมบริหารก็เป็นคนละทีม

ขณะที่ทีม LINE BK ยังเป็นการผสมผสาน 3 ทีม คือ KBTG, LINE KOREA และ LINE Thailand รวมกันประมาณ 30 คน และทุกบริการจะเปิดให้เห็นในปีหน้า โดยจะปรากฏเป็นสัญลักษณ์ในเมนูหลักแต่ยังอยู่ในช่วงดีไซน์ว่าเป็นตำแหน่งไหนถึงจะเหมาะสม