Site icon Thumbsup

มองกระแส “ดราม่า” เสื้อกีฬาโอลิมปิก ที่จะมาเป็นสีสันให้ธุรกิจมีโอกาสรอดได้อีกครั้ง

ธุรกิจเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์กีฬานั้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีต้นทุนไม่สูง สามารถดำเนินการได้ง่าย ยิ่งในช่วงที่มีการแข่งขันยิ่งจุดกระแสได้ดี แม้ว่าปี 2564 นี้ จะมีการแข่งขันโอลิมปิกที่แบรนด์ธุรกิจไม่ค่อยสร้างหรือเกาะกระแสมากนัก

ด้วยปัจจัยต่อต้านการแข่งขันของประชากรชาวญี่ปุ่นเอง รวมทั้งสภาวะการติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังแพร่กระจายอยู่ ทำให้นักการตลาดมองว่าคนอาจจะไม่อยากใช้จ่าย แต่สำหรับในบางครอบครัวที่ต้องทำงานที่บ้านหรือเวิร์คฟอร์มโฮม ก็ยังต้องการคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่มากกว่าแค่ข่าว หรือละครที่เผยแพร่อยู่เป็นประจำ

‘ชุดแข่งนักกีฬา’ จุดกระแสโอลิมปิก

แม้คนที่ไม่ได้เฝ้าหน้าจอหรือติดตามกีฬาผ่าน AIS PLAY ก็ย่อมเข้าถึงคอนเทนต์การแข่งขันกีฬาผ่านสื่อโซเชียลมีเดียได้ แน่นอนเรื่องของการแต่งกายของนักกีฬา กลายมาเป็นหนึ่งในเทรนด์ร้อน ที่จุดกระแสให้แกรนด์สปอร์ต จำเป็นต้องยินยอมให้ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยเปลี่ยนไปใส่เสื้อยี่ห้ออื่นลงแข่งได้

หลายภาพในการแข่งขันที่จุดประเด็นให้นักกีฬาได้เสื้อใหม่เพื่อลงแข่งนั้น เป็นเพราะการแต่งกาย “กระทบ” ต่อความสามารถในการแข่งขันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ภาพการแข่งขันแบดมินตันของน้องเมย์ รัชนก อินทนนท์ ที่ขนาดของตัวเสื้อ “ใหญ่” กว่าขนาดตัวของนักกีฬา ทำให้การเคลื่อนไหวไม่เป็นธรรมชาติ แม้สุดท้ายน้องเมย์จะเอาชนะมาได้ แต่กระทบต่อสายตาของผู้ชมอย่างชัดเจน

แม้ว่าการแข่งขันรอบถัดมาจะเห็นน้องเมย์ เปลี่ยนมาใส่เสื้อกีฬาแบรนด์ Yonex ผู้ผลิตสินค้ากีฬาสัญชาติญี่ปุ่นแล้ว แต่กระทบต่อสัญญาที่สมาคมทำร่วมกับแบรนด์แน่นอน

การยอมถอยของแบรนด์สร้างกระแสที่ดี

ที่ว่าการยอมถอยของแบรนด์คือ ทาง Yonex นำเสื้อของตัวเองมาให้นักกีฬาใส่ด้วยการไม่โชว์ยี่ห้อ ถึงแม้คอกีฬาจะทราบว่าดีไซน์แบบนี้คือสินค้าของแบรนด์ใดก็ตาม แต่หากเป็นแฟนคลับของน้องเมย์ที่ติดตามมานาน จะเห็นว่าเธอใส่แบรนด์นี้มานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2010 ในหลายการแข่งขัน

ทางด้านของแกรนด์สปอร์ตเอง แม้จะไม่ได้มีการออกมาแถลงการณ์ที่ชัดเจนหรือยอมรับว่าตนเป็นคนอนุญาตให้มีการ “ข้ามแบรนด์” หรือไม่ แต่ก็มีการโพสต์ภาพการแข่งขันทุกประเภทกีฬา จนมาถึงภาพของน้องเมย์ ก็มีหลายคอมเม้นท์เข้าไปแสดงความขอบคุณ ซึ่งแอดมินเพจได้โพสต์ตอบในบางคอมเม้นท์ว่า “แกรนด์สปอร์ตจะนำทุกคำติชม เพื่อไปพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” ซึ่งเป็นประโยคเดียวกันในหลายคอมเม้นท์

ทำไมแกรนด์สปอร์ตถึงได้ดีลนี้

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า แกรนด์สปอร์ต (Grandsport) เป็นหนึ่งในแบรนด์ผู้ผลิตเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬารายใหญ่ของไทยที่มีการก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1961 จนเรียกว่ามีมานานกว่า 60 ปี และเป็นผู้สนับสนุนชุดกีฬาให้กับนักกีฬาทีมชาติไทย ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาถึง 4 สมัย

สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในสัญญาการแข่งขันกีฬานานาชาติที่มี 11 รายการระหว่างปี 2017-2020 ที่มีคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เซ็นสัญญามูลค่าการสนับสนุนที่ 181 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสด ปีละ 1.5 ล้านบาท ที่เหลือเป็นมูลค่าชุดที่สวมใส่ในการฝึกซ้อมและแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ

ซึ่งการได้สิทธิ์นี้มา ทำให้แกรนด์สปอร์ตมีรายได้ในปี 2020 อยู่ที่ 762 ล้านบาท กำไร 23 ล้านบาท แต่รายได้ก็ถือว่าลดลงเพราะเจอปัญหาโควิด-19

ภาพรวมธุรกิจเสื้อผ้ากีฬายังไปรอด

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเสื้อผ้าหรือแฟชั่นยังมีโอกาสเติบโตได้ดี แม้ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ ผู้คนจะลดการใช้จ่ายเรื่องของเสื้อผ้า เครื่องสำอางค์ หรือเครื่องประดับ แต่สำหรับคนบางกลุ่มที่ยังรักสวยรักงามหรือชื่นชอบในบางแบรนด์ ก็ยังคงมีการใช้จ่ายบ้าง เพราะสินค้ากลุ่มแฟชั่น เป็นสินค้าที่ใช้งานได้นาน

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจกีฬาและรายได้ของพ.ย. 2562 พบว่า มีธุรกิจที่มีมูลค่าทุนจดทะเบียน มูลค่า 563.25 ล้านบาท (มค.-พย. 2562) สัญชาติที่มีการเข้ามาลงทุนสูงสุดได้แก่ เนเธอร์แลนด์ 2,082.85 ล้านบาท ญี่ปุ่น 1,329.27 ล้านบาทและไต้หวัน 641.71 ล้านบาท ด้วยผลประกอบการของธุรกิจเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์กีฬาที่เติบโตขึ้นทุกปี สอดคล้องกับเทรนด์การรักสุขภาพ งานวิ่ง กระแสสปอร์ตแฟชั่น ทำให้ธุรกิจนี้มีการเติบโตที่ดี

แม้ว่าในช่วง 2563-2564 เป็นปีแห่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การแข่งขันต่างๆ ต้องหยุดชะงักและกิจกรรมทางกีฬาหลายอย่างต้องล้มเลิกไปกลางคัน แต่การเกิดขึ้นของงานโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ ก็น่าจะเป็นหนึ่งในสีสันที่จะช่วยให้ทุกชาติกลับมามีจิตใจที่พองฟูจากชัยชนะ และบรรเทาความทุกข์ในจิตใจไปได้บ้าง

 

ที่มา : brand inside, ประชาชาติธุรกิจ, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า