AR หรือ augmented reality จะแจ้งเกิดจริงจังอย่างไร-เมื่อไหร่? คำถามนี้ถูกนำไปถาม Greg Rinaldi (ภาพบน) หัวเรือใหญ่ผู้ดูแลครีเอเตอร์และนักพัฒนาของ Magic Leap คำตอบที่ได้คือเทคโนโลยี AR จะไม่จำกัดเฉพาะในอุปกรณ์สวมศีรษะหรือเฮดเซ็ตเท่านั้น แต่จะอยู่บน “ทุกเลเยอร์” ที่พร้อมนำเสนอข้อมูลให้ชาวโลกทุกคน
เทคโนโลยีเสมือนจริงหรือ reality ที่ Greg Rinaldi มองนั้นไม่ได้มีศัพท์คำว่า AR คำเดียว แต่ยังมี MR และแม้แต่ XR ซึ่งทุก “R” ล้วนผสมภาพดิจิทัลเข้ากับภาพจริงได้อย่างแนบเนียนน่าทึ่ง โดยคำว่า MR นั้นเป็นประสบการณ์เสมือนจริงเชิงพื้นที่ที่ผู้ใช้สามารถใช้ท่าทางการวาดมือ หรือเสียง หรือมองตาเพื่อโต้ตอบกับเนื้อหาเสมือนจริง ซึ่งอุปกรณ์ MR วันนี้ยังต้องการอุปกรณ์ชุดราคาแพงที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวหลายตัว รวมถึงเซ็นเซอร์วัดความลึก และกล้องติดตามดวงตาที่ Magic Leap พัฒนาในอุปกรณ์ชื่อ Magic Leap One
ขณะที่คำที่คุ้นเคยมากกว่าอย่าง AR นั้นเป็นคุณสมบัติ AR ที่เน้นทำงานบนสมาร์ทโฟนเป็นหลักโดยใช้กล้องหลังพร้อมซอฟต์แวร์ขั้นสูงเพื่อจับภาพและวัดมุมมองภาพวิวจริง ซึ่งหากเป็นเทคโนโลยีเสมือนจริงแบบไม่ต้องอิงพื้นที่ และผู้ใช้จะไม่ได้สัมผัสโลกแห่งความจริงอย่างสิ้นเชิง ก็จะต้องใช้ชุดหูฟัง VR ที่วันนี้ถูกพัฒนาต่อเนื่องจนถูกเรียกว่า “Extended Reality” หรือ XR ความท้าทายที่ Magic Leap และตัวของ Greg Rinaldi มีคือทั้งหมดทุก R ถูกมองว่ายังไม่แพร่หลาย และยังจำกัดวงอยู่ในเวทีโฆษณาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีแต่ข่าวคราววิดีโอสาธิตและอุปกรณ์ต้นแบบเป็นตัวกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
ออกนอกโฆษณา
Greg Rinaldi มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายนักพัฒนาและผู้สร้างสัมพันธ์ของบริษัท Magic Leap บทบาทหน้าที่ของ Rinaldi ถือว่าสำคัญมากในการเปิดตลาด Magic Leap One ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ชุดหูฟัง XR ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในตลาดปัจจุบัน (นอกจาก HoloLens ของ Microsoft) ขณะนี้มีวางจำหน่ายสำหรับผู้บริโภคที่สนใจผ่านเว็บไซต์ Magic Leap ในราคา 2,300 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 70,827 บาทและโอเปอเรเตอร์อย่าง AT&T มีแผนจะวางจำหน่ายในร้านสาขาเร็ววันนี้
Rinaldi มองว่าจะมี “เลเยอร์ดิจิทัล” หรือชั้นภาพดิจิทัลที่แสดงเหนือภาพวิวจริงของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา โดยบอกว่ามนุษย์เราอยู่ในโลกดิจิทัลทุกวันนี้ท่ามกลางเลเยอร์ดิจิทัลอยู่แล้ว แต่เราแค่มองไม่เห็นเลเยอร์เหล่านี้ ที่ผ่านมา มนุษย์สามารถโต้ตอบกับเลเยอร์ได้ผ่านโทรศัพท์ของตัวเอง จนกลายเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์
“เมื่อมีคอนเซ็ปต์ว่านี่คือโลกทางกายภาพ จึงมีโลกดิจิทัลที่เราสามารถเห็นเทคโนโลยีดำเนินไปอย่างจริงจัง โลกดิจิทัลนี้จึงไม่เกี่ยวกับชุดหูฟังเลย เพราะชุดหูฟังเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น” Rinaldi กล่าว
Rinaldi โชว์วิสัยทัศน์ว่าโลกเสมือนจริงคือเรื่องของเลเยอร์ดิจิทัลทั้งหมดที่ทำงานร่วมกัน และมอบข้อมูลให้ผู้ใช้โดยที่ข้อมูลนั้นอาจเป็นเส้นทางรถเมล์ หรือสำหรับใครที่ทำงานเป็นวิศวกร ข้อมูลนั้นก็อาจเกี่ยวกับรายละเอียดระบบบำบัดน้ำเสีย ที่จะถูกแสดงมีลักษณะเข้าใจง่ายด้วยภาพแผนผังใต้ดินแบบไม่ต้องขุดพื้นดินจริง เลเยอร์การทำงานเหล่านี้มีหลักการทำงานคล้ายกับสถานีวิทยุตามท้องถนน ซึ่งผู้ใช้สามารถปรับจูนรับคลื่นเพื่อเข้าถึงเลเยอร์ที่ต้องการ เช่น เลเยอร์เรื่องการขนส่งที่จะรวมข้อมูลของรถบัสทุกคัน รวมถึงรถจาก Uber, รถไฟ หรือแม้แต่เครื่องบิน Uber ที่กำลังบินอยู่
หมัดเด็ดคือความบันเทิง
Rinaldi ยกตัวอย่างถัดมาคือเลเยอร์ด้านความบันเทิง ซึ่งบนเลเยอร์เดียวจะมีความบันเทิงหลายสิบ, หลายร้อย, หลายพันรายการรวมอยู่ในที่เดียว ผู้ที่ปรับจูนเข้ากับเลเยอร์นี้คือทุกคนที่ชื่นชอบความบันเทิงเริงใจสไตล์มนุษย์ศิวิไลซ์ ซึ่งผู้ใช้จะสามารถจูนเข้ากับช่อง Game of Thrones และสามารถเห็นหรือตอบโต้กับมังกรที่บินอยู่เหนือศีรษะขณะกำลังเดินลงสถานีรถไฟใต้ดิน Embarcadero ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถแชร์ประสบการณ์ต่อให้เพื่อนฝูงคนสนิทได้
อีกตัวอย่างคือ Pokémon Go เลเยอร์ดิจิทัลในมุมมองของ Rinaldi คือความสมจริงและน่าดึงดูดมากกว่าเดิม เพราะตอนนี้ผู้ใช้สามารถมองเห็นตัวละครในเกมได้แบบ 3 มิติ รวมถึงอนาคตของวงการหนังสือการ์ตูนที่จะเปลี่ยนไปตลอดกาล
Rinaldi ระบุว่าทั้งหมดนี้คือความหมายเมื่อมีใครพูดถึง Magicverse ซึ่งเป็นแนวคิดปัจจุบันของ Magic Leap ที่เกี่ยวข้องกับการเสิร์ฟคอนเทนต์ดิจิทัลทั้งหมดทุกประเภท
ข่าวคราวล่าสุดของ Rinaldi คือการประกาศหาทีมงานเพิ่มในอังกฤษ โดยบอกว่าต้องการผู้นำที่มีประสบการณ์มาโฟกัสเรื่องงานจัดการความสัมพันธ์และพันธมิตรนักพัฒนา (Developer Relations and Partnership Management) ประสบการณ์ที่ต้องการคือเทคโนโลยี SpatialComputing ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ #Magicverse แพร่หลายในยุโรปมากกว่าเดิม
ที่มา: : FastCompany