Site icon Thumbsup

ปรากฎการณ์ ‘เกรต้า ธันเบิร์ก’ สะท้อนความเดือดดาลของ Generation Z

 

Photo: UN/Cia Pak

สำหรับผมแล้ว สุนทรพจน์ของ เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน กลางที่ประชุมสหประชาชาตินั้นไม่ได้ “แซ่บ” ที่เนื้อหา แต่ให้เผ็ดพริกสิบเม็ดที่ “ลีลาและท่วงท่า” เลยทีเดียว

ที่พูดแบบนี้เพราะเนื้อหา (message) ประนามผู้นำโลกเกี่ยวกับภาวะเรือนกระจกนั้นมีให้เห็นดาษดื่นตามหน้าหนังสือพิมพ์และอินเตอร์เน็ตทุกวัน รุนแรงกว่านี้ หยาบคายกว่านี้ก็มีให้เห็นอีกเยอะ แต่การที่ เกรต้า ธันเบิร์ก โด่งดังภายในข้ามคืนอย่างที่เราเห็น ส่วนหนึ่งก็มาจากการแสดงออกที่ต่างจาก “เด็ก” ทั่วไป

โดยปกติแล้ว “เด็ก” ที่ได้รับอนุญาตให้กล่าวสุนทรพจน์กลางที่ประชุมใหญ่ๆ นั้นมักมีสถานะไม่ต่างจาก “จำอวด” คั่นเวลาก่อนที่ผู้ใหญ่จะเริ่มคุยงาน กล่าวคือเด็กๆ เหล่านี้มักจะถูกมอบหมายให้พูดแต่เรื่องกว้างๆ สิ่งแวดล้อม สังคม สันติภาพโลก ฯลฯ เพื่อให้ผู้ใหญ่ฟังแล้วอมยิ้มในความไร้เดียงสา พูดไปแล้วเด็กๆ ก็ดูน่ารัก น่าเอ็นดู ฉลาดหลักแหลม จบฟินาเล่ด้วยเสียงปรบมือจากบุคคลสำคัญหรือนักการเมืองใหญ่ๆ พร้อมกับกล่าวว่า

“เป็นแค่เด็กแต่ก็เก่งได้ขนาดนี้ หนูอนาคตไกลแน่ๆ จ๊ะ” พูดเสร็จพวกผู้ใหญ่ก็หันไปจิบน้ำชาชิทแชทกันต่อไป

แต่สุนทรพจน์ของ เกรต้า ธันเบิร์ก แตกต่างจากแบบแผนอย่างสิ้นเชิง เธอพูดถึงปัญหาโลกร้อนด้วยความเดือดดาล เกรี้ยวกราด น้ำเสียงทุ้มต่ำ แววตาเคร่งเครียด มีหลุดตะโกนเหมือนการด่าทอเป็นระยะ พร้อมข้อมูลแน่นปึ้กที่บ่งบอกว่าศึกษามาอย่างดี

https://www.theguardian.com/commentisfree/2018/nov/26/im-striking-from-school-for-climate-change-too-save-the-world-australians-students-should-too#img-1

การกล่าวสุนทรพจน์ของ เกรต้า ธันเบิร์ก ครั้งนี้จึงไม่ใช่การแสดงความสามารถพิเศษ (Talent show) เพื่อเอาอกเอาใจผู้ใหญ่อย่างที่หลายคนคาดหวัง แต่เป็นการสั่งสอน (lecture) และตำหนิ (blame) เหล่าคนสำคัญผู้นำโลกผ่านสื่อสารมวลชนที่ออนแอร์ไปทั่วโลก

“ฉันไม่ควรมาอยู่บนเวทีนี้ แต่ควรกลับไปเรียนหนังสือ ในอีกฟากฝั่งของมหาสมุทร แต่พวกคุณก็เดินทางมาหาความหวังจากพวกเรา เยาวชน คุณกล้าดีอย่างไร คุณขโมยเอาความฝันและวัยเด็กของเราด้วยความพูดจอมปลอม นี่ฉันถือว่าเป็นกลุ่มคนที่โชคดีแล้วนะ ผู้คนอยู่อย่างทรมาน คนบาดเจ็บล้มตาย และระบบนิเวศกำลังล้มลง เรากำลังจะสูญพันธุ์ พวกคุณกล้าดีอย่างไรที่พูดกันแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ” ส่วนหนึ่งจากสุนทรพจน์ของ เกรต้า ธันเบิร์ก

ปรากฎการณ์ เกรต้า ธันเบิร์ก บอกอะไรกับเรา

ความดุเดือดของ เกรต้า ธันเบิร์ก กลางที่ประชุมระดับโลกนั้นเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของสงครามระหว่างเจเนอเรชั่นที่กำลังปะทุเดือดอยู่ในทุกพื้นที่ของโลก ตั้งแต่ระดับครัวเรือนลุกลามจนถึงระดับโลก

เมื่อ เกรต้า ธันเบิร์ก สาววัย 15 ปีซึ่งเป็นตัวแทนของเยาวชนวัย Generation Z ออกโรงหักหน้าผู้มีอำนาจนำในสังคมซึ่งตอนนี้เป็นคนรุ่น Generation X ชนิดหักดิบ เราจึงเห็นธาตุแท้ของคนยุคเก่าบางกลุ่มซึ่งแสดงถึงภาวะไร้น้ำอดน้ำทน (intolerance) และความไม่เดียงสา (immature) ซึ่งขนวิธีการหยาบคายมาโจมตี เกรต้า ธันเบิร์ก อย่างไม่รักษาภาพพจน์ตัวเองอีกต่อไป

ตัวอย่างเช่น การที่นายดิเนศ ดิซูซา นักวิจารณ์การเมืองหัวอนุรักษนิยมชาวอเมริกัน เชื้อสายอินเดีย โพสต์รูปภาพเปรียบเทียบ เกรต้า ธันเบิร์ก กับเด็กสาวบนโปสเตอร์ที่ กองทัพนาซีเยอรมัน ใช้โฆษณาชวนเชื่อ หรือการพยายามอธิบายพฤติกรรมก้าวร้าวของเธอว่าเป็นผลมาจากอาการแอสเพอร์เกอร์ซึ่งเป็นกลุ่มอาการเดียวกับโรคออทิสติค มากกว่านั้นกลุ่มอนุรักษ์นิยมหลายคนยังโจมตีเธอเรื่องหน้าตาประหลาดบิดเบี้ยว ท่าทางไม่เต็มเต็ง (ซึ่งเธอก็ตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนว่าคงไม่มีอะไรให้วิจารณ์แล้ว ถึงขุดเรื่องหน้าตามาว่ากัน)

ปรากฎการณ์การต่อสู้ของ เกรต้า ธันเบิร์ก ด้านหนึ่งจึงไม่ต่างอะไรกับชัยชนะถล่มถลายของพรรคอนาคตใหม่ ไม่ต่างกับการประท้วงฮ่องกงที่รณรงค์กันผ่านเยาวชนคนรุ่นใหม่ และไม่ต่างกับการขับไล่ผู้นำเผด็จการจากปรากฎการณ์อาหรับสปริง

นี่คือเสียงอันเกรี้ยวกราดของคนรุ่นใหม่ที่คนรุ่นเก่าจะอุดหูหนีไม่ได้อีก เสียงที่จะทวีความดังยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้นในอนาคต

…และหากไม่ฟัง เสียงนี้กรอกหูจนคุณยอมศิโรราบในที่สุด