สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัท สปา–ฮาคูโฮโด จำกัด เผยผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนมิถุนายน 2564 พบว่าผู้บริโภคในสังคมไทยมีแนวโน้มกังวลกับสภาวะทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่สาม ส่งผลให้การใช้จ่ายโดยรวมลดลง
แต่ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าที่สามารถนำไปต่อยอด เพื่อหารายได้เข้ากระเป๋าเพิ่มเติม และยังมีความต้องการช็อปปิ้งเพื่อเป็นกิจกรรมคลายเครียด ทางด้านความสุขมีแนวโน้มที่ลดลงด้วยความกังวลในสถานการณ์ของโรคระบาด แต่ก็ยังมองหาโอกาสใหม่ๆในการลดรายจ่ายและหารายได้ในอนาคต
สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกที่สาม สร้างความวิตกกังวลให้กับคนในสังคมไทยอย่างมาก โดยผลสำรวจครั้งล่าสุดนี้ ทางสถาบันวิจัยฯ ได้ทำการสำรวจทางออนไลน์ “การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย”
โดยมุ่งเน้นที่แนวโน้มการบริโภคของคนไทยในอนาคต ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบไปด้วยเพศชายและเพศหญิงจำนวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ พบข้อบ่งชี้เกี่ยวกับแนวโน้มพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย
สถานการณ์ทำให้ต้องรัดกุม แต่ชีวิตยังต้องเดินหน้าต่อไปการกลับมาของโควิด-19ระลอกสามทำให้คนไทยลดการใช้จ่าย รัดกุมมากขึ้นเมื่อเทียบกับผลการสำรวจในช่วงเดือนเมษายน 2564 ถึงแม้ว่าจะมีแนวโน้มการใช้จ่ายโดยรวมลดลง แต่ความต้องการพื้นฐานในอาหาร เครื่องดื่ม และของใช้จำเป็นก็เพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้จ่ายค่าน้ำมัน เพื่อออกไปทำงานหารายได้ และมีบางส่วนที่ลดการทานอาหารนอกบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด และเน้นประหยัดค่าใช้จ่าย
โดยแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายลดลง 2 คะแนน มาอยู่ที่ 54 คะแนน จาก 56 คะแนนเต็ม 100 ในผลสำรวจครั้งก่อน ในขณะที่คะแนนความสุขในปัจจุบันยังคงที่อยู่ที่ 65 คะแนน เท่ากับผลสำรวจครั้งก่อน แต่แนวโน้มความสุขใน 3 เดือนข้างหน้านั้นคาดว่าลดลง เหตุจากความกังวลว่าสถานการณ์อาจยังไม่ดีขึ้น
ชะลอของชิ้นใหญ่ แต่ยอมจ่ายเพื่อประโยชน์ รวมถึงความสุขเล็กๆน้อยๆสินค้าที่มีมูลค่าสูง อย่างเครื่องใช้ภายในบ้าน และโทรศัพท์มือถือ ถึงแม้มีแนวโน้มการใช้จ่ายลดลง แต่ก็ยังเป็นที่ต้องการเพื่อนำไปช่วยในการประกอบอาชีพ เช่น ไว้ถ่ายรูปขายของ นอกจากนั้น การได้ช้อปปิ้งเทศกาลลดราคากลางปี ทำให้ได้ซื้อของราคาถูกและเป็นการผ่อนคลายด้วย รวมถึงการซื้อสินค้าเสริมความงามที่มีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อพยุงความรู้สึกให้รอดพ้นจากสถานการณ์นี้ไปได้
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสามทำให้กลับมาระวังตัวมากขึ้น มุ่งใช้จ่ายในสิ่งที่มีความจำเป็นเท่านั้น โดยสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคซื้อมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหาร ร้อยละ 28 ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 16 โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน ร้อยละ 8 เครื่องใช้ภายในบ้าน ร้อยละ 6 และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ร้อยละ 5
เมื่อจำแนกตามภาค พบแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลรวมถึงภาคกลาง และภาคใต้ ส่วนภาคที่มีความต้องการในการใช้จ่ายลดลงได้แก่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และโดยเฉพาะภาคตะวันออกที่ลดลงต่ำที่สุดถึง 8 คะแนน มาอยู่ที่ 51 คะแนน
จากเดิมที่มีแนวโน้มการใช้จ่ายสูงสุดในผลสำรวจครั้งก่อนที่ 59 คะแนน สาเหตุจากยังมีกักตุนสินค้าคงเหลือเพื่อรองรับฤดูการท่องเที่ยวเมื่อเดือนเมษายน ผนวกกับสถานการณ์โควิดระลอกสามที่ต้องประหยัดและจำกัดการเดินทาง
โดยการแบ่งตามช่วงอายุ พบว่าแนวโน้มการชะลอการใช้จ่ายอยู่ที่กลุ่มอายุ 30-39 ปี เป็นกลุ่มที่มีภาระด้านครอบครัว และยังไม่มีความมั่นคงด้านการเงินเท่ากลุ่ม 40ปี ขึ้นไป ดังนั้นกลุ่มนี้จึงส่งสัญญาณลบมากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะสินค้าประเภทเสื้อผ้า การท่องเที่ยวในประเทศ และทานข้าวนอกบ้าน
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ประเด็นที่คนไทยให้ความสนใจเพิ่มสูงขึ้นคือ โควิดระลอกสาม สูงถึง 83% เพิ่มขึ้น 59% จากผลสำรวจครั้งก่อน ตามด้วยข่าวด้านการเมืองในประเทศ 4% ที่มีนัยยะเกี่ยวข้องกัน
แต่อีกด้านหนึ่งคือ ผลสำรวจพบประเด็น การมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการอยู่รอดในอนาคต อาทิ ‘วัคซีน’ หรือการมองหาทางเลือกใหม่ในการหารายได้ อย่างกระแส ‘การลงทุนในหุ้น’ หรือบิทคอยน์ (Bitcoin)
การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย เป็นการสำรวจทุก 2 เดือนร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัทในเครือฮาคูโฮโด เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวและคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย