Site icon Thumbsup

กรณีศึกษา แบบสอบถามออนไลน์ ทำอย่างไรให้โดนใจผู้บริโภคยุคใหม่

เมื่อเอ่ยถึงการทำแบบสอบถาม หลายคนอาจเคยเจอกับประสบการณ์ที่ต้องเสียเวลาหลายสิบนาทีเพื่อตอบคำถามยืดยาวในเรื่องที่บางทีก็ไม่ได้เต็มใจตอบ และบางคนอาจเกิดความรู้สึกประมาณว่า ยอมให้ข้อมูลส่วนตัวบางอย่างไปเพื่อที่จะได้ออกมาจากจุดนั้นเสียที แต่การทำแบบสอบถามในลักษณะนี้อาจตกยุคและใช้ไม่ได้กับคนรุ่นใหม่เช่น กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 18 – 25 ปีอีกต่อไปแล้ว 

โดยสิ่งที่พิสูจน์ว่ามีวิธีอื่นที่ได้ผลที่ดีกว่าก็คือ การเกิดขึ้นของบริษัทแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ชื่อ Happi ที่ออกแบบการทำแบบสอบถามขึ้นมาเสียใหม่ให้ถูกจริตกับคนยุคนี้มากขึ้น นั่นคือแบบสอบถามออนไลน์ที่มีคำถามแค่ 5 ข้อ ซึ่งสามารถตอบเสร็จได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 นาที และเมื่อตอบเสร็จก็อาจได้รับรางวัลเก๋ ๆ จากแบรนด์ หรืออาจเป็นตั๋วคอนเสิร์ต โทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป ไปจนถึงรางวัลระดับทริปพักผ่อน ขึ้นอยู่กับแบรนด์ที่สร้างแบบสอบถามนั้น ๆ จะให้รางวัลอะไรมาสนับสนุน

ผลคือแนวคิดของ Happi ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ได้ดีทีเดียว

โดยที่ผ่านมา Happi เคยทำแบบสอบถามให้กับ Google และมีผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นนักศึกษาในสถาบันการศึกษา 17 แห่งจากฟิลิปปินส์และสิงคโปร์เข้าร่วมมากกว่า 1,500 คนภายในเวลา 4 วันเท่านั้น ขณะที่การทำแบบสอบถามแบบเดิมอาจต้องใช้เวลามากกว่า 30 วันเลยทีเดียว

นอกจากนั้น ทางบริษัทมีการเก็บข้อมูลเชิงลึกของผู้ใช้งานแต่ละคน เพื่อช่วยแบรนด์ต่าง ๆ ในการทำ Segmentation อีกด้วย โดยการกำหนดกลุ่มเป้าหมายนั้นสามารถเลือกได้จากอายุ, เพศ, สัญชาติ, ที่อยู่, ของรางวัลที่ผู้บริโภคต้องการได้รับ ส่วนค่าใช้จ่ายในการทำแบบสอบถามนั้นคิดอยู่ที่ 1 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 33 บาท) ต่อ 1 response (สำหรับการทำในปริมาณไม่มากนัก) และหากสมัครสมาชิกก็จะได้ราคาที่ถูกลงกว่านี้อีก

Greg Lipper เจ้าของแนวคิดของ  Happi เผยว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาได้ไอเดียนี้มา เกิดขึ้นเมื่อตอนที่เขาทำงานในบริษัทไอทียักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง และเห็นว่าฝ่ายการตลาดมีความภูมิใจอย่างมากที่สามารถใช้งบประมาณในการทำโฆษณาดิจิทัลที่ 32 เหรียญสหรัฐต่อหนึ่ง Buyer (ประมาณ 1,000 บาท) และเขาคิดว่าเขาสามารถทำได้ในราคาที่ต่ำกว่านั้น แถมไอเดียของเขายังทำให้ผู้ใช้งานอยากกลับมาให้ข้อมูลใหม่อยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

โดยปัจจุบัน บริการของ Happi มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมตอบคำถามในลักษณะนี้แล้วประมาณ 10,000 คน (เป็นตัวเลขจากสองประเทศอย่างสิงคโปร์และฟิลิปปินส์รวมกัน) โดยบริษัทมีแผนจะหาพาร์ทเนอร์ในประเทศอื่น ๆ ทั้งในเอเชีย และภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกเช่น ละตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก แอฟริกา และตะวันออกกลาง เพื่อขยายตลาดออกไปให้ได้มากที่สุด เพราะนั่นจะทำให้ Happi สามารถเจาะตลาดแบรนด์ต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

Lipper เผยว่า ความท้าทายของบริการอย่าง Happi ที่มีต่อแบรนด์คือ การทำให้แบรนด์ต่าง ๆ ได้ย้อนมองตัวเองว่าที่ผ่านมา การสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคได้ทำให้ผู้บริโภคเกิดประสบการณ์ที่ไม่ดีต่อแบรนด์หรือไม่

เงื่อนไขข้อเดียวของการทำแบบสอบถามบน Happi ก็คือต้องไม่ใช่แบบสอบถามที่สร้างความเกลียดชัง หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น

เราอาจเคยได้เห็นไอเดียธุรกิจในลักษณะที่คล้าย ๆ กันนี้จากผู้ให้บริการในไทย เช่น Adpocket ที่จะโชว์โฆษณาบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือแลกกับแต้มสะสม หรือค่าย Revu ที่มีการสนับสนุนสินค้าให้กับ Micro-Influencer ได้ทำการรีวิวบนโลกออนไลน์  ซึ่งจะเห็นได้ว่าแนวคิดในลักษณะนี้ สามารถดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ได้ดี และไม่ทำให้เกิดประสบการณ์แง่ลบต่อแบรนด์ด้วย เรียกว่าวิน – วิน ทุกฝ่าย

ที่มา: Inc.com