เงินเดือนแพงลิบลิ่วและอาหารฟรีอาจจะไม่ใช่ผลประโยชน์ที่ล่อตาล่อใจมากที่สุดในซิลิคอนวัลเล่ย์อีกแล้ว เพราะตอนนี้บรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แถวๆ นั้นเขาหันมาแย่งคนกันด้วยการนำเสนอสวัสดิการด้าน Health care ที่คิดมาแล้วเป็นอย่างดีเพื่อให้พนักงานมีสุขภาพที่แข็งแรง
บทความนี้สรุปมาจาก Entrepreneur ซึ่งดูจากหัวข้อบทความแล้วก็ไม่ได้สนใจสักเท่าไร แต่พอลองอ่านดูแล้วพบว่าช่วยเปิดโลกทัศน์ได้มาก เลยอยากเอามาสรุปให้อ่านกันค่ะ เพราะสวัสดิการเจ๋งๆ ที่ว่า มีตั้งแต่บริการทางการแพทย์แบบ exclusive การจ่ายค่าทำคลอดในอัตราที่สูงมากพอๆ กับราคารถยนต์ การผ่าตัดแปลงเพศ! รวมไปถึงการสนับสนุนให้พนักงานใช้ wearable ประเภท activity tracker ตามสไตล์บริษัทเทคโนโลยี
สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล
สวัสดิการพื้นฐานของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่าง Google หรือ Apple จะมีตั้งแต่การให้สิทธิในการรักษาพยาบาลในฐานะคนไข้ที่ “มีระดับ” ซึ่งเท่าที่เคยฟังคนอื่นเล่ามา เขาว่ากันว่าค่ารักษาพยาบาลในอเมริกานั้นแพงมหาโหด คนที่จะเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานได้ก็ยังต้องเป็นคนมีเงินในระดับหนึ่ง ดังนั้นคำว่า “มีระดับ” จึงหมายถึงหรูเลิศอลังการจริงๆ สวัสดิการพื้นฐานอีกอย่างก็คือการสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพใหม่ๆ เช่น อุปกรณ์จำพวก Fitness band
บริษัทเหล่านี้เชื่อว่าการสนับสนุนให้พนักงานมีสุขภาพที่ดีจะเป็นประโยชน์กับบริษัทเอง เพราะจะช่วยเพิ่ม Productivity และลดต้นทุนการรักษาพยาบาลลงไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสามารถลดจำนวนพนักงานที่เป็นโรคอ้วนได้ ก็จะลดความเสี่ยงที่พนักงานจะเป็นโรคเบาหวานและโรคอื่นๆ ที่รบกวนประสิทธิภาพในการทำงาน
Joe Gracy ผู้ดูแลเรื่องสวัสดิการของ Yahoo กล่าวว่า สวัสดิการด้านสุขภาพเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากถ้าอยากจะหาคนเก่งๆ มาร่วมงานด้วย ซึ่งที่ Yahoo เองให้วันลาคลอดสำหรับพนักงานที่เป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่เยอะกว่าที่อื่นๆ โดยคนเป็นแม่จะลาคลอดได้ 16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือน ส่วนคนที่เป็นพ่อ จะลาคลอดไปช่วยแม่เลี้ยงทารกแรกคลอดได้ 8 สัปดาห์ หรือ 2 เดือน
ฟังดูอาจจะรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าลองเอามาเทียบกับกฏหมายลาคลอดของไทยแล้วจะพบว่ามันช่างแตกต่าง
กฏหมายพ่อลาคลอดในไทยเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเร็วๆ นี้ โดยให้ใช้สิทธิลาได้ 15 วันสำหรับข้าราชการเท่านั้น ส่วนผู้หญิงลาคลอดได้ 90 วัน บริษัทจ่ายค่าจ้าง 45 วัน และประกันสังคมจ่ายอีก 45 วัน
เราอาจจะเห็นว่าสวัสดิการเหล่านี้มันไม่น่าสนใจเท่าจำนวนวันลาพักร้อน เงินเดือน โบนัส แต่สำหรับคนหลายๆ คนในอเมริกา สวัสดิการด้านสุขภาพคือปัจจัยอันดับแรกๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกทำงานที่ใดที่หนึ่ง
มีบริษัทเทคโนโลยีหลายๆ แห่งอยากได้ตัว James Mishra นักศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่กำลังจะจบการศึกษาจาก University of Minnesota ในปี 2015 มาร่วมงานด้วย James บอกว่าเมื่อเขาอายุ 26 ก็จะไม่สามารถใช้สิทธิประกันของพ่อแม่ได้ เพราะฉะนั้น สวัสดิการด้านสุขภาพจึงเป็นเรื่องที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุด
John Adams พนักงานคนที่ 13 ของ Twitter บอกว่า สวัสดิการด้าน Healthcare กลายมาเป็นสิ่งที่เขานึกถึงเป็นอย่างแรกๆ ย้อนกลับไปตอนที่เขายังเด็กกว่านี้ เขามองหางานที่ให้ผลประโยชน์ในรูปแบบของหุ้น ความก้าวหน้า และเงินเดือนสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเวิร์กมากหากต้องการคนอายุ 20 – 30 มาร่วมงานด้วย แต่ถ้าบริษัทมองหาคนที่มีอายุและประสบการณ์มากกว่านั้นก็คงไม่เวิร์ก
ในปี 2013 บริษัท Mercer ทำการสำรวจบริษัทเทคโนโลยีจำนวน 103 บริษัท พบว่ามีการให้สวัสดิการครอบคลุมไปถึงกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน (อาจจะเป็นการสนับสนุนเงินทางด้านการศึกษาของเด็กที่คู่รักเพศเดียวกันรับมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม หรืออาจจะเป็นการใส่ชื่อของอีกฝ่ายในฐานะผู้รับผลประโยชน์ในการทำประกันภัย) และมีการให้สวัสดิการที่ดีกับกลุ่มพนักงาน part – time มีการให้สิทธิประโยชน์ทางการแพทย์แบบครอบคลุมไปถึงแพทย์แผนโบราณอย่างการฝังเข็ม และโปรแกรมจัดการสุขภาพอื่นๆ อย่างการให้บริการสายด่วนคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์และโปรแกรมปรับพฤติกรรมเพื่อสุขภาพ
ส่วน Apple เป็นบริษัทที่มีการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแบบครบวงจร โดยมีการจ่ายค่าทำคลอดเป็นจำนวนเงินมากถึง 450,000 บาท ให้กับพนักงานทุกระดับ ไม่เว้นแม้แต่พนักงานพาร์ทไทม์ที่อยู่ในร้านรีเทล
สวัสดิการระดับท๊อปแบบนี้มีอยู่ทั่วไปในซิลิคอน วัลเล่ย์ โดย Google เคลมว่าตัวเองเป็นเจ้าแรกที่จ่ายเงินค่าผ่าตัดแปลงเพศให้กับพนักงาน ซึ่งอ้างอิงจากผลสำรวจของ Mercer แล้ว พบว่าขณะนี้ บริษัทเทคโนโลยีระดับสูงจำนวน 17% มีการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ที่ครอบคลุมไปถึงการแปลงเพศ และบริษัทขนาดใหญ่อีก 5% ก็มีสวัสดิการนี้เช่นกัน
การส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพที่แข็งแรง
Intuit บริษัทผู้ผลิตซอฟแวร์ด้านภาษีและบัญชีเพิ่งจะเซ็นสัญญากับ MDLive สตาร์ทอัพที่มี John Sculley เป็นแบ็คอัพด้านการเงินให้ (สาวก Apple จำชื่อนี้กันได้ไหมเอ่ย) เพื่อให้พนักงานของบริษัทได้ใช้บริการนี้สำหรับ Video chat กับแพทย์แบบเป็นส่วนตัว ไม่ใช่แค่นั้น แต่ทุกๆ วันผู้จัดการฝ่ายสวัสดิการของ Intuit จะได้รับการติดต่อเข้ามา Pitch งานจากบริษัทที่นำเสนอ Wellness Program อย่างน้อยวันละ 1 เจ้า ซึ่งในตอนนี้ทางบริษัทกำลังพิจารณาข้อตกลงกับบริษัทขายเครื่องมือควบคุมเบาหวาน
คำถามที่ว่าโปรแกรมดูแลสุขภาพของพนักงานในลักษณะนี้เป็นการลดต้นทุนได้จริงหรือไม่ ก็ยังคงเป็นคำถามที่ไม่มีใครตอบได้แบบฟันธง แต่พนักงานประมาณครึ่งหนึ่งของ Intuit ใช้ device ประเภท activity tracker โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทในรูปแบบเงินสด เพื่อกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายในแต่ละวัน เนื่องจากบริษัทมีนโยบายไม่สนับสนุนให้พนักงานนั่งรากงอกติดกับเก้าอี้
ขอแถมอีกตัวอย่างจากซิลิคอน วัลเล่ย์ อันนี้ชอบเป็นการส่วนตัวค่ะ หลังจาก Marrissa Mayer ซีอีโอของ Yahoo เข้ามาเป็นคณะกรรมการคนหนึ่งของ Jawbone มีผลให้พนักงาน Yahoo ได้รับแจก JawboneUP ฟรี! เพื่อเข้าร่วมโปรแกรมที่เรียกว่า “100 mile challenge” เช่นเดียวกันกับพนักงานของ Apple ที่ได้รับแจก Wearable แบบนี้เช่นกัน
จะเห็นว่าโครงการเหล่านี้เป็นรูปเป็นร่างแบบจริงจังเพราะคนระดับหัวลงมาเล่นเอง จริงๆ แล้วทุกโครงการในบริษัทก็จะมีลักษณะนี้ ถ้าอยากแจ้งเกิดให้กับโครงการไหนก็ตาม วิธีที่ง่ายที่สุดคือคนที่เป็นผู้นำต้อง “เชื่อ” ในสิ่งนั้น และสื่อสารถึงมันอยู่เสมอ
ส่วนมากแล้วคนที่เป็นผู้จัดการด้านสวัสดิการในบริษัทเหล่านี้ก็จะดูภาพรวมของการเข้าร่วมกิจกรรม พนักงานที่ไม่เข้าร่วม Wellness Program ก็จะไม่ได้รับการลงโทษหรือตำหนิ การเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมจะไม่มีผลต่อหน้าที่การงานของพนักงานแต่ละคน
จริงๆ แล้วซิลิคอน วัลเล่ย์ ไม่ใช่ที่เดียวที่ให้ความสนใจกับการมีสุขภาพดีของพนักงาน จากการสำรวจของ Towers Watson คาดว่าในปี 2015 จะมีบริษัทที่นำเอาปัญหาพนักงานน้ำหนักเกินและคลอเลสเตอรอลสูงมาเป็นประเด็นสำคัญในการจัดการสวัสดิการจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยอาจจะเป็นการให้รางวัลและลงโทษในรูปแบบต่างๆ
นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่าคนที่ทำงานในบริษัทเทคโนโลยีนำหน้าไปไกลแล้วในแง่ของปัจจัยชี้วัดสุขภาพ เช่น มีอัตราการสูบบุหรี่ที่ค่อนข้างต่ำ และยิ่งไปกว่านั้น พนักงานในบริษัทเทคโนโลยียังเป็นโรคอ้วนแค่ 23% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ
ดูได้จากบริษัทอย่าง Google ซึ่งถือเป็นตัวอย่างสุดคลาสสิคถ้าเราจะพูดเรื่องสวัสดิการอาหารฟรี แต่อาหารฟรีของ Google ไม่ใช่อาหาร Junk Food เพราะบริษัทไม่สนับสนุนให้พนักงานกินของหวานหรืออะไรก็ตามที่ใส่น้ำตาลมากเกินไป รวมทั้งน้ำอัดลมด้วย
—————————————–
อ่านจบแล้วอาจจะคิดว่าทำไมบริษัทในไทยไม่มีสวัสดิการดีๆ แบบนี้บ้าง แต่อยากให้คิดแบบนี้ค่ะ การที่บริษัทในอเมริกาเหล่านี้ให้ความสนใจกับปัญหาสุขภาพก็อาจจะเป็นเพราะว่าประเทศของเขามีคนเป็นโรคอ้วนมากที่สุดในโลก และมันไม่ใช่ปัญหาที่จบในตัวเอง แต่มันส่งผลกระทบกับการทำงานด้วย ซึ่งถ้าสถานการณ์ของไทยเป็นหนักถึงขนาดนั้น และสังคมมีความตื่นตัว (หรือตื่นตระหนก) กับปัญหาสุขภาพมากขึ้น ทิศทางการนำเสนอสวัสดิการของบริษัทก็อาจจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็ได้ โดยส่วนตัวแล้วก็ยังเชื่อว่าสภาพสังคมโดยรวมจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กำหนดกลยุทธ์ในการสรรหาคนมาทำงานอยู่ดี ผู้อ่านมีความเห็นอย่างไรบ้างคะ 🙂