Site icon Thumbsup

ใครว่าขายข้าวไม่ต้องทำออนไลน์ แค่ต้องใช้เวลาปรับตัว

สินค้าประเภทข้าวถือว่าเป็นพื้นฐานหลักของประเทศไทยเลยนะคะ ซึ่งข้าว “หงษ์ทอง” ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ของคนไทยที่เรียกได้ว่าอยู่ในธุรกิจนี้มายาวนาน ถึง 80 ปีและทาง thumbsup ก็ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวของข้าวแบรนด์นี้ เพื่อทำความรู้จักที่มาที่ไปของสินค้า การเดินหน้าธุรกิจและเส้นทางอนาคต

คุณวัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด (BSCM) เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้บริษัทมีพนักงานกว่า 600 คน ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ต้องยึดหลักปรัชญาด้วยการเน้นดูแล รักษาคุณภาพของสินค้า ดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์และซื่อตรง ทำให้วันนี้สินค้าของหงษ์ทองวางจำหน่ายใน 50 ประเทศทั่วโลก

สำหรับในไทยนั้น หงษ์ทองเป็นที่รู้จักช่วงน้ำท่วมใหญ่ประมาณ ปี 2538 ซึ่งช่วงนั้นอีกแบรนด์ไม่สามารถส่งสินค้าได้ทัน ทางเราจึงมีโอกาสและเป็นที่รู้จักตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้ขณะนี้มียอดขายถึง 2.5 แสนตันเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ 15% และตั้งเป้าว่าอนาคตจะเพิ่มขึ้นอีก 10% ได้ แม้จะเจอปัญหาหนักคือการแบกรับต้นทุนสูง ทำให้มีการยื่นของปรับราคาข้าวหอมมะลิหน้าถุงไว้ที่ 300 บาท แม้จะยังไม่มีการอนุมัติออกมา แต่คิดว่าคงต้องปรับขึ้นและมองหาโอกาสรายได้ใหม่ๆ

“ตอนนี้พูดได้ว่า หงษ์ทองทำงานเอามันส์ไม่มีกำไร เราแบกรับต้นทุนการผลิตมาหลายปีแล้วเพื่อช่วยเหลือคนไทยให้มากที่สุด”

ธุรกิจเกี่ยวกับข้าวสารเรียกได้ว่าเป็น red ocean แม้จะมีปัญหามากแต่ใครจะอยู่ได้ต่อไปก็ต้องดูว่าปรับตัวได้แค่ไหน ลงทุนเทคโนโลยีมาช่วยสักเท่าไหร่ไปจนถึงแบกรับต้นทุนได้ดีเพียงใด

แม้ว่าหลายคนจะเริ่มมีกระแสรักษาสุขภาพจนส่งผลให้บริกโภคข้าวน้อยลง แต่หงษ์ทองก็ไม่ได้กังวล และยังปรับตัวพัฒนาสินค้าใหม่ เข้าไปเทคโอเวอร์ธุรกิจรักสุขภาพอย่าง “ใบเมี่ยง” 4 สาขาและปรับปรุงหน้าร้านค้าปลีก “หงษ์ทองเฮลท์สเตชั่น” ที่มีอยู่อีก 3 สาขาให้ตอบโจทย์ด้านข้อมูลเกี่ยวกับข้าวและคนรักสุขภาพที่ต้องการข้อมูลหลากหลายมากกว่าแค่หาใน Google รวมไปถึงร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง LAZADA, 11Street, Shopee และ JD.com ในการขายข้าว ทำให้มีโอกาสใหม่ๆ ช่วยให้ขายสินค้าได้ดีขึ้น

“ทุกอย่างมีขึ้นก็ต้องมีลง แม้จะเคยมีความต้องการข้าวหอมมะลิสูง ต่อมาก็ปรับเป็นข้าวไรซ์เบอรี่ ต่อไปก็อาจจะไม่กินข้าวเลยก็ได้ เพราะกินขนมปัง ชาบู หรือทานอาหารนอกบ้านเยอะขึ้น คนก็กินข้าวหอมมะลิน้อยลง ซึ่งแน่นอนเราเองก็ต้องปรับตัว” 

เพื่อให้ธุรกิจของเราปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ได้ดีขึ้น เราก็มองหาโอกาสใหม่ๆ มากมาย อย่างเช่น ข้าวปรุงสุกพร้อมรับประทานวางขายในร้านสะดวกซื้อ เราคิดค้นและพัฒนามากว่า 20 ปี เพิ่งจะเป็นที่รู้จักเพียง 3-4 ปี เพราะแต่ก่อนคนไทยกินข้าวบ้าน ยังไม่ถึงจังหวะของมันก็เลยไม่บูมแต่พอตอนนี้ คนไทยอาศัยคนเดียวตามคอนโดเยอะขึ้น ชาวต่างชาติต้องการกินข้าวหอมมะลิ ไปจนถึงการอุ่นกินเพื่อความสะดวกและรวดเร็วขึ้น ทำให้สินค้ากลุ่มนี้ มีการเติบโตที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการวางขายน้ำข้าวกล้องเพื่อสุขภาพ เพราะมองเห็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ น่าจะชอบเครื่องดื่มสุขภาพและในตัวเมล็ดข้าวเองก็มีสารอาหารมากมายที่สามารถนำมาแปรรูปและสกัดสารอาหารที่มีประโยชน์ออกมา โดยเราเชื่อมั่นว่าจะช่วยตอบโจทย์เรื่องความสะดวกและสุขภาพดีได้

ส่วนอนาคตเรื่อง E-commerce ที่มาแรง ทางหงษ์ทองก็มีการเข้าไปทำตลาดออนไลน์ ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งยอดขายและการเติบโตเรียกได้ว่าดีมาก เพราะโตแบบ 100% คาดว่าในปีหน้าไม่น่าต่ำกว่า 200% เลยทีเดียว เพราะสะดวกในการขนส่งสินค้า ไม่ต้องไปหาซื้อเอง ไม่ต้องเดินทาง ด้านราคาก็มีส่วนลดโปรโมชั่นต่างๆ ที่ดีกว่า

กัมปนาท มานะธัญญา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เล่าว่า แม้ว่าหงษ์ทองจะยังไม่มีช่องทางซื้อขายออนไลน์ของตนเอง แต่การทำผ่านแพลตฟอร์มที่แข็งแรงก็ถือว่ายังดีอยู่ สิ่งที่เราจะทำในปีนี้ในช่องทางออนไลน์คือการประชาสัมพันธ์แบรนด์ผ่าน Youtube และ Facebook ให้มากขึ้น ตอนนี้ในเพจมีผู้ติดตามกว่า 1.09 แสนคนแล้ว แต่คอนเทนต์ส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องข่าวประชาสัมพันธ์และสื่อสารข้อมูลเป็นส่วนมาก

ปีนี้เราอาจไม่ได้มีแผนรุกหนักด้านออนไลน์เพราะเรายังไม่มีทีมด้านนี้โดยตรง แต่จะพยายามทำคอนเทนต์ให้ดีขึ้น เพราะยอมรับว่าพฤติกรรมคนไทยด้านโซเชียลมีเดียนั้นบูมมาก เรามีข้อมูลพร้อมแต่ก็ยังไม่ได้มีทีมดูแลโดยเฉพาะ ทำให้สัดส่วนการประชาสัมพันธ์ 80% ยังเป็นช่องทางออฟไลน์อย่างกิจกรรมหน้าบูท หน้าร้านค้าปลีก เป็นหลัก ซึ่งยังยืนยันว่าไม่ได้มองข้ามช่องทางออนไลน์แต่เรากำลังหาจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งเมื่อไหร่ที่พร้อมก็เชื่อว่าเราจะสามารถเดินหน้าออนไลน์ได้เต็มที่เพราะตัวเลขรายได้มีทิศทางที่ดีและเป็นโอกาสใหม่สำหรับอนาคต

เพราะช่องทางออนไลน์ยังไงก็เป็นช่องทางสื่อสารที่ดีสำหรับการทำแบรนด์ให้มั่นคงและเป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งยังช่วยเรื่องงานบริการ เพราะคุยผ่านคอลล์เซ็นเตอร์อาจจะไม่ตอบโจทย์แล้ว ยิ่งในอนาคตบริษัทมีแผนจะลดคนเพื่อแก้ปัญหา Error ในปลายงาน หลังกระบวนการผลิตทำให้ต้องมองเรื่องใหม่ๆ อย่างงานบริการควบคู่กันไปด้วย ซึ่งโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือฟรีที่ช่วยลดต้นทุนส่วนนี้ได้ดี