editorial note: บทความนี้คือบทความพิเศษจากแขกรับเชิญจาก “ขจร พีรกิจ” Adobe Community Professional แห่งเว็บไซต์? Indesignthai.com ที่ส่งมาให้กองบรรณาธิการ thumbsup อัพโหลดขึ้นให้ thumbsuper อ่านโดยเฉพาะ สิ่งที่ขจรเขียน ไม่สะท้อนแนวคิดของกองบรรณาธิการ thumbsup เป็นเพียงมุมมองของคนที่มีความรู้ความเข้าใจด้าน Digital Publishing อย่างแท้จริง และเราก็อยากจะบอกว่าความเห็นของเขาเป็นความเห็นที่น่าสนใจ คุ้มค่าแก่การอ่านเป็นอย่างยิ่ง หากคุณต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเขาเชิญที่ Facebook.com/kajorn และ Twitter.com/kajorn
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ Apple ได้ปล่อย iPad ออกสู่ตลาด ก็ทำให้อุตสาหกรรมที่ทำหน้าที่ผลิตสื่อต่างๆ พยายามที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในนวัตกรรมใหม่นี้ โดยไม่คำนึงถึงบุคลิกเฉพาะด้านของสื่อหรือความมีจุดเด่นเฉพาะด้านของ Tablet หลายคนคิดแต่เพียงว่าจะทำอย่างไรให้ผลงานของเขาขึ้นไปปรากฏบน iPad ให้ได้ก่อนใครเท่านั้น ทั้งๆ ที่ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้แตกต่างไปจากการเกิดขึ้นของสื่อชนิดใหม่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่นเดียวกับ ทีวี หรือ วิดีโอ ที่เกิดมาก่อนหน้านี้แต่อย่างใด
แนวคิดในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาก็เพื่อที่จะให้กลุ่มเป้าหมาย หรือผู้ใช้สามารถรับรู้และเข้าใจในสิ่งที่สื่อสารออกไปได้ง่าย และสะดวกขึ้นด้วยการใช้งานจาก Mobile หรือ Tablet ทำให้ผู้ผลิตสื่อจำเป็นต้องปรับตัวเองในการสร้างรูปแบบของเนื้อหา ให้สามารถส่งออกสู่ทุกอุปกรณ์ที่เรียกว่า Multi Screen และต้องคำนึงถึงการนำเอาประสิทธิภาพที่โดดเด่นของ Tablet มาใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด
การเข้ามาของ Digital Publishing
ความจริง Digital Publishing ก็คือการเติบโตของ Electronic Document นั่นเอง เมื่อเราสามารถทำให้เอกสารอิเล็คทรอนิกส์มีความสามารถหลากหลายขึ้น คำจำกัดความของมันจึงต้องถูกขยายความให้กว้างขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมถึงความสามารถที่ดี ทำให้ก่อนหน้านี้ผมพยายามเน้นเรื่องชื่อ และชนิดของงานดิจิตอล เพราะหากเราไม่ให้ความสำคัญตั้งแต่ตอนแรกแล้ว มันก็จะถูกสร้างมาตรฐานแบบมั่วๆ ให้ดูสับสนดั่งที่หลายคนไม่เข้าใจอยู่ในตอนนี้ บางคนก็ยังไม่รู้จะเรียกอะไรดี eBook, ePub, eMagazine, Digital Magazine… ทั้งหลายเหล่านี้ส่งผลไปถึงการเลือกใช้เครื่องมือ และกระบวนการส่งออกไปยังผู้บริโภคทั้งสิ้น
หากจะไล่เรียงมาเกี่ยวกับเอกสารอิเล็คทรอนิกส์ที่หลายคนพอจะจำกันได้ ในส่วนของไฟล์ PDF ที่มีมานานมากตั้งแต่ ปี 1993 หลายคนที่ทำงานด้านสิ่งพิมพ์ก็จะรู้ว่าไฟล์ PDF ที่ทำจากอาร์ทเวิร์คงานพิมพ์นั้นมีมานานแล้ว แต่ทำไมไม่เรียกเป็น Digital Magazine ตั้งแต่ตอนนั้นก็ไม่รู้ แต่เรามาเริ่มนับการเป็นระบบไฟล์อิเล็คทรอนิกส์ที่แพร่หลายกันก็คือ eBook, eMagazine แล้วเราก็มาได้ยินคำว่า ePub เมื่อเรารู้จัก Kindle และเราก็มาได้ยินคำว่า Digital Magazine เมื่อ Apple ออก iPad ทำให้วงการสิ่งพิมพ์ทั่วโลกต่างพยายามสร้างเนื้อหาให้เข้ามาโลดแล่นบน Tablet ต่างๆ และพยายามสร้างกำหนดกฎเกณฑ์ร่วมกันขึ้นมาเพื่อเป็นข้อตกลงในการพัฒนาร่วมกัน
ความแตกต่างระหว่างสิ่งพิมพ์กับ Digital Publishing
ได้มีการรวบรวมข้อมูลจากการประชุมของผู้นำทางด้านธุรกิจสำนักพิมพ์ในอเมริกา หลังจากที่ Apple ได้เปิดตัว iPad และ Times Magazine ได้เรียก App ของ Times บน iPad ที่มีรูป CEO Apple ขึ้นบนหน้าปกฉบับแรกว่า Digital Magazine อย่างเป็นทางการ ทำให้หลายคนสงสัยว่าทำไมไม่ใช้ eMagazine ที่เป็นคำคุ้นเคยกันอยู่แล้ว คำตอบในตอนนั้นคือ การกำหนดชื่อที่แตกต่างจะทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าสองสิ่งนี้ไม่เหมือนกันเลยทีเดียว หากเรียกเหมือนกัน สิ่งที่จะทำให้สับสนในอนาคตคือ กระบวนการทำ เครื่องมือในการทำ และรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นั่นคือ การเป็น Interactive Magazine อย่างสมบูรณ์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นทางผู้พัฒนา Solution อย่าง Adobe ที่เป็นเจ้าของ Software ด้านสิ่งพิมพ์อย่าง Adobe InDesign ได้สร้างคำนิยามขึ้นมาให้ใหม่สำหรับเครื่องมือใหม่ที่จะมาสร้าง Digital Magazine? ว่า Digital Publishing Suite
ความแตกต่างกันของสื่อสิ่งพิมพ์กับ Digital Publishing คือ สิ่งพิมพ์เนื้อหาจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และความสมบูรณ์ของเนื้อหาจะถูกจำกัดในตัวเองเมื่อถูกพิมพ์ออกมาวางขายแล้ว และไม่มี Interactivity การเชื่อมโยงเนื้อหาอ้างอิงต้องอาศัยอุปกรณ์ประกอบภายนอก ซึ่งแน่นอนหากเปรียบเทียบกับ Digital Publishing แล้วจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะ Digital Publishing รูปแบบเนื้อหาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยการอัพเดทข้อมูลและสามารถใช้รูปแบบของ Web เข้ามาเชื่อมต่อ มี Interactivity ที่สามารถตอบสนองกับผู้ใช้งานได้อย่างดี การเชื่อมโยงเนื้อหาใช้ Hyperlink สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายและฉับไว
Electronics Publishing (ePub, eBook) กับ Digital Publishing (Magazine & Book)
คราวนี้มาดูกันว่าสิ่งที่เราเรียกว่า ePub หรือ eBook มีความแตกต่างกับสิ่งที่เราได้ยินว่า Digital Book หรือ Digital Magazine อย่างไร ในส่วนของสิ่งพิมพ์อิเล็คทรอนิคส์อย่าง ePub หรือ eBook มี 2 รูปแบบคือเป็น PDF ไฟล์ ที่มักจะนำเอางานที่ตีพิมพ์จริงทำการ export เป็นไฟล์ PDF แล้วก็ทำการส่งออกเป็น eBook และอีกแบบหนึ่งที่เป็น ePub ก็คือการยังคงรูปแบบ Text ให้สามารถปรับข้อความให้ใหญ่เล็กได้ เฉพาะในส่วนของข้อความ ซึ่งทั้งสองแบบก็ยังมีข้อจำกัดในการนำเสนอในด้าน Interactive และสำหรับ ePub บางเวอร์ชั่นยังไม่รองรับ Video (ePub ที่รองรับ Video ต้องเป็น ePub3 ที่ตอนนี้จะมีเพียง iPad, iPhone และ iPod Touch โดยการอ่านผ่าน iBook)
รูปแบบการแสดงผลขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ แต่ข้อดีคือ สามารถนำออกไปเผยแพร่ได้ง่ายโดยการส่งเป็นไฟล์ต่อๆ กันได้ การควบคุมสิทธิ์ (DRM) สามารถจัดการได้ด้วยตัวเองหรือให้ผู้จัดจำหน่ายทำ สามารถนำไปอ่านได้ในอุปกรณ์ที่หลากหลายรวมถึงบนคอมพิวเตอร์ทั่วไป แต่สำหรับ Digital Publishing จะสามารถ ใช้ Interactive ได้หลากหลายรองรับวิดีโอ ออดิโอ แสดงผลสวยงามให้กับผู้อ่านได้ตรงกับการที่นักออกแบบตั้งใจออกแบบ แต่การจะนำออกเผยแพร่ และการควบคุมสิทธิ์ (DRM) ต้องผ่านระบบของผู้จัดจำหน่ายเท่านั้น และที่สำคัญรองรับบนอุปกรณ์พกพาที่ระบุไว้เท่านั้น
(อ้างอิงข้อมูล แนะนำ Digital Publishing http://vimeo.com/24654209 )
หลังจากทำความเข้าใจกับรูปแบบทั้งสองอย่างแล้ว คราวนี้ผมจะขอกล่าวถึง Digital Magazine ที่กำลังจะเป็นการลงทุนธุรกิจรูปแบบใหม่ และมีนิตยสารในบ้านเราหลายค่ายกำลังตั้งท่าที่จะกระโจนเข้าสู่พัฒนาการในครั้งนี้ แต่ก่อนที่จะเลือกเส้นทางเดินบน Device เราลองมาทำความเข้าใจกันสัักเล็กน้อย ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกแนวทางของตัวเองต่อไป
Digital Magazine ที่ถูกต้องคืออะไร
ถ้าจะพูดว่าการเป็น Digital Magazine ที่ถูกต้องนั้นต้องมีลักษณะอย่างไร ในขณะนี้ไม่มีใครตอบได้โดยตรงหรอกครับ เหมือนกับการที่เราจะพูดว่า บ้านที่ดีเป็นอย่างไร เราก็จะได้แต่เพียงบอกว่าจะต้องตอบสนองให้กับผู้อยู่อาศัย และผู้ที่เกี่ยวข้องได้มากที่สุด และสามารถใช้ประโยชน์ใช้สอยได้มากที่สุด ดังนั้นเราจึงต้องมาพิจารณากันแล้วว่า หากเราไม่นับเรื่องเนื้อหาของนิตยสารว่าเล่มไหนน่าอ่านโดยเนื้อหาแล้ว เรามาวัดกันว่า Digital Magazine เล่มไหนที่สามารถตอบสนองผู้อ่านได้คุ้มค่าที่สุด น่าจะเป็นสิ่งที่จะทำให้เราเปรียบเทียบได้ว่า Digital Magazine ที่ดีคืออะไร
รูปแบบที่ผู้ผลิตระบบการจัดทำ Digital Magazine ค่ายใหญ่ตอนนี้ ก็มี ของ Adobe และ WoodWing ซึ่ง 2 ค่ายนี้ล้วนแต่มีผลงาน Digital Magazine ให้เราเห็นกันแล้ว และผ่านไป 1 ปี ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ก็เริ่มกำหนดระบบ และรูปแบบที่จะพัฒนามากขึ้น จากที่ผมเคยได้ร่วมประชุมกลุ่มนักโฆษณาในอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว เขาให้ความเห็นว่า การตลาดที่แท้จริงของ Digital Magazine คือเป็นสื่อโฆษณาแห่งใหม่ ที่จะมีมูลค่ามาเป็นอันดับสองรองจากการโฆษณาผ่านโทรทัศน์ เพราะว่าเขาสามารถใส่ Interactive ของงานโฆษณาลงไปใน Digital Magazine และสามารถตรวจสอบผลตอบรับได้จากเครื่องมือที่เรียกว่า Site Catalyst ที่จะเก็บข้อมูลการตลาดได้อย่างเป็นระบบ ดังนั้นแนวทางการพัฒนาของ Digital Magazine จึงต้องสามารถตอบสนองทางการตลาดได้มากกว่าการคิดเพียงแค่เปลี่ยนแผงวางหนังสือจากร้าน มาเป็นการวางอยู่บน AppStore เข้าสู่ iPad เท่านั้น
การที่จะทำให้ Digital Magazine ได้รับความนิยมอย่างเต็มใจ นอกจากเนื้อหาที่ดีแล้วยังต้องสามารถทำให้ผู้ใช้งาน iPad หรือ Device อื่นๆ ใช้งานได้อย่างสนุก เช่น การออกแบบให้สอดคล้องกับการใช้งาน แนวตั้งสำหรับการอ่านเนื้อหา แนวนอนสำหรับการชมภาพประกอบ หรือวิดีโอ และต้องทำให้ผู้อ่านสามารถโต้ตอบกับเนื้อหาได้ ดังนั้นกระบวนการทำที่ดีของ Digital Magazine ก็คือ ต้องออกแบบและวางแผนการนำเสนอที่แยกออกจากความคิดในรูปแบบสิ่งพิมพ์ เพราะสื่อกระดาษ กับกระดานอิเล็คทรอนิคส์ มีบุคคลิกที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการที่คิดเพียงใช้รูปแบบงานพิมพ์มาทำเป็น PDF แล้วมาบอกว่าเป็น Digital Magazine ที่ทันสมัย อย่างนี้ก็ไม่รู้ว่าเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วไม่รู้จัก PDF กันหรือไร
(อ้างอิงเอกสาร : http://www.adobe.com/aboutadobe/history/newsletter/ )
วันนี้ และพรุ่งนี้ของ Digital Magazine
อนาคตข้างหน้าของ Digital Magazine จะเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับในอดีตที่ยังเป็นรูปเล่มบนกระดาษ กับการเข้าไปอยู่บนอุปกรณ์ที่เรียกว่า Tablet ที่แน่ๆ คือระบบบอกรับสมาชิก ที่เมื่อก่อนเราต้องตัดกระดาษที่แทรกมาในเล่มเพื่อกรอกข้อมูลจ่ายเงินทางไปรษณีย์ มาวันนี้เป็นการคลิกบนชั้นวางหนังสือใน AppStore แล้วตัดเงินเราทันทีจากบัตรเครดิต และในอนาคตปี 2015 หรืออาจจะเร็วกว่านี้ รูปแบบการสมัครสมาชิกอาจจะใช้วิธีสมัครตรงไหนก็ได้ กับสินค้าใดก็ได้ จะทำให้สินค้าที่หลากหลายสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างง่ายๆ แต่ที่สำคัญคือ Digital Magazine ไม่ใช่เป็นการลงทุนพัฒนาสถานที่จัดจำหน่ายแห่งใหม่ โดยเปลี่ยนจากสายส่ง มาเป็น AppStore เท่านั้น แต่ Digital Magazine คือการลงทุนธุรกิจสื่อรูปแบบใหม่ ที่ต้องสร้างระบบการหารายได้ที่แตกต่างจากเดิม
การจัดทำเนื้อหาต้องใช้ความคิดสร้างสรรรค์ที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและประทับใจ ซึ่งจะใช้เครื่องมืออะไรก็ได้ ที่สามารถถ่ายทอดเนื้อหาของนิตยสารเหล่านั้นโดยอาศัยความสามารถของ Tablet ช่วยให้เนื้อหาที่เราออกแบบสามารถนำเสนอผู้อ่านอย่างประทับใจ และที่สำคัญปัญหาของคนใช้งาน Device ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น iPad, Playbook หรือ Android Tablet มีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่สามารถนำ App เข้าไปใส่ใน Device ของตัวเองโดยไม่ต้องไปใช้บริการที่มาบุญครอง
(อ้างอิง : แนวทางการออกแบบ Digital Magazine http://blogs.adobe.com/indesigndocs/2011/02/design-decisions-for-digital-publishing-apps.html )