สำหรับองค์กรที่ต้องการทรานสฟอร์มเมชันตัวเองจากองค์กรยุคอะนาล็อกไปสู่องค์กรดิจิทัล เชื่อว่าคงมีหลายองค์กรที่มองหาสูตรสำเร็จในการทรานสฟอร์มนั้นอยู่ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาพนักงาน วันนี้เราจึงขอหยิบจุดที่น่าสนใจจากโครงการ 40-hours Challenge ของ DTAC ซึ่งเป็นโครงการในการทรานสฟอร์มพนักงานให้กลายเป็นผู้ที่มีความสามารถด้านดิจิทัลเต็มรูปแบบ ว่าจะมีศาสตร์และศิลป์ในการบริการจัดการโครงการอย่างไรมาฝากกันค่ะ
เตรียมความพร้อมด้านจิตใจ
นอกจากผู้บริหารจะพร้อมและอยากทรานสฟอร์มองค์กรแล้ว อีกหนึ่งองคาพยพที่ต้องพร้อมด้วยคือ “พนักงาน” โดยสิ่งที่จะทำให้พนักงานพร้อมมากขึ้นคือเรื่องของจิตใจ การชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง และการทำให้พนักงานมองความเปลี่ยนแปลงนั้นในแง่บวกเป็นเรื่องที่องค์กรต้องทำ เพราะมีไม่น้อยที่พนักงานเข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นมาถึงแล้ว แต่กลับรู้สึกหวั่นไหว เพราะกลัวว่าสถานะของตนเองจะสั่นคลอนไปด้วย ทางแก้ที่ดีอาจเป็น การชี้ให้เห็นถึงโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา เช่น โอกาสเติบโตด้านตำแหน่งหน้าที่การงาน หรืออย่างน้อยก็ได้พัฒนาตัวเอง
การเตรียมพร้อมด้านคอนเทนต์ที่หลากหลาย
หากเป็นองค์กรในอดีต เราคงเคยเห็นบางองค์กรทำห้องสมุดไว้ให้พนักงานเข้ามาอ่านหนังสือกัน ไปจนถึงการเชิญผู้เชี่ยวชาญภายนอกเข้ามาอบรมในเรื่องที่องค์กรเห็นว่าจำเป็น แต่ในยุคดิจิทัลเราจะพบว่าคอร์สส่วนใหญ่อยู่ในแพลตฟอร์ม และเราสามารถเลือกเข้าไปเรียนรู้ได้อย่างไม่จำกัด (ขอแค่มีเวลา) การรวมองค์ความรู้เหล่านั้นมาให้พนักงานจึงอาจเป็นเรื่องที่จำเป็น ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ เช่น Coursera, mooc.org, Lynda.com, TED เป็นต้น
คอนเทนต์นั้นต้องเหมาะกับผู้เรียน
สำหรับยุคดิจิทัลนอกจากจะมีคอนเทนต์ออนไลน์ให้เลือกเรียนมากมายเต็มไปหมดแล้ว ยังมีปัจจัยในการเรียนรู้มากกว่านั้น ซึ่งทีมงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลจาก DTAC พบว่า คนแต่ละเจเนอเรชันมีความสนใจในคอนเทนต์ที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น คนในเจเนอเรชัน X จะสนใจคอนเทนต์ที่เป็นทางการ เช่น คอร์สเรียนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในขณะที่คนจากเจเนอเรชัน Y แม้จะสนใจเรื่องเดียวกัน แต่รูปแบบคอนเทนต์ควรจะเป็นทางการน้อยกว่า เช่น Lynda.com ดังนั้น การจะจัดการเรียนรู้จึงต้องใส่ใจในความแตกต่างนี้ ด้วยการเตรียมคอนเทนต์ที่เหมาะสำหรับคนแต่ละเจเนอเรชันเอาไว้ให้พร้อมด้วยนั่นเอง (รวมถึงการแปลเป็นภาษาไทยด้วยในบางกรณีที่จำเป็น)
มีระบบกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
กรณีของ DTAC มีการนำระบบสะสมแต้ม (Gamification) คล้าย ๆ กับที่พบในเกมเข้ามาช่วย พนักงานสามารถสะสม Badge เพื่อปลดล็อกไปเรียนขั้นที่สูงขึ้นไปได้ รวมถึงได้แต้ม DTAC Coin มาซึ่งแต้มนี้สามารถนำไปแลกเป็นแต้มของแรบบิท เพื่อใช้โดยสารรถไฟฟ้าได้อีกด้วย
การกระตุ้นอีกรูปแบบหนึ่งคือการเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถย้ายแผนกได้ ซึ่งนโยบายนี้น่าจะโดนใจชาว Gen Y มากกว่าพนักงานในเจเนอเรชันอื่น ๆ โดย DTAC บอกว่า อัตราการย้ายแผนกเป็นการภายในของ DTAC อยู่ที่ 38%
มีเป้าหมายที่ชัดเจน
นอกจากของรางวัล และบรรยากาศภายในองค์กรที่เน้นสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือต้องมีความท้าทายด้วย ซึ่งในกรณีของ DTAC คือการกำหนดเป้าหมายให้พนักงานในองค์กรได้พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและต้องเข้าร่วมคอร์สผ่านระบบออนไลน์จำนวน 40 ชั่วโมงให้เสร็จสิ้นภายในปี 2018 หรือใครจะเรียนเพิ่มมากกว่านั้นก็ได้
สำหรับข้อดีของโครงการนี้คงต้องบอกว่าการเป็นคอร์สออนไลน์ทำให้บริษัทสามารถประเมินผลต่าง ๆ ได้ง่ายมากขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น (DTAC บอกว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายในการอบรมบุคลากรไปได้ 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา) และพนักงานแต่ละคนก็สามารถเลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจได้ และนำความรู้นั้น ๆ ไปต่อยอด สร้างการเติบโตในหน้าที่การงานได้
ส่วนผลงานของการพัฒนาทีมไปสู่ยุคดิจิทัลนี้ DTAC เผยว่า ปัจจุบันบริษัทได้สร้างทีมอะไจล์ขึ้นแล้วมากกว่า 10 ทีมในองค์กร (ทีมอะไจล์คือทีมที่นำบุคลากรจากต่างสายงานมาทำงานร่วมกันแบบ Project-Driven) ซึ่ง DTAC พบว่า ทำให้โปรเจ็คสำเร็จอย่างรวดเร็วมากขึ้น ยกตัวอย่างบริการที่ประสบความสำเร็จจากการทำงานในลักษณะนี้คือการกระตุ้นให้ลูกค้าชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันอย่าง DTAC One ที่พบว่ามีการดาวน์โหลด 60,000 ครั้ง โดยสามารถลดขั้นตอนการเติมเงินจาก 45 วินาทีเหลือ 5 วินาทีเท่านั้น
แต่แน่นอนว่า การจะเป็นองค์กรยุคใหม่ นอกจากจะพัฒนาคนในองค์กรทุกเจเนอเรชันให้กลายเป็นชาวดิจิทัลแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้สามารถดึงดูดชาวดิจิทัลตัวจริงให้เข้ามาทำงานได้ด้วย โดยในจุดนี้ คุณนาฎฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคลของ DTAC ฝากทิ้งท้ายไว้ถึงคุณสมบัติที่ Digital Company ควรมี นั่นคือ ต้องเป็นองค์กรที่เปิดใจรับการเรียนรู้ตลอดเวลา, เน้นการให้รางวัลหรือโบนัสด้วยวิธีใหม่ ๆ, ทำงานเป็นโปรเจ็ค และมีความท้าทาย และสุดท้ายต้องสามารถทำงานข้ามแผนกได้ เพราะชาวดิจิทัลชอบที่จะได้เรียนรู้ร่วมกันนั่นเอง