ถึงแม้ว่าคุณจะมีเพื่อนจำนวนนับพันบน Facebook แต่ถ้าจะพูดถึงเพื่อนจริงๆ คุณอาจมีแค่หยิบมือเท่านั้น จากการศึกษาของ Robin Dunbar นักมานุษยวิทยาที่พบว่า มนุษย์สามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ยืนยาวได้สูงสุดที่ 150 คนเท่านั้น ในโลกแห่งความเป็นจริง
การศึกษาล่าสุดของ Dunbar เป็นการวิเคราะห์ผู้ใช้งาน Facebook จำนวน 3,375 แอคเคาท์ในอังกฤษ ซึ่งมีอายุระหว่าง 18-65 ปี และเขาพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว เมื่อเกิดความเศร้าใจ เสียใจ จะสามารถพึ่งพาเพื่อนได้เพียง 4.1 คน จากจำนวนผู้ติดตาม 150 คน และมีเพียง 13.6 คนเท่านั้น ที่แสดงความเห็นอกเห็นใจ
ตัวเลขดังกล่าวมีความสอดคล้องกับผลการศึกษาก่อนหน้าของตัวเขาเอง ซึ่งเป็นการศึกษาในโลกออฟไลน์ หรือการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างในชีวิตจริง
สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่มีผู้ติดตามมากกว่า 150 คน ผลก็ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนกลุ่มคนที่ใช้งานโซเชียลมีเดียประเภท Heavy users ก็ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ในโลกออฟไลน์มากไปกว่ากลุ่มอื่นๆ
จะเห็นได้ว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้ความหมายของการเป็นเพื่อนดูห่างออกไปจากยุคก่อนๆ เพราะเราแทบจะไม่มีอะไรที่เชื่อมโยงหากันเลย นอกจากการพูดคุยผ่านหน้าจอ
ไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มวัยรุ่นและเด็กๆ จะมีเพื่อนมากในโลกโซเชียล แต่สำหรับคนมีอายุ จะเพื่อนในชีวิตจริงมากกว่า
ผลการศึกษานี้ช่วยคอนเฟิร์มว่า เราทุกคนมีเวลาและอารมณ์อย่างจำกัด ในการที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโลกออนไลน์หรือชีวิตจริง อย่างไรก็ตาม โซเชียลเน็ตเวิร์กจะเข้ามาช่วยในเรื่องของระยะทาง เพราะมันทำให้คนที่มีตารางชีวิตแน่นๆ สามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนที่คุ้นเคยกันได้ดี แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่กลไกที่ดีพอ การพบปะพูดคุยกันต่อหน้าก็ยังเป็นสิ่งที่คนทั่วไปต้องการเพื่อรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ได้อย่างยั่งยืน