Site icon Thumbsup

QR Code สิ่งเล็ก ๆ ที่ล้มยักษ์ตระกูล “Pay”

หากเอ่ยถึง QR Code เชื่อว่า ณ เวลานี้ไม่มีใครไม่รู้จักเทคโนโลยีดังกล่าว และการชำระเงินด้วยการสแกน QR Code ก็กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วในหลาย ๆ สังคม โดยประเทศที่มีการใช้งานมากที่สุดอาจหนีไม่พ้นจีนแผ่นดินใหญ่ที่กลายเป็นประเทศต้นแบบด้าน Cashless Society และเป็นกรณีศึกษาให้หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกไปแล้ว

โดยคำว่า QR Code นั้น ย่อมาจากคำว่า Quick Reponse ซึ่งผู้ที่พัฒนา QR Code ขึ้นมาก็คือบริษัทจากแดนปลาดิบชื่อ Denso เพื่อทดแทนการใช้บาร์โค้ดที่ไม่สามารถแทรกข้อมูลลงไปได้มากเท่าที่ภาคธุรกิจต้องการ

แต่ในวันนี้ QR Code ได้เติบโตขึ้นจนกลายเป็นเครื่องมือของนักการตลาดและนักเทคโนโลยีทั่วโลก และที่สำคัญ ความฮอตฮิตของ QR Code ในประเทศกลุ่ม Emerging Market ยังทำให้ชื่อของบริการอย่าง Apple Pay และอีกหลาย ๆ แบรนด์ที่ขึ้นต้นด้วย “Pay” เงียบหายไปอย่างเห็นได้ชัด

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ Apple Pay นั้นไม่ใช่บริการที่ตอบโจทย์ Emerging Market แม้จะเป็นบริการที่ตั้งเป้าไปสู่ Cashless Society เช่นกัน แต่พื้นฐานของการใช้ Apple Pay นั้น นอกจากจะต้องมีบัตรเครดิตแล้ว ยังต้องมีสมาร์ทโฟนของ Apple ที่ราคาแพงมากเมื่อเทียบกับระดับรายได้ของประชากรด้วย มากไปกว่านั้น ยังต้องมีเครื่องอ่าน NFC ที่ร้านค้าต้องลงทุนเพิ่มอีกต่างหาก ขณะที่ QR Code นั้นไม่ต้องมีอะไร แค่ Gen Code ขึ้นมาก็สามารถรับชำระเงินได้แล้ว

หรือในกรณีของจีนแผ่นดินใหญ่ที่ประชากรกลุ่มที่มีรายได้สูงเพิ่มมากขึ้น และคนจีนก็นิยมซึ้อ iPhone อยู่ไม่น้อย แต่บริการอย่าง Apple Pay ก็ยังไม่สามารถแจ้งเกิดได้

การไม่ประสบความสำเร็จของ Apple Pay ในจีนแผ่นดินใหญ่นั้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากการไม่สามารถเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ และ Ecosystem ของแอปพลิเคชันที่คนจีนใช้งาน ยกตัวอย่างแอปพลิเคชันที่ชาวจีนใช้งานกันบ่อยเช่น WeChat นอกจากจะเป็นแอปพลิเคชันที่อำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ แล้ว WeChat ยังสามารถรองรับการชำระเงินได้ในตัว ไม่ต้องมีบัตรเครดิต แค่มีบัญชีธนาคารก็ทำได้เลย

ดังนั้น การจะให้มีบัตรเครดิตเพื่อมาใช้บริการ Apple Pay จึงดูเป็นเรื่องไกลตัว และยุ่งยากเกินไป ส่วนภาคธุรกิจ เมื่อมีคนสนใจใช้น้อย การจะลงทุนติดตั้งเครื่องอ่าน NFC ก็กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มจะเสียไปโดยปริยาย

ผลก็คือ ส่วนแบ่งของ Apple Pay ในตลาดจีนตอนนี้ถือว่าน้อยมาก ระดับเลขตัวเดียว ขณะที่ QR Code กลายเป็นช่องทางหลักของการชำระเงินในจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีมูลค่ากว่า 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2016

แต่น่าเสียดายว่าความพ่ายแพ้ของ Apple Pay นั้นยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ เพราะประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม Emerging Market เองก็ไม่ใช่ตลาดที่พร้อมสำหรับ Apple Pay ที่จะให้ไปลงทุนเช่นกัน ตรงกันข้ามกับ QR Code ที่ไปได้ทุกตลาด และเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในไทย อินเดีย (อินเดียมีการเปิดตัว IndiaQR) ไนจีเรีย ฯลฯ ด้วยเหตุนี้แม้จะเป็นเทคโนโลยีที่คิดมาดี แต่เมื่อสภาพสังคมและไลฟ์สไตล์ไม่ตอบโจทย์ บางครั้งก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้อย่างที่ใจคิดเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติมได้ที่
Bloomberg
SCMP