คุณอาจจะเคยอ่านข่าวกันมามากมายว่าฝรั่งที่ทำธุรกิจดอทคอมในซิลิค่อนวัลเล่ย์มีหลายแบบ บางคนคิดว่าอยากสร้างกิจการของตัวเองให้กลายเป็นบริษัทหมื่นล้าน เข้าตลาดหุ้นให้ดังระเบิดระเบ้อ บางคนคิดอยากทำบริษัทเล็กๆ แต่มั่นคงอยู่ไปได้เรื่อยๆ แต่บางคนก็คิดว่าทำยังไงจะให้กิจการที่ตัวเองสร้างมานั้น ขายให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Yahoo! Google Microsoft ไปจะได้รวยเร็วๆ ซะที อันนี้ไม่ใช่เรื่องตลก แต่มันมีวิธีอยู่จริงๆ มันมีวิธีอย่างไรนะ มาดูกัน
ที่มาที่ไปของบทความนี้เกิดจากผมไปเจอบล็อกของเพื่อนร่วมงานเก่าของผมชื่อ Patrick ซึ่งเคยดูแลงานด้านพัฒนาธุรกิจ ผมไม่รู้ว่าอะไรดลใจให้เขาเขียนออกมาเยอะขนาดนี้ แต่เขาก็เขียนไปแล้ว แถมเขียนด้วยมุมมองที่แตกต่างจากอเมริกา คือเจาะเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ถ้าอยากจะขายบริษัทให้ Yahoo! ต้องทำอย่างไร ผมก็เลยเอามาแปล บวกกับประสบการณ์เท่าที่ผมเคยได้ยินได้ฟังมาแชร์ให้คนทำเว็บไทยอ่านกัน
ถ้าคุณมาถึงตรงนี้แสดงว่าคุณกำลังมีไอเดียเจ๋งๆ สำหรับสร้างบริษัท startup กันแล้ว คุณเริ่มสร้างทีมขึ้นมา ก่อร่างสร้างบริษัทขึ้นมา หรือแม้กระทั่งอาจจะมีเงินสนับสนุนแล้วจำนวนหนึ่ง (ในเมืองไทยอาจจะมี Venture Capital น้อยราย บริษัท startup คงต้องไปขอกู้จากธนาคารเอา) ตอนนี้คุณก็อยากจะเพิ่มฐานลูกค้าและหารายได้เพิ่มเติมด้วยการขายบริษัท ซึ่งก็ไม่หนีบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Yahoo!, Symantec, Microsoft, Google ฯลฯ
จะเริ่มยังไงดีล่ะทีนี้? เริ่มต้นด้วยการค้นหาคนในซิลิค่อนวัลเล่ย์ผ่านเว็บไซต์ LinkedIn ก่อนสิ เพราะมันไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทพวกนี้มองหาบริษัทแบบเราๆ อยู่หรือเปล่า แล้วจะเสนอขายได้ยังไง?
อย่างแรกเลย LinkedIn จะช่วยให้เราเข้าใจเพิ่มอีกนิดหน่อยเกี่ยวกับบริษัทเหล่านี้ พวกเขากำลังทำอะไรอยู่ และทำงานอย่างไร สิ่งที่คุณจะต้องทำก็คือเข้าไป “ขาย” เกี่ยวกับตัวคุณเองสักหน่อยกับบริษัทเหล่านี้ (เข้าทำนองว่า “รู้จักลูกค้าของคุณให้ดี” นั่นเอง) ณ ที่นี้เราจะถือว่าคุณ (ใช่ คุณที่กำลังอ่านนี่ล่ะ) มีผลิตภัณฑ์ที่เปี่ยมไปด้วยนวัตกรรมอยู่ในมือที่พร้อมจะขายแล้ว บริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ทั้งหลายจะมาสนใจไหม ต้องทำอย่างไรบ้าง
จำเอาไว้ให้ขึ้นใจว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่มีบุคลิก 4 แบบดังต่อไปนี้:
- มีทรัพยากรจำกัด: การที่จะเอา “เงิน” และ “ทรัพยากรบุคคล” ไปลงกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ลงทุนกับโครงการดีๆ นั้นล้วนแต่ต้องการคนคอยสนับสนุน คอยดูแลผลิตภัณฑ์นั้นๆ มากมาย บางครั้งเลยเป็นเรื่องยาก ที่จะเข็นอะไรใหม่ๆ ออกมาจากภายใน
- เน้นขายของด้วยทีมขายที่ใหญ่โต แถมมีสัมพันธ์กับลูกค้าค่อนข้างดี
- มีเงินซื้อบริษัทอื่นเพราะมีเงินจากตลาดหุ้น
- พวกเขาเข้าถึงคนจำนวนมาก บริษัทเหล่านี้จะมีจำนวนลูกค้าและจำนวนผู้ใช้มาก และมีความสัมพันธ์ในระดับที่ลึกเสียด้วย
หรือพูดง่ายๆ ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายเหล่านี้มีช่องทางในการทำอะไรๆ มากมาย แต่มักจะติดขัดภายในโดยเฉพาะเรื่องการสร้างผลิตภัณฑ์อะไรขึ้นมาใหม่ๆ เพื่อออกไปขาย บางทีการที่พวกเขาตั้งเป้าขายเท่านั้นเท่านี้ทำให้สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาไม่ทันใจ เล่นซื้อบริษัทเอาจะง่ายกว่า หรือไม่ก็ต้องสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาใหม่เอง เช่น? Facebook ก็จะมี Facebook Ads/apps, Amazon ก็จะมี Amazon marketplace, ส่วน Google ก็จะมี Google AdWords/AdSense และเปิดให้คนอื่นเข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์มของตัวเองในการโฆษณาหรือเข้าถึงผู้บริโภคผ่านทางแพลตฟอร์มของตัวเอง ด้วยการจ่ายเงินโฆษณาเป็นต้น
ทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้? พวกเขาสูญเสียความสามารถในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างไร? เพราะอะไร? ถ้าพูดง่ายก็เพราะพวกเขาใหญ่เกินไป
การที่พวกเขาใหญ่เกินไปนี่เองทำให้พวกเขาจำเป็นต้องหานวัตกรรมจากภายนอกในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งความรวดเร็วที่ว่าก็คือการซื้อบริษัทนั่นเอง… วันนี้พอแค่นี้ก่อน เดี๋ยวมาเล่าต่อคราวหน้า ว่าบริษัท startup ที่สนใจจะต้องทำอย่างไรต่อไป