ในยุคที่ใครๆ ก็ใช้งานออนไลน์ คนที่กำลังปรับตัวเข้าสู่โอกาสนี้ ย่อมมองหาวิธีการ เครื่องมือ และการเริ่มลงมือทำนั้น จำเป็นต้องมีอะไรบ้าง หลายคนคงจะสงสัย เพราะการเข้าใช้งานบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่าง Facebook, Twitter, Youtube ในฐานะผู้ใช้งานนั้น ทุกอย่างฟรีหมด เสียแค่ค่าอินเทอร์เน็ตที่เข้าใช้งานในแต่ละเดือน แต่หากคุณต้องการเข้ามาเปลี่ยนจากบทบาทการเป็นผู้เสพคอนเทนต์มาเป็นผู้สร้างคอนเทนต์แล้วละก็ มาดูสิว่าจะต้องเจอค่าใช้จ่ายอะไรกันบ้าง
Blogger – Website
แน่นอนว่าสำหรับคนที่อยากเป็นบล็อกเกอร์เน้นเรื่องงานขีดๆ เขียนๆ หรือให้ความรู้แก่ผู้อ่าน คุณจะต้องมีเว็บไซต์ เป็นของตัวเองก่อน การมีเว็บไซต์ได้นั้น มีช่องทางเว็บไซต์ที่มีรูปแบบของเว็บฟรีให้เลือกใช้งานได้มากมาย สิ่งที่คุณต้องเสียเงินก็คือค่าโฮสต์ และโดเมนเนม
โดยช่องทางสำหรับสร้างเว็บไซต์ฟรีนั้น มีให้เลือกใช้งานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น blogger ของ gmail หากคุณมีบัญชีจีเมล์อยู่แล้ว ก็สามารถเลือกเชื่อมต่อระบบและจ่ายค่าใช้งานระบบแบบตัดบัญชีได้เลย
ยกตัวอย่าง Wix.com ช่วงนี้ผู้เขียนจะโดนยิงแอดโฆษณามาบ่อยมาก พอลองเข้าไปดูก็จะมีให้เราตอบคำถามเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ที่เราต้องการสร้างเว็บ โดยอาจจะเลือกเชื่อมต่อกับบัญชีเฟสบุคหรือจีเมล์ก็ได้ จากนั้นก็ปรับแต่งตามความสะดวกของคุณ จากนั้นก็เลือกจ่ายเงินค่าใช้บริการแพลตฟอร์มตามสิ่งที่คุณได้ต้องการเลย ไม่ต้องเสียเวลาโอนย้ายข้อมูลให้ยุ่งยาก
ยังมีเว็บไซต์ฟรีให้เลือกใช้งานอีกมากมาย แค่ลองพิมพ์คำว่า free website ก็เลือกได้ตามใจหรือจะเลือก blog free ก็มีมากมายทั้ง blogger, wordpress, webnod, creativeblog เป็นต้น ถูกใจค่ายไหนก็กดซื้อกันได้
ซึ่งการที่คุณมีเว็บไซต์หรือบล็อกเป็นของตัวเองก็เหมือนกับการมีหน้าร้าน หรือนามบัตร ที่จะแสดงความเป็นตัวตนของคุณ หากแบรนด์หรือธุรกิจอยากจ้างให้คุณมาช่วยงานก็จะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
ถ้าให้ประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับการทำเว็บไซต์นั้น ถ้าทำเองแบบไม่เน้นโปรแกรมที่ยุ่งยากเฉลี่ยที่ 1,500-5,000 บาทต่อปี (สำหรับโปรแกรมของบล็อกเกอร์ที่เสียแค่ค่าโดเมน) ก็น่าจะได้อยู่ แต่ถ้าเป็นเว็บไซต์อลังการขายของโปรแกรมเพียบก็เริ่มต้นที่หลักหมื่นกันไปเลย
Youtuber – Game Caster
อาชีพที่เด็กรุ่นใหม่ใฝ่ฝัน แต่ทราบไหมคะ ว่าการเป็นยูทูปเบอร์หรือนักแคสท์เกมต่างก็ต้องลงทุนทั้งนั้น แม้จะมีแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง Youtube ให้ใช้งานอยู่แล้ว แต่ด้วยปริมาณของคอนเทนต์ในยูทูปที่มีเยอะมาก การจะสร้างตัวตนหรือลายเซ็นต์ของตนเองให้ออกมาดีและมีคนอยากติดตามนั้น ก็ต้องมีการลงทุนอุปกรณ์กันบ้าง ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ไฟ กล้อง หรือแม้แต่โปรแกรมตัดต่อ ต่างก็เป็นเงินทองทั้งนั้น
แม้หลายคนจะบอกว่าใช้แค่มือถือเครื่องเดียวก็สามารถเป็นยูทูปเบอร์ได้ แต่เชื่อหรือไม่คะว่ายูทูปเบอร์เกือบทุกคนจะต้องนำคลิปที่ถ่ายมานั้น ผ่านกระบวนการตัดต่อ ใส่เอฟเฟ็กต์ หรือทำภาพประกอบให้สวยงาม ถึงจะบอกว่าเป็นการถ่ายทำแบบเป็นสถานการณ์จริง แต่การจะทำเนื้อหาให้ดีและผู้ชมอยากกดติดตามต่อนั้น ควรจะมีการเตรียมความพร้อมให้ดีก่อนการถ่ายทำ
หากเขียนสตอรี่บอร์ดไม่เป็นก็ควรรู้จักการวางแผนงาน เตรียมสคริปต์หรือเรียงลำดับสิ่งที่จะถ่ายทำให้เป็นขั้นตอนก่อน เพราะการวางแผนที่ดีนั้นจะช่วยให้คุณเป็นยูทูปเบอร์ที่เล่าเรื่องราวได้ต่อเนื่อง และเส้นเรื่องก็จะน่าติดตามมากขึ้น ลองจินตนาการว่าคุณเป็นคนดูสิคะ ถ้าเจอคลิปที่โดนใจแต่เส้นเรื่องโดดไปมา ไม่ต่อเนื่องหรือเรื่องราวไปไม่สุดก็ตัดจบ คุณจะอยากกลับมาติดตามต่อหรือไม่
ส่วนค่าใช้จ่ายในการเป็นยูทูปเบอร์นั้น ต้องบอกว่าเปิด Shopee หรือ Lazada แล้วเลือกระดับการลงทุนที่ไหวเลยค่ะ เพราะกล้อง ไมค์ ขาตั้ง มือถือ มีราคาหลากหลายมาก แล้วก็รสนิยมความชอบของแต่ละคนก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นเลือกที่เหมาะสมและคุณภาพดีเหมาะกับการใช้งานดีกว่าค่ะ ถ้าพอจะมีกำลังทรัพย์ก็เลือกซื้ออุปกรณ์ดีๆ ไปเลย อีกอย่างคือต้องมั่นใจด้วยนะคะว่าตั้งใจจะทำจริงๆ ในระยะยาว เพราะถ้าลงทุนไปมากแล้วถอดใจเสียก่อนก็น่าเสียดายนะคะ
Podcaster
การเป็นพอดแคสเตอร์ในยุคที่มีคนฟังเยอะมากกว่าเมื่อ 1-2 ปีก่อนถือว่าเป็นเรื่องดีใช่ไหมคะ แม้ว่าปริมาณของคอนเทนต์ในพอดแคสต์ที่มาจากพอดแคสเตอร์ชาวไทย ยังมีจำนวนไม่เยอะเท่าต่างประเทศ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าถามถึงความหลากหลายเรียกได้ว่ายังมีน้อยและซ้ำๆกันอยู่ เช่น ยูธูปที่เน้นเล่าเรื่องผี Mission to the Moon ที่พูดเกี่ยวกับเรื่องชีวิตการทำงานอย่างไรให้มีความสุข Auto Inside ของเว็บไซต์การตลาด Brand Inside ที่เล่าเรื่องวงการรถยนต์ หรือ The Power Game ของพี่หนุ่มเมืองจันท์ ที่เล่าเรื่องการเมือง เป็นต้น
ซึ่งชื่อรายการที่เรียกมานั้น เรียกว่าทำมานานและมีจุดยืนของรายการที่ชัดเจนมาก การเป็นพอดแคสเตอร์ที่ดีนั้น ต้องมีเรื่องราวที่น่าสนใจมาเล่าโดยตลอด แบบไม่ต้องเห็นหน้า แต่เสียงต้องได้ คือไม่ได้หมายความว่าเสียงหล่ออย่างเดียว แต่น้ำเสียง จังหวะการพูด เรื่องราวที่เล่า เสียงประกอบในแต่ละช่วงต้องสนุกและได้จังหวะโบ๊ะบ๊ะ จะช่วยให้คนอยากฟังจนจบ
สำหรับตัวผู้เขียนเอง ชอบฟังพอดแคสต์ของต่างประเทศมาก ไม่ว่าจะเป็น BBC News ที่เป็นการเล่าเรื่องข่าวและวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ TED TALK หรือ China Tech talk เป็นการเล่าเรื่องแวดวงเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพของจีน เป็นต้น ถ้าดูจากลิสต์ในระบบพอดแคสต์ของต่างประเทศจะเน้นเรื่องการเรียนรู้เยอะมาก ทั้งสอนภาษาอังกฤษ เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น หรือเล่าประสบการณ์ใช้ชีวิตต่างๆ เรียกได้ว่าเลือกฟังได้ตามใจชอบ
แน่นอนว่าคนที่อยากทำอาชีพนี้ ต้องมีทั้งหูฟัง ไมโครโฟน โปรแกรมพอดแคสต์ โปรแกรมตัดต่อเสียง เป็นต้น รวมถึงบางคนที่ตั้งใจทำให้เป็นธุรกิจจริงจัง การมีห้องเก็บเสียง ก็เป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่ดีงามมาก เพราะจะเก็บเสียงและไม่ให้เสียงจากข้างนอกเล็ดลอดมารบกวนการทำงาน ไปจนถึงการทำงานที่ราบรื่นกว่าการอัดเสียงในสถานการณ์ที่ควบคุมยาก
ด้านการลงทุนในการเป็นพอดแคสต์เตอร์นั้น สำหรับผู้เขียนเองอยากให้ลองใช้แค่โทรศัพท์มือถือดีๆ สักเครื่องกับหูฟังที่แถมมากับเครื่องก่อน และอยู่ในห้องเงียบๆ พูดตามสคริปต์ที่คิดสักชั่วโมงและลองฟังเนื้อหาว่าต่อเนื่องดีหรือยัง (จะลองให้คนใกล้ชิดฟังและคอมเมนต์มาก็ดีนะคะ) ถ้าทำสัก 10 ครั้งแล้วรู้สึกว่า เฮ้ยย นี่มันทางของชั้น ก็ค่อยลงทุนซื้ออุปกรณ์ดีๆ ก็ยังไม่สาย เพราะการเป็นพอดแคสเตอร์นั้นอาจเรียกได้ว่าลงทุนน้อยที่สุด แต่ใช้พลังมากที่สุดเลยค่ะ เพราะต้องพูดคนเดียวเก่งแค่ไหนให้น่าฟัง (ในกรณีที่ไม่มีพิธีกรร่วมนะคะ) ผู้เขียนจึงแอบรู้สึกว่าเป็นงานยากที่น่าลองมากค่ะ
Influencer – Online Merchants
ทั้งสองอาชีพนี้ อาจจะมีความใกล้กันมากๆ จนแทบจะเรียกว่าผันตัวไปทำอาชีพใดก็ได้ เพราะใช้ประสบการณ์และความสามารถใกล้ๆ กัน ต่างกันตรงที่อินฟลูเอนเซอร์เน้นพูดและแนะนำสินค้าให้มาก คือต้องพรีเซนต์สินค้าให้เก่งเพื่อให้คนอยากกดซื้อและแบรนด์อยากจ่ายเงินจ้าง เพราะขายเก่งงงงงง
แต่แม่ค้าออนไลน์นั้น จะต้องมีความสามารถในการถ่ายรูปให้สวย เขียนอธิบายให้เก่ง ซื้อแอดบนแพลตฟอร์มให้เป็น ที่สำคัญคือต้องเก่งเรื่องการตอบคำถาม มีทักษะการตอบที่จูงใจให้คนอยากคลิกซื้อเมื่อหมดข้อสงสัย ไม่ใช่ว่ายัดเยียดสินค้าให้ซื้อเพียงอย่างเดียว เพราะลูกค้าแต่ละคนก็มีเป้าหมายในใจเช่นกัน และไม่ว่า Journey ของลูกค้าจะยาวแค่ไหน ถ้าปิดการขายได้ในการแชทครั้งเดียวแสดงว่าแอดมินคนนั้นเก่งเรื่องการจูงใจ หรือถ้าไม่อย่างนั้นก็คือลูกค้าตั้งใจที่จะซื้อกับเราอยู่แล้ว เขาแค่ต้องการความมั่นใจถ้าเราทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นได้โอกาสปิดการขายก็ไม่ไกลแล้ว
ส่วนเรื่องของการลงทุนนั้น อินฟลูเอนเซอร์มีการลงทุนที่คล้ายกับยูทูปเบอร์ในเรื่องของอุปกรณ์อย่างกล้อง ไฟ ไมโครโฟน แต่ที่เพิ่มเติมมาคือ อินฟลูเอนเซอร์ก็ต้องพูดเก่ง รู้เรื่องเกี่ยวกับสินค้าที่จะแนะนำได้ดี มีทักษะในการพูดและทดลองใช้งานสินค้า เพื่อแนะนำได้ตามขั้นตอน เพื่อจูงใจให้คนที่เข้ามาเห็นคอนเทนต์ของเราอยากทำตามสิ่งที่เราแนะนำ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีรายได้เสริมจากการแนะนำสินค้าที่เรียกว่า Affiliate Marketing ด้วย แม้เงินจะไม่เยอะเท่ากับแบรนด์จ้างงานตรงก็ตาม
ทางด้านของแม่ค้าออนไลน์ก็แน่นอนว่าต้องลงทุนทั้งสินค้าและทุ่มเทเรื่องงานบริการ เพราะเท่ากับว่าคุณกำลังเป็นเจ้าของธุรกิจคนหนึ่ง และช่วงแรกของการทำงานคุณก็ต้องสามารถบริหารจัดการทุกอย่างได้เอง ทั้งสั่งซื้อสินค้า รับออเดอร์ จัดส่งและตอบแชท เมื่อประสบความสำเร็จหรือขายได้ดีก็ค่อยคิดเรื่องการลงทุนแรงงานมาช่วยทีหลังได้
หรือถ้าใครอยากทดลองขายของแต่ไม่มีเงินลงทุนก็ลองทำธุรกิจแบบ Online Dropshipping ก็ได้ค่ะ เป็นการขายสินค้าเหมือนกัน เพียงแต่เราทำหน้าที่รับออเดอร์ ตอบคำถาม ส่งออเดอร์สินค้าไปให้เจ้าของสินค้าตัวจริงจัดการส่งให้กับลูกค้าและเราก็ได้รับเงินส่วนต่างจากการขาย โดยจะมีธุรกิจรับผลิตสินค้าแต่ขายออนไลน์ไม่เก่งก็เลือกใช้กลยุทธ์นี้ในการช่วยขยายแบรนด์เช่นกัน
ไม่มีการทำงานอาชีพใดไม่ต้องลงทุนนะคะ เพียงแค่ว่าอาชีพบนโลกออนไลน์แบบนี้ อาจจะเลือกการลงทุนตามใจฉันได้ คือไม่ต้องลงทุนพร้อมกันทั้งหมดในครั้งเดียว แต่ทดลองทำฟรีเป็นอาชีพเสริมไปก่อน เมื่อจริงจังและเห็นโอกาสในการเติบโตค่อยปรับมาเป็นอาชีพหลักก็ได้ ลองดูกันนะคะ ไม่แน่ว่าคุณอาจจะเป็นคนดังในโลกออนไลน์คนต่อไปก็ได้