Site icon Thumbsup

ทำไมแบรนด์ควรเริ่มสร้างช่อง TikTok ของตัวเอง ? คุยกับทีม The Zero กับการดูแลช่อง TikTok ให้แบรนด์ดังในไทย

“ตอนนี้ทุกแบรนด์จะพูดเหมือนกันหมดว่า TikTok น่าสนใจมาก แต่น้อยแบรนด์ที่จะเริ่มเข้ามาใน TikTok ทั้งที่การลงทุนถูกกว่าช่องทางอื่นมาก” เป็นคำตอบที่ thumbsup ได้รับจาก ขจร เจียรนัยพานิชย์ หรือ @Khajochi ซึ่งเป็น MD ของบริษัท เดอะ ซีโร่ พับบลิชชิ่ง จำกัด

TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่เติบโตขึ้นและด้วยคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Next Gen) ที่เพิ่มมากขึ้น และเติบโตสูงที่สุดในโลกภายในเวลาไม่กี่ปี ก็มีผู้ใช้เทียบเท่า Instagram และแซงหน้า Twitter ไปแล้ว

แต่ความยากของแบรนด์ที่จะเข้าสู่โลก TikTok คือการสร้างคอนเทนต์ให้โดนใจ และถูกใจชาว TikTok เลยเป็นที่มาของบริการใหม่ Content Agency จากบริษัทเดอะ ซีโร่ ที่ปัจจุบันรับดูแลช่องทาง TikTok ให้หลากหลายแบรนด์ชื่อดังในไทยอยู่ตอนนี้

“ตั้งแต่มี TikTok และ Clubhouse เข้ามา เราในฐานะสื่อก็รู้แล้วว่าต้องเข้าใจและลงมือทำให้เกิด ซึ่งผมทดลองทำ TikTok ของตัวเอง ในชื่อ @khajochi  รวมถึงให้ทีมงานลองเปิดช่องต่างๆ ทั้ง MangoZero, มึนเกิล, GetTalks จนเรามีผู้ติดตามรวมกันกว่าล้าน Follower ยอดวิวหลายล้านวิว จนเริ่มมั่นใจว่า ถ้าเราดูแลคอนเทนต์ให้แบรนด์ น่าจะทำได้”

ขจรเล่าถึงที่มาในการเปิด Service ใหม่ ที่เกิดมาจากการได้ทดลองทำคอนเทนต์ด้วยตัวเอง และปั้นทีมงานจนมีความเชี่ยวชาญในแพลตฟอร์ม TikTok มากขึ้น

เดอะ ซีโร่ พับบลิชชิ่ง เป็นบริษัทสื่อออนไลน์ ที่มีเว็บชื่อดังในเครืออย่าง Mango Zero, Rainmaker, Thumbsup, Parents one รวมถึงมีบริษัทลูกคือ Gettalk Media ที่รับงานดูแลช่องทางใหม่ๆ ให้กับลูกค้า ดูแลงานโดยคุณพลสัน นกน่วม กรรมการผู้จัดการ

โดยพลสันเล่าว่าช่วงโควิด-19 ได้ลองให้น้องในทีมแมงโก้ซีโร่ ลองสร้างสรรค์ชิ้นงานออกมา ทำให้เรามีแอคเคาท์ใน TikTok หลายอันมากเพราะเราอยากลองทำหลายๆ รูปแบบ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีแนวทางที่แตกต่างกัน

อย่าง mango zero ก็จะเป็นการเล่าข่าวตามเทรนด์กระแสง่ายๆ มีผู้ติดตาม 181.6k ยอดไลก์ 3.8M มึนเกิร์ล เป็นเรื่องราวของสาวๆ มีผู้ติดตาม 86.6k ยอดไลก์ 2.2M พอน้องๆ ในทีมทำได้ประสบความสำเร็จและมีข้อมูลอัลกอริธึ่มมาคุยกัน ทำให้เรามั่นใจว่า TikTok อาจจะเป็น Journey ของธุรกิจสื่ออย่างเราในอนาคต

จากธุรกิจสื่อ สู่เส้นทางธุรกิจใหม่

การปั้นเพจสำหรับแบรนด์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เดอะ ซีโร่ มองว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจและแบรนด์ที่ต้องการเข้าสู่ออนไลน์ก็ยากที่จะเป็นที่จดจำบนแพลตฟอร์มใหม่เหล่านี้ หากไม่มีทีมงานที่เข้าใจในพฤติกรรมหรือเชี่ยวชาญจริงๆ

คุณขจร : เราเริ่มเข้าไปคุยกับบริษัทที่เราคุ้นเคยและก็เริ่มมีการทำแชนแนลของแบรนด์ให้ในรูปแบบต่างๆ ตามคอนเซ็ปต์ของแบรนด์นั้นๆ ซึ่งทั้งเราและลูกค้าก็รู้สึกว่ามันประสบความสำเร็จ ด้วยระยะเวลาที่ทำร่วมกันไม่นาน แต่มีผู้ติดตามหลักแสนทุกแอคเคาท์ ทำให้เรามั่นใจว่า นี่แหละคือเส้นทางของเรา

ด้วยภาษาของ TikTok ที่บอกว่า ‘Don’t Make Ads. Make TikToks’ นั่นคืออย่าไปคิดว่าเรากำลังทำโฆษณา แต่ให้คิดว่าเรากำลังทำ TikTok ซึ่งคอนเทนต์ที่เราสร้างสรรค์ใน TikTok แล้วเอาไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียอื่นๆ ก็ไม่ประสบความสำเร็จแบบเดียวกัน เพราะพฤติกรรมของผู้ใช้งานแต่ละโซเชียลจะแตกต่างกัน และถ้าเราไม่เข้าใจแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ดีพอ ก็ยากที่จะสร้างสรรค์คอนเทนต์ออกมาให้โดนใจผู้ชม

ดังนั้น ช่วงแรกของการทำคอนเทนต์บน TikTok ให้แก่แบรนด์ เราจึงต้องการลูกค้าที่เข้าใจและ get ไปกับมันคือต้องทันกระแส และเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งานแต่ละแพลตฟอร์มร่วมกัน เพราะการสร้างงานบน TikTok จะใช้เวลาตัดสินใจทันที รวมทั้งพร้อมที่จะลองผิดลองถูกไปด้วยกัน

การจะลงเม็ดเงินกับแพลตฟอร์มใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจง่ายๆ เหมือนการยอมจ่ายเงินซื้อแอดบนเฟซบุ๊กหรือยูทูปในยุคแรกๆ กว่าลูกค้าจะยอมจ่ายเงินซื้อโฆษณาบนช่องทางออนไลน์สักบาทเป็นเรื่องยากและไปทุ่มกับช่องทางออฟไลน์มากกว่า

พอมายุคนี้โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ยูทูปหรือเว็บไซต์ต่างๆ อยู่ในช่วงที่บูมมากแล้ว จะมาจ่ายเงินหลักร้อยหลักพันและได้ผู้ติดตามหลักล้านก็เป็นเรื่องยากแล้ว ซึ่งตอนนี้ TikTok ก็เป็นเหมือนยุคใหม่ของโซเชียลมีเดียแบบคลิปสั้นซึ่งเป็นเทรนด์ของอนาคต ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้กว่าจะปั้นจนเพจมีผู้ติดตามหลักแสนหลักล้านก็น่าจะต้องใช้เม็ดเงินเยอะเช่นกัน

ปั้นช่องไม่ยาก แต่สร้างคอนเทนต์ให้โดนจริตไม่ง่าย

คุณพลสัน นกน่วม กรรมการผู้จัดการ Gettalk Media เผยว่าการสร้างช่อง TikTok ให้กับแบรนด์เป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะมีความแตกต่างจากการสร้างของ Publisher หรือ Influencer ค่อนข้างมาก

ซึ่ง TikTok ทำให้เราเห็นวิธีคิด กลุ่มเป้าหมาย และความต้องการชัดขึ้น พอเราเข้าไปคุยกับแบรนด์ที่ต้องการเจาะตลาดคนรุ่นใหม่หรือ Next Gen ก็คลิกกันได้เร็ว ซึ่งคนรุ่นใหม่ในความหมายของเราไม่ใช่แค่เรื่องของอายุ แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรมการใช้งานโซเชียล การเข้าถึงและการตอบสนองต่อคอนเทนต์ไปด้วยกัน

ยกตัวอย่าง แบรนด์ที่เราเคยทำแอคเคาท์ให้คือ SF Cinema ช่วงโควิดโรงหนังปิดทำให้ธุรกิจโรงหนังเจอผลกระทบหนัก แต่เขาก็ต้องการที่จะสื่อสารแบรนด์ รวมทั้งต้องการที่จะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ เราก็สร้างคอนเทนต์ให้ตรงจริตของผู้ชมท่ีไม่สามารถเข้าไปในโรงหนังได้ โดยหยิบเอาแง่มุมต่างๆ เน้นการเล่าเรื่องแบบครีเอทีฟที่ใหม่และเรียลไทม์ ขายของก็ต้องขายให้สนุกและคนอยากดู ใช้เวลา 7-8 เดือนแรกมีคนติดตาม 1 แสนคน  จนถึงตอนนี้มีผู้ติดตามกว่า 126.3k มีคนกดไลก์กว่า 2.5M แล้ว

 

เผยข้อคิดสำหรับแบรนด์ที่อยากเริ่มทำ TikTok ของตัวเอง

ทาง The Zero ให้ข้อแนะนำสำหรับแบรนด์ที่สนใจอยากลองเปิดช่อง TikTok ของตัวเองดังนี้

 

คุณพลสัน : เราคงดูที่รูปแบบการทำงานก่อนว่าแบรนด์ต้องการที่สร้างสรรค์คอนเทนต์แบบไหน มีแนวคิดกับการเปิดแอคเคาท์ใน TikTok อย่างไร

“ตอนเราทำให้ CP ALL ก็จะมีการใส่มุกและความสนุกเข้าไปรวมกับการขายสินค้า ซึ่งคอนเทนต์ไหนที่ไม่เวิร์กเราก็จะมีการปรับจูนให้ตลอด พอลูกค้ากลับไปทำคอนเทนต์เองก็ยังรู้แนวทางในการสร้างคอนเทนต์ ยอดรับชมก็เติบโตไปในทิศทางที่ดี”

คุณขจร : การที่เราอยากชักชวนให้แบรนด์มาทำคอนเทนต์บน TikTok นั้น อาจเป็นเพราะการใช้แชนแนลตัวเองขายของย่อมดีกว่าการจ้างผ่านอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหมด คือการทำคอนเทนต์ครีเอทีฟที่มาจากแบรนด์จะสร้างการจดจำได้ดีกว่าการไปพึ่งพาคนอื่น หากรอต่อไปเรื่อยๆ เราอาจจะเสียโอกาสในการเป็นแบรนด์ในใจของลูกค้าได้

ทุกแบรนด์ควรรู้ตัวเองว่า ลูกค้าของเราคือกลุ่มไหน ซึ่งจะเลือกลูกค้าทุกกลุ่มในทุกแพลตฟอร์มไม่ได้ คือบางแบรนด์ทำออนไลน์ไม่เวิร์กแต่ทำออฟไลน์คือดีมาก ดังนั้น แบรนด์จึงควรรู้เอกลักษณ์ของตัวเองว่าเหมาะกับสื่อแบบใด หรือถ้าอยากจะเช็คก่อนว่าแบรนด์ของตนเองเหมาะกับช่องทางแบบไหนก็คือต้องทำให้ต่อเนื่อง เพราะโลกหมุนเปลี่ยนไปทุกวัน การเรียนรู้ในแต่ละช่องทางก็จำเป็นต้องปรับให้ทันสมัยทุกวัน

หากสนใจอยากให้ The Zero เข้าไปให้คำแนะนำหรือจ้างให้เราช่วยดูแลคอนเทนต์ของคุณ สามารถติดต่อมาได้ที่  sale@thezero.co.th