เรื่องของการขโมยผลงานและคัดลอกผลงานนั้น ยังคงเป็นปัญหาที่เจอได้เสมอ ยิ่งโลกออนไลน์เปิดกว้างในการเข้าถึงข้อมูลมากมายทั่วโลก และนั่นก็เป็นเรื่องง่ายมากที่คนขโมยหรือก็อปปี้ผลงาน บอกว่าได้รับ “แรงบันดาลใจ” จากใครสักคน และนั่นยังทำให้เราเห็น “แรงบันดาลใจ” ในการนำไปใช้อยู่บ่อยครั้ง
หากเอ่ยถึงกรณีล่าสุด คงหนีไม่พ้น มิว ศุภศิษฏ์ ลบคลิป หลังถูกชาวเน็ตติง เลียนแบบเอ็มวีของ “แจฮยอน NCT ซึ่งมิวได้ออกมาขอโทษและลบคลิปไป ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นการลอกเลียนแค่มีบางส่วนที่คล้ายคลึง แต่เพื่อลดแรงกระทบที่เกิดบนโซเชียลมีเดีย แต่ก็ยังมีอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้น
อย่างคดีที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ของ เดอะทอย ที่มีคนออกมาแฉว่ามีการสร้างภาพลักษณ์ การแต่งตัวและเนื้อหาแบบเดียวกับศิลปินต่างประเทศ
วันนี้เราจะมาแนะนำหากเกิดปัญหาควรทำอย่างไร และทำความรู้จักเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์กัน
คัดลอกผลงานคืออะไร
การคัดลอกผลงาน หรือ Plagiarism คือการนำความคิดของคนอื่นโดยไม่มีการอ้างอิงที่ถูกต้องไปใช้เป็นผลงานของตนเอง ถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการโกงและเป็นการกระทำความผิดเชิงวิชาการอย่างร้ายแรง ไม่ว่าผลงานที่นำมาใช้งานนั้น จะเป็นรูปแบบของการแสดงความคิด แนวคิด (เชิงวรรณกรรม งานศิลปะ ดนตรี งานประดิษฐ์) บางช่วงบางตอนของข้อความหรือผลงาน เป็นต้น (ทำความรู้จักการขโมยผลงานเพิ่มเติม ที่นี่)
จัดการอย่างไรเมื่อโดนก็อป
ทีมงาน thumbsup ได้สอบถามคุณพลสัน นกน่วม บก.แมงโก้ซีโร่ ที่เจอปัญหาก็อปปี้ผลงานของน้องๆ ในทีมบ่อยครั้ง ทั้งการนำภาพกราฟิกไปแชร์ในเพจของตัวเองแล้วตัดโลโก้ออก นำไปใช้อ้างอิงแบบไม่ให้เครดิตที่มา ไปจนถึงนำภาพไปใช้ในเชิงโฆษณา มาดูกันว่าเขาจัดการปัญหานี้อย่างไร
“วิธีการของผมคือแชทไปเจรจาแบบซึ่งหน้าก่อนครับ อาจจะติดต่อไปที่เพจหรือแอดมินของเขาก่อนว่าเรารู้ว่าคุณก็อปปี้นะ ให้ลบทันที ซึ่งปกติทุกคนที่เจอผมทักไปก็จะลบแต่โดยดีนะครับ”
(เคยเจอเคสที่รุนแรงหรือสื่อใหญ่ขโมยผลงานไหมคะ)
“ถ้าเป็นแมงโก้ซีโร่ยังไม่เคยเจอขนาดนั้นนะครับ แต่ถ้าเป็นเว็บในเครือ หรือเพื่อนในสื่อออนไลน์ที่เคยเจอก็มีบ้างครับ
(แก้ไขปัญหายังไงคะ)
“ถ้านักเขียน ศิลปิน หรือคนทำงานอิสระนะครับ ถ้าเจอปัญหาคัดลอกผลงานจากสื่อใหญ่นะครับ อย่างแรกคือเก็บหลักฐานทั้งหมดไปแจ้งความกับตำรวจเลยครับ อาจจะใช้เวลาในการฟ้องร้องนานหน่อย เพราะต้องยื่นเอกสารและหลักฐานผ่านทนาย กว่าจะส่งยื่นฟ้องศาลอาจจะใช้เวลาสักหน่อย แต่ถ้าเราถูกจริง ก็จะได้ตามข้อเรียกร้องแน่ๆ ครับ”
แต่การเรียกฟ้องร้องค่าเสียหายนั้น ไม่ได้หมายความว่าใช้ได้กับทุกกรณีนะคะ อาจจะต้องดูจากความผิดพลาดของสื่อใหญ่หรือคนก็อปปี้แต่ละคน ถ้าเขาผิดจริงก็อาจได้ตามข้อเรียกร้อง แต่ถ้าเขามีหลักฐานหักล้าง เราก็อาจจะแพ้ได้เช่นกัน ต้องดูตามแต่กรณีไปนะคะ
รู้ว่าผิดทำไมยังลอก
นอกจากนี้ เราได้เห็นบทความจาก RainMaker เกี่ยวกับการขโมยผลงานที่ไม่หมดไปสักที แล้วเราในฐานะนักเขียนควรจะจัดการอย่างไร หากไม่ต้องการวุ่นวายกับการฟ้องร้องให้เสียเวลา
มีแนวทางที่น่าสนใจที่ผู้เขียน คือ การเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์นั้น มีจำนวนที่เยอะขึ้นกว่านักเขียนประจำจึงมีโอกาสที่จะเจอปัญหาคัดลอกผลงานได้ง่ายมาก เพราะคนที่เป็นนักเขียนฟรีแลนซ์อาาจจะคัดลอกข่าวบางส่วนมาเป็นเนื้อหาของตัวเอง การป้องกันคือ อาจจะเป็นการตักเตือน หรือยื่นข้อเสนอให้เขาไม่ทำอีก ไม่อย่างนั้นจะแจ้งความ หรืออาจจะมีการเจรจายอมความกันเองแบบไม่ต้องไปถึงขั้นตอนของตำรวจและศาล
สรุปความคิดเห็นผู้เขียน มองว่าเรื่องของการก็อปปี้ข้อความนั้น เป็นเรื่องยากที่จะไม่เจอยิ่งคุณเป็นช่องทางที่น่าเชื่อถือหรือมีบทความที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกับใคร ย่อมกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคน แต่ก็ไม่อยากให้คนที่คิด สร้างสรรค์เนื้อหาหรือศิลปะ รู้สึกท้อใจว่าอุตส่าห์ทำเองเต็มที่ แต่มีคนได้ประโยชน์แทนเราไปซะอย่างนั้น อยากให้ลองคิดกลับกันค่ะว่า ความพยายามของเราสักวันต้องมีคนเห็นและการที่เราเก่งกว่าหรือพัฒนาดีกว่านั้น คือการขัดเกลาความสามารถของตนเอง ไม่อยากให้ท้อนะคะ เพราะคนที่เก่งจริงเท่านั้น ถึงจะเป็นผู้ที่อยู่รอดค่ะ