Wongnai แพลตฟอร์มค้นหาร้านอาหารและบริการ ที่รู้จักกันดีในปัจจุบันบอกเอาไว้ว่า การสร้างกลุ่มแฟนบนโลกออนไลน์ที่ไม่เคยรู้จักสื่อของเรามาก่อน ก็เหมือนกับการ ‘จีบคนไม่รู้จักให้มาเป็นแฟน’
โดยเริ่มจากการ ‘สร้างคาแรคเตอร์ที่โดดเด่น เพื่อให้คนบนโลกออนไลน์จำได้’ เสียก่อน เพราะการสร้างคาแรคเตอร์ให้คนสัมผัสได้ เหมือนเราเริ่มจากการไปทำความรู้จักคนอื่น แล้วค่อยๆ จีบจากคนไม่รู้จักให้มาเป็นแฟนกันนั่นแหละ ลองไปดูเทคนิคดีๆ ที่เหมาะสำหรับแบรนด์ที่ต้องการสร้างกลุ่มแฟนคลับในโลกออนไลน์กันค่ะ
ขั้นตอนการสร้างกลุ่มแฟนบนออนไลน์ ที่จริงก็เหมือนการเริ่มต้นมีความรักที่เราต้องมีลำดับขั้นตอนเพื่อพิชิตหัวใจของคนที่เราหมายปองนั่นเอง
1. หากลุ่มเป้าหมาย
ดูว่าแพลตฟอร์มที่จะเราต้องการโฟกัสคืออะไร แล้วตัดแพลตฟอร์มที่ไม่ได้เกี่ยวข้องออกไป เมื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้แล้วก็พยายามที่จะ ‘get to know her’ หรือศึกษาว่าคนที่อยู่ในแพลตฟอร์มที่เราเลือกมาแล้วนั้นชอบอะไรกันแน่ มีความสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ อย่างตัว Wongnai ที่มองหาว่าผู้ติดตามจำนวน 11 ล้านคนของตัวเองนั้นสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ
ผลปรากฎว่าทุกแพลตฟอร์มที่ปล่อยไปสิ่งที่คนสนใจที่สุดคือเรื่อง ‘อาหาร’ แล้วเมื่อเจาะลึกลงไปอีกจะเป็น ‘อาหารอีสาน’ หรือสิ่งที่ทานได้ง่ายๆ ออกแนวเป็นเมนูท้องถิ่น เมื่อทราบแล้วว่าผู้คนชอบเมนูแนวนี้ สุดท้ายก็เจาะลึกลงไปว่าอาหารอีสานที่คนชอบมากคืออะไร ทำให้ค้นพบว่าเป็น ‘ไก่อบฟาง’ เรียกได้ว่าคนที่เราจะจีบนั้นชอบเมนูอาหารท้องถิ่น และชอบไก่อบฟาง
2. ชวนออกเดต
การเป็นคนธรรมดาอาจำให้ ‘โลกไม่ค่อยจำ’ เราสักเท่าไร ดังนั้นการทำตัวโดดเด่นอาจช่วยทำให้คนที่เราจีบสนใจเรามากขึ้น วิธีการคือจับ ‘คาแรกเตอร์’ ที่เหมือนการจับตัวเองมาแต่งตัว อย่างนายฮ้อยและล่ามทรงที่เราคุ้นตากัน การมีสองคนทำให้มีความกลมกล่อมของคาแรคเตอร์และน่าสนใจมากขึ้น
แต่รู้ไหมว่าก่อนที่นายฮ้อยกับล่ามทรงจะบูมขนาดนี้ จริงๆ เขาเคยทำคลิปเดี่ยวๆ มาก่อน เกี่ยวกับเมนูอาหารอีสาน ซึ่งมันก็ไม่ได้บูมขนาดนั้น เพราะการใช้คนๆ เดียวมาเล่าเรื่องอาจไม่ได้ฮิตพอ เราเลยต้องหา ‘จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย’ นั่นคือล่ามทรงมาประกอบด้วยจนเป็นส่วนผสมที่ลงตัว
3. ทำให้เธอรู้สึกว่าเป็นคนพิเศษ
ทำอย่างไรก็ได้ให้เธอรู้สึก ‘พิเศษที่สุด’ และได้รับคุณค่ามากกว่าคนอื่น นอกเหนือจากคาแรกเตอร์สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดหลักคือการทำของให้มันมีประโยชน์กับ User ถ้าเรามองข่าวดังๆ ที่มีคนแชร์เป็นหมื่นเป็นแสน เมื่อเวลาผ่านไปมันก็จะหายไป เพราะคนจะลืมไปและมีข่าวใหม่เกิดขึ้นมาอีก แต่การทำคอนเทนต์ให้มีประโยชน์แล้วส่งต่อมันไปจะยิ่งมีคุณค่ากับคนอื่น ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ยังมีประโยชน์ และได้รับความสำคัญอยู่นั่นเอง
โดยคำว่า ‘มีประโยชน์’ เราสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 สายหลักๆ
- ช่วยคนแก้ปัญหาได้ เช่น การสอนทำอาหาร หรีอการรีวิวอาหาร
- ให้แรงบันดาลใจ เช่น การถ่ายรูปอาหารสวยๆ การตัดต่อวิดีโอให้น่าสนใจ
- การทำให้คนดูคาดไม่ถึง เหมือนการดูหนังที่มีฉากหักมุม
4. ทำตัว ‘ซื่อสัตย์ & ให้เกียรติ’ เพื่อให้เขาอยู่กับเราไปนานๆ
ในแง่ของการทำคอนเทนต์คือ ‘ความสม่ำเสมอ’ ทั้งการปล่อยงานออกมาให้ต่อเนื่อง การรักษาคุณภาพงานให้ดีขึ้น เพราะไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกิดเป็น ‘ไวรัล’ ไม่นานคนก็จะลืมมันไป และจะมีคนที่เกิดขึ้นมาใหม่ตามมาเสมอ ดังนั้นจึงไม่ควรคาดหวังผลลัพธ์ใหม่ๆ จากการกระทำเดิมๆ
โดย Wongnai มีทำคอนเทนต์อยู่บนหลักของ OKR ในการวัดผล ในทุกๆ 3 เดือนมีการให้พนักงานตั้งเป้าหมายว่าอยากจะทำอะไร เช่น อีก 3 เดือนข้างหน้าเป้าหมายอีก 3 เดือนคือการสร้าง KOL ขึ้นมาใหม่ ส่วนการวัดผลคือต้องขายได้ หรือทำให้มี follower เพิ่มขึ้น เมื่อผ่านไปทุกสัปดาห์ก็นั่งเก็บสถิติว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้นั้นไปถึงไหนแล้ว จากนั้นก็สรุปเป้าเมื่อหมดเวลาว่าเป้าหมายที่ตั้งตรง objective หรือเปล่า ซึ่งถ้าทำไม่ได้ก็เลิกทำสิ่งนั้นหรือพัฒนาให้ดีขึ้นแล้วหาเป้าหมายใหม่แทน
5. ติดตามผล
‘เวลาเราทำอะไรเพื่อใครสักคน เราก็อยากรู้ว่าเขาจะชอบไหม’ ทุกคอนเทนต์ที่ทำนั้นจะมีการเก็บสถิติว่ามี ยอด view หรือ comment จำนวนเท่าไร และพูดถึงเรื่องอะไรบ้าง สิ่งไหนที่คนดูอยากให้พัฒนาก็ควรเก็บมาปรับปรุงอย่ามองข้ามและนำมาวัดผล หรือ retention rate, complete view ก็ต้องนำมาวิเคราะห์ประกอบด้วย
เช่น วิดีโอทั่วไปที่ทำแล้วไม่มีนายฮ้อยจำนวนเฉลี่ยของคนดูจนจบจะอยู่ที่ประมาณ 30% แต่ใน Youtube คลิปวิดีโอสั้นๆ นั้นคนแทบจะไม่ดูเลย กลับกันกับคลิปวิดีโอบน Youtube ที่มีคนเล่าเรื่องนั้นยอดคนดูจะสูงมาก มันสำคัญมากในการเก็บผลตอบรับว่าคนดูชอบตอนไหน เบื่อตอนไหน ทำไมถึงเลือกที่จะข้ามฉากนี้ไปดูอีกฉากแทน
ทั้งหมดเป็นกลยุทธ์ในการจีบคนไม่รู้จักที่น่าสนใจ และสามารถนำไปปรับใช้กับแต่ละแบรนด์ได้ เพื่อให้เรามีฐานแฟนคลับตัวยงที่เหนียวแน่นนั่นเอง 😀