Site icon Thumbsup

ควรทำอย่างไรเมื่อผลการประเมิน KPI ไม่ดีอย่างที่คิด

พอถึงช่วงใกล้สิ้นปี หลายๆ คนอาจจะตั้งตารอโบนัส แต่กว่าจะไปถึงโบนัส ก็ต้องฝ่าด่านประเมินผลงานประจำปีเสียก่อน บางองค์กรอาจจะประเมินตาม KPI ที่ตั้งเอาไ้ว้เป็นรายปีหรือรายครึ่งปี บางองค์กรก็อาจจะเป็นการประเมินแบบไม่เป็นทางการจากหัวหน้างานและทีม สำหรับคนที่ได้รับผลการประเมินแบบไม่ค่อยจะดีนัก ก็อาจจะรู้จักโกรธ อาย หัวเสีย และอาจจะแสดงออกด้วยการระบายความไม่พอใจลงในโซเชียลมีเดีย ต้องบอกว่านั่นเป็นวิธีที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไรนัก วันนี้เลยมีบทความที่ว่าด้วยเรื่องการรับมือกับผลการประเมินแย่ๆ มานำเสนอให้ลองเอาไปทำตามกันค่ะ

คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

สังเกตมั้ยคะว่าฟีดแบ็กลบๆ ที่เราได้รับมาจากหัวหน้ามักจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราบอกตัวเอง เช่น เรื่องที่เราคิดว่าเราเก่ง เรื่องที่เราคิดว่าเรามีศักยภาพมากที่สุด แต่อย่าปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นมาทำให้คุณสูญเสียความเป็นตัวเอง

Mitchell Marks ผู้สอนด้านการจัดการ จาก San Francisco State University เสนอให้คิดว่าการประเมินคือประตูที่จะนำไปสู่การพัฒนาตัวเอง ถ้าคุณไม่เคยได้รับการประเมินแบบติดลบเลยแม้แต่ครั้งเดียวก็คงเป็นเรื่องแปลก เพราะมันมีวิธีคิดในเรื่องนี้อยู่ 2 มุม คือ คุณเก่งมาก หรือ คุณตั้งเป้าหมายไม่ท้าทายความสามารถของตัวเองเลย ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลังก็แปลว่าคุณจะไม่มีวันพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้

คำวิจารณ์ที่ได้รับคือสัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังจัดการกับสิ่งที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ ถ้าคำแนะนำนี้ยังไม่ทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น เราก็ยังมีวิธีฟื้นตัวหลังจากโดนผลการประเมิน KPI ทำร้ายจิตใจมาฝากเช่นกันค่ะ

ตั้งสติก่อนโต้ตอบ

จริงๆ แล้วการควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติเมื่อเจอเรื่องแบบนี้มันเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณเคยชินกับการโดนชมมาตลอด แต่มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะตั้งสติก่อนการแสดงอารมณ์หรือโต้ตอบกลับไป เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะโต้ตอบคนที่ประเมินด้วยอารมณ์รุนแรง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าให้ใช้เวลา 2-3 วัน เพื่อปล่อยให้คำวิจารณ์เหล่านั้นตกตะกอน หรืออาจจะระบายให้คนใกล้ตัวฟัง (แต่ให้ไกลจากคนในออฟฟิศหน่อยนะ)

มองหาจุดบอดของตัวเอง

คนเรามักจะมองข้ามข้อดีและข้อเสียของตัวเอง เพราะเราอยู่กับมันทุกวันจนเคยชิน เราจึงต้องการคนอื่นมาช่วยเราในเรื่องนี้ ดังนั้น ลองออกไปพูดคุยกับคนที่จะช่วยให้ฟีดแบ็กกับคุณได้ ไม่ใช่คนที่ไม่กล้าตำหนิเราอย่างตรงไปตรงมา

ลองถามตัวเองว่า “อะไรคือสิ่งที่น่าจะเป็นเรื่องจริงในผลการประเมินแย่ๆ ครั้งนี้” หรือ “เราเคยรู้มาก่อนหรือเปล่า” บางทีคุณอาจจะดูเกรี้ยวกราดฉุนเฉียวมากกว่าที่ตัวเองคิดเพราะมันเป็นสิ่งที่คนอื่นเท่านั้นที่จะบอกกับคุณได้ หรือเพื่อนร่วมงานอาจจะคิดว่าคุณเป็นพวกเสือปืนไวที่ชอบยิงไอเดียของคนอื่นทิ้งโดยไม่ได้ฟังให้จบ ถึงแม้ตัวคุณเองจะคิดว่า “นี่ฉันก็เป็นคนเปิดใจกว้างแล้วนะ” ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อได้รับการประเมินแบบแย่ๆ ที่ทำให้หัวใจคุณหล่นไปถึงตาตุ่ม ก็ลองออกไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานเพื่อหาที่มาที่ไป ทำให้มันชัดเจนว่าอะไรคือสาเหตุของคะแนนประเมินเหล่านั้น อย่าแยกตัวไปขบคิดเงียบๆ คนเดียว เพราะบางทีมันก็ไม่ช่วยให้คุณมองตัวเองได้ชัดเจนเท่าที่คนอื่นมองหรอก

ตั้งคำถาม

เมื่อคุณรู้สึกว่าสงบสติอารมณ์ได้ ต้องแน่ใจว่าเข้าใจผลการประเมินนั้นเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งมันอาจจะหมายถึงการกลับไปตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ

ข้อควรระวังคือการใช้น้ำเสียงและวิธีตั้งคำถาม เพราะคุณคงไม่อยากให้ตัวเองดูเป็นพวกไม่ยอมรับการประเมินแบบก้าวร้าว

ถามในสิ่งที่คุณไม่รู้และไม่เข้าใจ ถามให้มากที่สุด เช่น ถ้าหัวหน้าคุณบอกว่า “คุณเป็นพวกไม่กล้าเสี่ยง” ก็ลองขอให้ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ คุณอาจจะถามว่าเหตุการณ์แบบไหนล่ะ ที่แสดงให้เห็นว่าคุณเป็นแบบนั้น และในสถานการณ์นั้น คุณถูกคาดหวังให้ทำอะไร เป็นต้น

จงวางแผน

เป้าหมายของการประเมินคือการช่วยให้คุณพัฒนาการทำงานได้ คุณต้องเก็บคำวิจารณ์เหล่านี้มาลงรายละเอียดเป็นส่วนหนึ่งของแผนการทำงาน มันอาจจะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ  จัดลำดับความสำคัญของงานใหม่ หรือปรับวิธีเข้าหาเพื่อนร่วมงานใหม่ ซึ่งคุณก็ต้องให้เวลาตัวเอง 1 – 2 เดือน เพื่อที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ แล้วก็ค่อยๆ ถามความเห็นจากคนที่เกี่ยวข้องว่าการเปลี่ยนแปลงของคุณว่ามัน “ใช่” สิ่งที่ควรจะเป็นหรือเปล่า เพื่อให้การทำงานของคุณเป็นไปตามความคาดหวังของคนที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ให้คะแนนความสามารถของตัวเองในการรับมือกับคำวิจารณ์

จงจำไว้ว่าการประเมินเป็นสิ่งที่คุณควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่คุณควบคุมได้คือวิธีการที่จะรับมือกับมัน ลองจินตนาการดูว่าคุณมีโอกาสประเมินตัวเองเป็นครั้งที่ 2 แต่ไม่ใช่ประเมินผลการทำงานนะ เรากำลังพูดถึงคะแนนความสามารถในการรับมือกับคำวิจารณ์ต่างหาก

เปรียบเทียบกับการทำข้อสอบ คุณอาจจะเคยได้ F และถ้าคุณสามารถที่จะรับมือกับมันได้ดีมากจนต้องให้คะแนนความสามารถของตัวเองในส่วนนี้เป็น A นี่ต่างหากที่สำคัญ เพราะมันคือตัวกำหนดว่าการสอบคราวหน้าคุณจะได้ A หรือไม่

ถ้าคะแนนประเมินมันแย่นัก ก็โฟกัสไปที่การให้คะแนนตัวเองในการรับมือกับมัน เพราะการไม่ผ่าน KPI ไม่ใช่จุดสิ้นสุดในชีวิตการทำงาน

มองไปที่ภาพรวม 

เมื่อคุณได้ทบทวนดีแล้ว คุณอาจจะพบว่าการที่คุณทำงานได้ไม่เข้าเป้านั้นมีสาเหตุมาจากการอยู่ในตำแหน่งที่ผิด ไม่ใช่เพราะตัวคุณไม่มีความสามารถ แต่เป็นการใช้ความสามารถไม่ถูกที่ ซึ่งกว่าเราจะรู้ได้ว่าเราอยู่ผิดที่ผิดทางมันก็ต้องอาศัยการประเมินแบบนี้แหละ

บางทีการทำงานได้ไม่เข้าเป้าหมายอาจจะแปลว่าคุณไม่เหมาะกับองค์กร (หรือองค์กรไม่เหมาะกับคนแบบคุณ) ไม่ว่าคุณจะอยู่หรือไปจากบริษัทนี้ ก็ควรใช้ผลการประเมินเป็นแรงผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงและความสำเร็จในอนาคต

อย่าลืมว่าคนที่ประสบความสำเร็จหลายๆ คนก็เคยล้มเหลวมาก่อนทั้งนั้น และพวกเขาก็เปลี่ยนความล้มเหลวให้เป็นโอกาส ดังนั้น ไม่ว่าผลการประเมินมันจะฟังดูเลวร้ายขนาดไหนก็ให้คิดไว้ว่านี่เป็นโอกาสที่จะได้ทบทวนตัวเอง

ข้อควรจำ

ควรทำ

• ตั้งคำถามเพื่อเคลียร์ข้อข้องใจ มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่คุณควรจะรู้ว่าจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไรบ้าง

• ให้เวลากับการเขียน action plan อย่างละเอียด

• มองหาคุณค่าจากคำวิจารณ์ มันคือประตูสู่ความเปลี่ยนแปลง

ไม่ควรทำ

• หงุดหงิดกับผลการประเมิน มีแต่จะทำให้ทุกอย่างแย่ลง

• ระบายกับเพื่อนที่เห็นดีเห็นงามไปกับเราทุกอย่าง ไม่พูดถึงข้อเสียเลย เพราะคุณต้องการกระจกที่สะท้อนความเป็นจริง

• คิดว่าการประเมินนี้คือจุดสิ้นสุด สิ่งที่สำคัญกว่าผลการประเมินคือวิธีที่คุณรับมือกับมันต่างหาก

ที่มา : HBR