บทความนี้ไม่ได้พูดถึงมหกรรม “ฝากร้านด้วยค่ะ” ใน Instagram แต่จะพูดถึงการใช้ Instagram เพื่อประโยชน์ในการสร้างยอดขายของแบรนด์ เพราะโซเชียลมีเดียคือขุมทรัพย์ของนักการตลาดที่รู้ว่าจะหาฐานแฟนและเปลี่ยนพวกเขาให้มาเป็นลูกค้าผ่านช่องทาง Facebook, Instagram, Twitter และอื่นๆ ได้อย่างไร
ในความเป็นจริงแล้ว การทำให้แคมเปญของแบรนด์ในโลกโซเชียลสามารถเปลี่ยนเป็นยอดขายได้ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ know-how ค่อนข้างมาก Apu Gupta ซีอีโอของ Curalate ที่ใช้ Visual marketing ช่วยให้ 650 แบรนด์สร้างยอดขายได้มากขึ้น มีคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝาก
1. ไม่เน้นขายของ แต่ขายประสบการณ์
หลายๆ แบรนด์มีรูปโปรดักต์สวยๆ เป็นจำนวนมาก มันจะถูกนำมาใช้หลายๆ ครั้ง ทั้งกับการโฆษณาหรือแคตตาล็อกสินค้าใน Instagram
แต่การทำแบบนั้นมันคงไม่เวิร์คเท่าที่ควรในโลกโซเชียลมีเดีย เพราะสิ่งที่ควรจะเป็นคือแรงบันดาลใจและสิ่งที่เชื่อมโยงแบรนด์เข้ากับผู้คน ไม่ใช่แค่รูปภาพของสินค้า
หรือถ้าจะพูดกันแบบเป็นอุดมคตินิดๆ ก็คงต้องอธิบายว่าภาพที่ถูกโพสต์ลงไปในนามของแบรนด์ ควรจะช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับโปรดักต์ของคุณ เพราะมีไลฟ์สไตล์บางอย่างที่ลอยมาพร้อมๆ กับภาพนั้น หรือมันควรจะช่วยให้เข้าใจได้ว่าโปรดักต์เหล่านี้ดีต่อชีวิตของพวกเขาอย่างไร
สำหรับตัวอย่างของการสร้างประสบการณ์ผ่าน Instagram ให้กับกลุ่มลูกค้า และลูกค้าในอนาคต ขอแนะนำให้ดูแอคเคาท์ Instagram ของแบรนด์แฟชั่นอย่าง Michael Kors
2. มอง Instagram ให้เป็นช่องทางอีคอมเมิร์ซ
หลายๆ แบรนด์มอง Instagram เป็นแพล็ตฟอร์มสำหรับโพสต์รูป ในขณะที่อีกหลายๆ แบรนด์เข้าใจว่ามันคือช่องทางในการสร้างแบรนด์ สร้างการรับรู้ และสร้างตัวตน แต่แทบจะไม่มีแบรนด์ไหนลุกขึ้นมาใช้มันเป็นพื้นที่ขายอย่างจริงจัง (ไม่นับร้านค้าใน Instagram ที่ชอบฝากร้านในแอคเคาท์ดารานะ) เพราะยังไม่เคยมีตัวเลขเชิงปริมาณที่ออกมาชี้ชัดว่ามันเป็นช่องทางสำหรับการสร้างยอดขายได้จริง
แต่ Gupta บอกว่าในตอนนี้ มันคืออีกแพล็ตฟอร์มที่มีการเข้าใช้งานสูงมาก หลายๆ แบรนด์ต่างก็ได้ประโยชน์จากทราฟฟิคตรงนี้ เพราะในที่สุดมันจะกลายเป็นยอดขาย
3. แบ่งปันคอนเทนต์ของแฟนๆ
แบรนด์ส่วนมากมีความสามารถในการผลิตภาพสวยๆ มาเป็นคอนเทนต์ แฟนๆ ของคุณก็เช่นกัน เพราะในความเป็นจริงแล้ว เมื่อใครสักคนตกหลุมรักแบรนด์ของคุณและซื้อสินค้าไป พวกเขาจะเซลฟี่กับมัน นี่คือเรื่องดีสำหรับแบรนด์
“หลายๆ แบรนด์มองข้ามเสียงจากลูกค้าเหล่านี้ และลืมว่าโซเชียลมีเดียคือที่สำหรับคอมมิวนิตี้ เมื่อแบรนด์เข้าไปมีส่วนร่วมในคอมมิวนิตี้ของลูกค้า หรือดึงเอาภาพเหล่านั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ มันจะเป็นการยกระดับความสัมพันธ์กับลูกค้า
4. ตอบคอมเมนต์ แม้แต่คอมเมนต์ที่ดูไม่มีประโยชน์
ในขณะที่บริษัทส่วนมากเข้าใจความสำคัญของการตอบคอมเมนต์เฉพาะใน Twitter ซึ่งเป็นที่ที่มีดราม่าเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าใน Instagram
บ่อยครั้งที่พบว่าแบรนด์ต่างๆ ละเลยคำถามประเภท “มีขายที่ไหนคะ?” หรือ “(แท็กชื่อเพื่อน) ลองดูอันนี้สิ น่าจะเหมาะอยู่นะ” สิ่งที่ผู้ดูแลแอคเคาท์ควรทำคือช่วยแฟนๆ เหล่านี้มองหาแหล่งซื้อได้ง่ายขึ้น หรือช่วยแนะนำโปรโมชั่นที่น่าสนใจ (ถึงแม้ว่าจะมีบอกไว้ในรูปและคำอธิบายภาพแล้วก็ตาม -_-)
5. นำรูปภาพกลับมาใช้บนแพล็ตฟอร์มอื่นๆ
สำหรับแบรนด์ที่ลงทุนไปกับการถ่ายรูประดับ High quality มาใช้ใน Instagram เรื่องที่น่าใจหายคือ engagement จากลูกค้าจะเริ่มซาลงไปเรื่อยๆ ภายใน 24 – 48 ชั่วโมง ดังนั้น แบรนด์ที่เจ๋งๆ จะหาทางนำมันกลับมาใช้ โดยอาจจะเปลี่ยนแพล็ตฟอร์มที่ภาพนั้นไปปรากฏ เช่น บนเว็บไซต์ บิลบอร์ด ซึ่งก็แปลว่าคุณจะมีรูปสวยๆ ที่สร้างประโยชน์ได้มากกว่า 1 ครั้ง มันคือเรื่องของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ที่มา : Inc