นอกจากสาขาอาชีพด้าน IT แล้ว ก็น่าจะมีดีไซเนอร์นี่แหละที่อาจจะทำให้เจ้าของธุรกิจปวดหัวเล็กน้อยเมื่อต้องทำงานด้วย ดีไซเนอร์เองก็สับสนเมื่อต้องรับไอเดียของอีกฝ่าย อย่างที่เราเห็นกันบ่อยๆ ว่าคน 2 กลุ่มนี้มักจะคุยกันไม่รู้เรื่อง (หรือไม่จริง?) ฝั่งเจ้าของธุรกิจอาจจะคิดว่า “เข้าไม่ถึง” อารมณ์ศิลปิน ส่วนดีไซเนอร์เองก็เข้าไม่ถึงวิธีคิดของคนเป็นเจ้าของธุรกิจ แน่นอนว่าผู้บริหารทุกคนจะสั่งงานดีไซเนอร์ในสไตล์ของสตีฟ จ๊อบส์ อย่างที่คุณเห็นในหนังไม่ได้ (แล้วก็ไม่ควรจะทำด้วย) วันนี้เราจึงมีบทความจาก Entrepreneur มาให้เจ้าของธุรกิจและคนที่ต้องทำงานร่วมกับดีไซเนอร์อ่านเพื่อรีดประสิทธิภาพของทีมออกมาให้ได้มากที่สุด มาติดตามกันเลยค่ะ
พูดแต่เนิ่นๆ
ไม่มีอะไรจะทำให้ดีไซเนอร์รู้สึกเซ็งมากไปกว่าการมีประเด็นที่อยากแก้ไขเพิ่มเติมตอนที่ใกล้จะปิดโปรเจคต์แล้ว หน้าที่ของคุณในฐานะเจ้าของธุรกิจหรือลูกค้า คือการให้ฟีดแบ็กหรือความคิดเห็นที่มีต่อผลงานของดีไซเนอร์อย่างสม่ำเสมอ และคิดด้วยว่าพวกเขาต้องการ “เวลา” สำหรับแก้ไขงานตามที่คุณต้องการอีกด้วย อย่ารอให้ถึงนาทีสุดท้าย
คุณควรจะให้เวลากับดราฟท์แรกที่ดีไซเนอร์ส่งมาให้ดู ก่อนที่งานมันจะออกทะเลไปไกลจนกู่ไม่กลับ แล้วก็ต้องแก้กันเหมือนแทบจะทำขึ้นมาใหม่ ถ้าคุณไม่บอกว่าต้องการจะแก้ไขอะไร พวกเขาก็คงไม่มีทางรู้อยู่แล้ว
พูดแบบเจาะจง
คนที่เป็นดีไซเนอร์ทุกคนต้องเคยได้ยินคอมเมนต์แบบนี้ผ่านหูแน่ๆ “มันดูแปลกจัง ทำให้มันไม่แปลกเท่านี้ได้มั้ย” หรือ “ทำให้มันสวยกว่านี้ได้มั้ย”
สิ่งที่ควรจะทำความเข้าใจคือคำว่า “สวย” ของคุณกับดีไซเนอร์นั้นไม่เหมือนกัน และอาจจะต่างกันมากๆ ซะด้วย ถ้าคุณต้องการผลงานที่ “สวย” มากขึ้น ก็ต้องให้คำอธิบายเพิ่มเติม เพราะลำพังแค่คำว่า “สวย” อย่างเดียว คนเป็นดีไซเนอร์ก็ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาให้คุณได้อย่างไร
การให้ฟีดแบ็กกับดีไซเนอร์ ควรจะมีรายละเอียดให้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งคุณจะกลายเป็นลูกค้าผู้น่ารัก (จริงๆ) ถ้ามาพร้อมกับตัวอย่างของงาน ฟอนท์ สี หรือเลย์เอาท์ที่คุณต้องการ หรือถ้าไม่มีตัวอย่างให้ดู คุณก็ควรระบุไปเลยว่าองค์ประกอบส่วนไหนของงานที่คุณอยากจะเปลี่ยน
แทนที่จะพูดว่า “มันสวยน้อยไปหน่อย” คุณควรจะพูดว่า “เลย์เอาท์มันดูซับซ้อนไป เราจะทำให้มันดูง่ายกว่านี้ได้มั้ย”
เช่นเดียวกันกับสิ่งที่คุณชอบในงานชิ้นนั้น ถ้ามีองค์ประกอบไหนที่คุณรู้สึกว่ามันดีมาก และมันควรจะมีมากกว่านี้ ก็ต้องบอกให้ดีไซเนอร์รู้เหมือนกัน
นอกจากนี้ การจะให้ฟีดแบ็กกับดีไซเนอร์ได้ดี คุณก็ต้องมีความรู้พื้นฐานเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับงานออกแบบด้วย ลองใช้เวลาศึกษาเรื่องเหล่านี้เพิ่มเติมดูบ้าง มันอาจจะช่วยให้คุณใช้เวลาน้อยลงในการคุยงานกับดีไซเนอร์
พูดถึงสิ่งที่อยากปรับปรุง ไม่ใช่ข้อผิดพลาด
จริงๆ แล้วคนที่ทำงานด้าน visual art and design จะคุ้นเคยกับคำวิจารณ์อยู่แล้ว แต่การตั้งคำถามแบบแย่ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่คุณไม่ชอบในงานออกแบบหรือการแสดงความเห็นแบบไม่ให้เกียรติผู้ออกแบบโดยไม่จำเป็นก็อาจจะทำให้ดีไซเนอร์รู้สึกไม่พอใจได้
การให้เกียรติและอิสระในการตัดสินใจถือเป็นธรรมเนียมที่ควรจะปฏิบัติกับคนในทุกสาขาอาชีพ ไม่จำกัดเฉพาะดีไซเนอร์ เมื่อคุณต้องการแสดงความเห็นเกี่ยวกับโปรเจคต์ พยายามโฟกัสไปที่ความคิดของคุณและสิ่งที่คุณอยากจะให้มันเป็น มากกว่าที่จะไปตัดสินว่างานชิ้นนั้นมันดีหรือไม่ดี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากจะให้ดีไซเนอร์เปลี่ยนฟอนท์ที่ใช้ ก็ไม่ควรจะพูดว่า “ฟอนท์นี้มันน่าเกลียด” แต่ควรจะพูดว่า “อยากให้คุณลองใช้ฟอนท์ที่ต่างจากอันนี้ดู” ซึ่งเป็นการพูดถึงทิศทางที่คุณอยากจะให้มันเป็น
อย่าพูดอย่างเดียว ฟังดีไซเนอร์พูดบ้าง
เมื่อคุณมีข้อแนะนำเกี่ยวกับการปรับปรุงผลงานในโปรเจคต์นั้นๆ มันก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะเปิดโอกาสให้กับนักออกแบบได้เสนอไอเดียของเขาเองว่าทำไมเขาจึงตัดสินใจออกแบบมาในลักษณะนั้น เพราะมันจะทำให้คุณเห็นว่าดีไซเนอร์ของคุณคิดอย่างไร และมีข้อจำกัดในการทำงานอย่างไรบ้าง
เมื่อคุณและดีไซเนอร์แสดงความเห็นออกมา มันก็เป็นเรื่องของการต่อรอง สิ่งที่ควรจะรู้คือ ดีไซเนอร์ของคุณเห็นว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นและขาดไปไม่ได้สำหรับโปรเจคต์นี้ หลังจากนั้นก็ต้องทำให้ข้อเสนอทั้งหมดลงตัวให้ได้
ให้อิสระกับนักออกแบบบ้าง
ตอนที่คุณเล่ารายละเอียดของงานให้ดีไซเนอร์ฟัง คุณอาจจะมาพร้อมกับไอเดีย 2 – 3 อย่างที่คุณเห็นว่าจำเป็นต้องมี และเมื่อดีไซเนอร์กลับมาพร้อมกับดราฟท์งานชิ้นแรกโดยไม่มีสิ่งที่คุณบรีฟเอาไว้ในนั้นอย่างครบถ้วน สิ่งที่คุณควรจะทำคือพิจารณาก่อนว่าทำไมดีไซเนอร์จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงมัน ก่อนที่คุณจะบอกให้กลับไปทำมาใหม่
บางครั้งเมื่อดีไซเนอร์รับคำสั่งมากเกินไป งานที่จะออกมาจะเหมือนกับงานที่ทำด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป ดูขาดความเป็นมนุษย์ และความรู้สึก ดังนั้นต้องยืดหยุ่นบ้าง อะไรที่จำเป็นต้องมีก็ยึดเอาไว้ ส่วนอะไรที่พอจะยืดหยุ่นได้ก็ต้องปล่อยให้ดีไซเนอร์แสดงฝีมือและความสร้างสรรค์ออกมาบ้าง
หวังว่าเราคุยกันรู้เรื่องมากขึ้นนะคะ 🙂