“ทำไมต้องจ่าย” คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน คนตกงาน หรือคนที่กำลังเจอปัญหาลดเงินเดือน อาจจะกำลังเจอปัญหาหนักที่ต้องครุ่นคริสสส กันมากมายใช่ไหมคะว่า ทำไมเราต้องจ่ายภาษี ทั้งที่เงินภาษีที่เราจ่ายแบบในชีวิตประจำวันผ่านมื้ออาหารร้านหรูเราก็จ่ายกันไปแล้ว แต่ทำไมยังต้องมีการเรียกเก็บหรือยื่นเอกสารทางการเงินแบบรายปีอีก
จริงอยู่ว่าเราต่างก็มีค่าใช้จ่ายมากมายอยู่แล้ว แต่รัฐก็มีรายจ่ายมากมายเช่นกันและอาจไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้ประชาชนต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
“ใครต้องจ่ายบ้าง” ตอบได้อย่างชัดเจนเลยว่า “ทุกคนที่มีรายได้” ไม่ว่าคุณจะเป็นบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญ คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ผู้ที่เสียชีวิตระหว่างปีภาษี กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง วิสาหกิจชุมชน แค่นี้ก็แทบจะหมดประชากรหลักที่มีรายได้ของประเทศแล้ว และเมื่อทุกคนต่างก็เป็นผู้เสียภาษีแล้วจะลดหย่อนอะไรได้บ้าง มาลองดูกัน
เมื่อดูอัตราเริ่มต้นในการเสียภาษีนั้นก็จะเป็นดังนี้
- หากคุณมีรายได้ตั้งแต่ 0 – 150,000 บาท อัตราภาษี 5% (ได้รับการยกเว้น)
- หากคุณมีรายได้ตั้งแต่ 150,001 – 300,000 บาท อัตราภาษี 5%
- หากคุณมีรายได้ตั้งแต่ 300,001 – 500,000 บาท อัตราภาษี 10%
- หากคุณมีรายได้ตั้งแต่ 500,001 – 750,000 บาท อัตราภาษี 15%
- หากคุณมีรายได้ตั้งแต่ 750,001 – 1,000,000 บาท อัตราภาษี 20%
- หากคุณมีรายได้ตั้งแต่ 1,000,001 – 2,000,000 บาท อัตราภาษี 25%
- หากคุณมีรายได้ตั้งแต่ 2,000,001 – 5,000,000 บาท อัตราภาษี 30%
- หากคุณมีรายได้ตั้งแต่ 5,000,001 บาท อัตราภาษี 35%
คำนวณอย่างไร ก็ทำได้ไม่ยากเลยค่ะ เพียงนำเงินเดือนที่เป็นรายได้หลักหรือค่าจ้างตลอดทั้งปีมาคำนวณรวมกัน เช่น 15,000×12 = 180,000 บาท หักค่าใช้จ่ายส่วนตัว 100,000 บาท (ค่าใช้จ่ายส่วนตัวนี้ จะหักจากเงินเดือนรวมทั้งปีได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท)
นอกจากนี้ยังลดหย่อนส่วนตัวได้อีก 60,000 บาท คุณก็จะมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 20,000 บาท/ปี รายได้รวมกันแค่นี้ คุณจะกลายเป็น “ผู้ได้รับการยกเว้นภาษี” ไปทันทีเลย โดยการคำนวณค่าเฉลี่ยนี้ ถ้าให้ตีเป็นเลขกลมๆ ก็คือ หากคุณมีรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 15,000 – 25,833 บาท คุณถือว่าอยู่ในกลุ่มได้รับการยกเว้นภาษีไปเลยจ้า แต่ถ้ามากกว่า 25,833.33 บาท ขึ้นไปก็เตรียมจ่ายภาษีกันได้เลย
แต่ก็ยังไม่ต้องถึงกับกุมขมับว่าต้องจ่ายภาษีเยอะ เพราะการหักค่าใช้จ่ายอีกมากมาย ยังสามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้ด้วย แบ่งเป็น กลุ่มได้ตามรายละเอียดนี้
กลุ่มค่าลดหย่อนส่วนตัว
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท ลดได้ทันทีที่ยืนแบบแสดงรายได้
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส ลดหย่อนได้ 60,000 บาท ต้องเป็นกรณีคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรส และไม่มีรายได้ หรือมีรายได้แต่เลือกคำนวณภาษีพร้อมกัน ในส่วนนี้ควรเตรียมเอกสารทะเบียนสมรสไว้ด้วย
- ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท ต่อลูก 1 คน นอกจากนี้ยังมีค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 2561 จะได้รับสิทธิลดหย่อนเพิ่มอีก 60,000 บาท (ตามนโยบายส่งเสริมให้มีลูกเพิ่มขึ้น) ส่วนนี้ควรเตรียมเอกสารสูจิบัตร หรือใบรับรองบุตรไว้ยืนพร้อมการ ยื่นภาษี
- ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ลดหย่อนได้ไม่เกินปีละ 60,000 บาท (หากเป็นคุณสามีสามารถนำค่าใช้จ่ายนี้ไปหย่อนในรายการของตัวเองได้ ในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้)
- ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ซึ่งต้องอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน (รวมพ่อแม่ของคู่สมรส) แต่หากมีพี่น้องและพี่น้องของเราใช้สิทธิ์ไปแล้ว เราจะไม่สามารถใช้สิทธิตรงนี้ได้ ในส่วนนี้ให้เตรียมเอกสารรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ดาวน์โหลดได้ที่นี่)
- ค่าอุปการะคนพิการ หรือ คนทุพพลภาพ ลดหย่อนได้ 60,000 บาทต่อคน หากเป็นผู้พิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ และระบุชื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ ส่วนคนทุพพลภาพ จะต้องเป็นผู้ทุพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน มีใบรับรองแพทย์ที่ออกในปีภาษีขอใช้สิทธิหักลดหย่อน และมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ (ดาวน์โหลดได้ที่นี่)
ค่าลดหย่อนกลุ่มประกัน เงินออมและการลงทุน
- ประกันสังคม ที่ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาทต่อปี
- เบี้ยประกันชีวิต หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพ หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท แต่เมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้วจะต้องไม่เกิน100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ได้ไม่เกิน 15,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตคู่สมรส หากคู่สมรสไม่มีเงินได้ 10,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้และต้องไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และ กองทุน RMF จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้และไม่เกิน 490,000 บาทจะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเอาไปคำนวณภาษี
- เงินสะสมกองทุน กบข.และกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ ไม่เกิน 500,000 บาท
- เงินสะสม กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 13,200 บาท
**ในค่าลดหย่อนกลุ่มประกัน เงินออมและการลงทุน จะมีเอกสารรับรองเพื่อใช้ในการ ยื่นภาษี ซึ่งบางแห่งอาจมีจดหมายส่งมาถึงบ้าน หรือบางแห่งอาจให้ดาวน์โหลดเอกสารเองจากเวปไซต์ ต้องลองตรวจเช็คเอกสารส่วนนี้ด้วย
ค่าลดหย่อนด้านอสังหาริมทรัพย์
- ลดหย่อนดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ที่กู้เงินซื้อบ้านหรือคอนโด สามารถนำดอกเบี้ยที่จ่ายไปมาลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- ลดหย่อนภาษีโครงการบ้านหลังแรก ปี 2558 ในกรณีที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท คุณสามารถนำราคาบ้านมาลดหย่อนได้ปีละ 4% ในเวลา 5 ปี รวม 20%
- ลดหย่อนภาษีโครงการบ้านหลังแรก ปี 2562 สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 200,000 บาท
เงินบริจาค
- เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา สถานพยาบาลของรัฐ สนับสนุนการกีฬา และเงินบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ สามารถหักได้ 2 เท่า ตามที่จ่ายจริงแต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 10% ของรายได้พึ่งประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆแล้ว
- เงินบริจาคช่วยเหลืออุทกภัยน้ำท่วมจากพายุปาบึก ลดหย่อนได้ตามบริจาคจริง
- เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย
- เงินบริจาคให้พรรคการเมือง ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
ในส่วนของเงินบริจาคต้องเป็นการบริจาคที่เกิดขึ้นในรอบปี 2562 ลองตรวจเอกสารยืนยันการบริจาคให้ครบ เพื่อนำมาประกอบการ ยื่นภาษี
ค่าลดหย่อนพิเศษตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
- ซื้อสินค้าการศึกษาและกีฬา ไม่เกิน 15,000 บาท
- ซื้อหนังสือ ไม่เกิน 15,000 บาท
- ซื้อสินค้าโอทอป ไม่เกิน 15,000 บาท
- ท่องเที่ยวเมืองหลัก 15,000 บาท ท่องเที่ยวเมืองรอง 20,000 บาท (แต่รวมกันทั้งเที่ยวเมืองหลักและเมืองรองไม่เกิน 20,000 บาท)
- ค่าซ่อมบ้านหรือรถ กรณีประสบภัยจากพายุปาบึก พายุโพดุล พายุคาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตามจริง กรณีค่าซ่อมบ้านลดหย่อนได้ตามค่าใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนซ่อมรถ ตามค่าใช้จ่ายแต่ไม่เกิน 30,000 บาท
หลังจากที่มีการเก็บหลักฐานข้อมูลต่างๆ ไว้หมดแล้ว เราก็เข้าเว็บไซต์ rd.go.th เพื่อเข้าไปเลือกกรอกรายละเอียดทั้งหมดได้เลย ถ้าเป็นมือใหม่ไม่เคยทำก็ลองเข้าไปศึกษาวิธีการทำจากเว็บไซต์ที่สอนยื่นภาษีก่อนก็ได้ แต่ที่ต้องจำคือจำข้อมูลการลงทะเบียน หรือ การเข้าสู่ระบบไว้ให้ดี เพราะถ้าต้องทำเรื่องขอรหัสใช้งานใหม่จะวุ่นวายมาก การทำแบบออนไลน์ดีตรงที่จะคำนวณทุกอย่างไว้หมด ติดขัดตรงไหนก็ยังรู้ปัญหาและแก้ไขได้
แต่ถ้าไม่ชัวร์ว่าตัวเองจะทำได้ครอบคลุมดีหรือไม่ก็สละเวลาการทำงานสักวันไปยื่นที่กรมสรรพากรและเตรียมเอกสารทุกอย่างให้พร้อมไปด้วยจ้า ไม่ว่าจะเป็น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) เอกสารทางการเงินอื่นๆ เช่น บิลชำระเบี้ยประกัน ดอกเบี้ยเงินกู้อสังหาริมทรัพย์ ค่าใช้จ่ายลดหย่อน เอกสารบิดามารดาว่าเป็นผู้เกษียณ เป็นต้น
การจ่ายภาษีไม่ใช่เรื่องยากและยังเป็นการยืนยันว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาประเทศของเราให้น่าอยู่ขึ้น