ระยะนี้ในเมืองไทยมีคนพูดถึง Klout กันบ่อยมากกว่าเดิม ไม่น่าแปลกใจครับ เพราะคอนเซ็ปต์ของ Klout มันน่าสนใจจริงๆ คิดกันออกมาได้อย่างไร วัดความมีอิทธิพลเป็นตัวเลขเป็นคะแนน… วันนี้ตามข่าวบน Mashable เจ้าเก่าก็มีข่าวออกมาอีกแล้วครับว่า Klout เพิ่ม Google+ เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณค่าความมีอิทธิพลบนโลกออนไลน์แล้วซึ่งหมายความว่าต่อไปนี้เวลาเราใช้ Google+ หากเราอนุญาต ทาง Google ก็จะปล่อยให้ Klout คำนวณความมีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ของเราทันที
แต่อย่างไรก็ตาม พอผมเอาเรื่อง Klout นี้ไปเล่าให้คนอื่นฟัง ส่วนใหญ่จะพอรู้อยู่แล้วว่า Klout คืออะไร แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองอย่างไร ในฐานะที่ตามอ่านเรื่องนี้อยู่มากพอสมควร ผมเลยขอเอามายกตัวอย่างสรุปสั้นๆ ให้พอเห็นภาพชัดๆ อีกครั้ง เห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไรก็ออกความเห็นไว้ด้านล่างด้วยนะครับ
เอาล่ะ มาดูกันว่าพอเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง
1. ใช้ในการค้นหา Influencer ที่เหมาะสมกับแบรนด์ – อันนี้มาจากประสบการณ์ตรงครับ เมื่อเดือนที่แล้วเพื่อนร่วมงานเก่าของผมที่ทำงานในบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของโลกแห่งหนึ่งในต่างประเทศเขียนมาถามว่าที่เมืองไทยคนใช้ Klout กันเยอะไหม เพราะเขากำลังหาบล็อกเกอร์ไทยไปร่วมแคมเปญของเขา (แคมเปญที่ส่งบล็อกเกอร์ไทยไปเมืองนอกเยอะๆ ในช่วงที่ผ่านมานั่นแหละ 😀 ) ตัวเขาเองก็ไม่ทราบว่าคนไทยคนไหนบ้างที่เขียนบล็อก ก็เลยเข้าไปดูใน Klout และส่งรายชื่อมาให้ผมดูว่ารายชื่อที่ Klout จัดอันดับมาน่าเชื่อถือหรือไม่ ผมดูแล้วก็บอกเขาไปว่าใช้ได้เลยล่ะครับ จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผมเริ่มเชื่อถือ Klout score มากขึ้นครับ แม้ว่ามันจะยังวัดผลอะไรในแง่ความรู้สึกอะไรได้มากนัก แต่อย่างไรก็ตามในเชิงธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตัวเลขพวกนี้เหมาะมากที่เจ้าของแบรนด์จะมีเอาไว้สำหรับค้นหา Influencer ในเบื้องต้น แล้วเอามาคัดเลือกกันด้วยโปรไฟล์จริงๆ อีกครั้ง
2. ใช้ในการคัดเลือกคนเข้างานเลี้ยงประเภท Blogger Day – หนึ่งในวิธีสร้างกระแสบอกต่อที่นักการตลาดบ้านเราชอบทำก็คือ การจัดทำ “Blogger Day” โดยมักจะจัดงานหลัง 6 โมงเย็น โดยมีหลักเกณฑ์ต่างๆ อย่างที่คุณฟอร์ดเคยเขียนไกด์ไลน์ไว้ แต่วิธีการคัดเลือกคนเข้างาน ส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีการถามๆ กันว่าใครบ้างที่เขียนบล็อกเกี่ยวกับตัวสินค้าหรือบริการนั้นๆ แต่ต่อไป เราอาจเข้าไปดูที่ Klout ได้ครับว่า Influencer คนไหนเชี่ยวชาญ หรือสนใจเรื่องอะไร ในเมืองนอกทำกันแล้วนะครับ บางงานถึงกับระบุกันเลยว่าต้องมี Klout Score สูงกว่า 40 เป็นต้นไปถึงจะมาร่วมงานได้ ซึ่ง 40 ไม่ได้สูงเกินไปครับ 40 คือคนที่ค่อนข้างใช้ Social media บ่อยหน่อยเท่านั้นเอง แต่เอามาเป็น “มุก” ในการดึงคนเข้างานได้ดีเสียด้วย
3. ใช้ในการวัดผลแคมเปญการตลาด – ตอนนี้ผมว่ายังไม่มีแคมเปญการตลาดไหนในเมืองไทยใช้ Klout score ในการวัดผลเท่าไหร่ แต่ผมคิดว่าต่อไปมันใช้ได้แน่นอน เท่าที่เจอมา บรรดาพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ เอเยนซี่จะใช้วิธีเข้าหาบล็อกเกอร์เป็นรายบุคคล คนไหนเขียนเรื่องอะไร เก่งเรื่องอะไรก็หาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีอยู่ในมือที่เหมาะสมส่งไปให้ ก็ถือว่าใช้ได้ผลพอสมควรในเชิงประชาสัมพันธ์ แต่ลองนึกภาพดูว่าต่อไปจะมีผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้นจนเราไล่ ตามดูกันไม่ทัน การวัดผลด้วย Klout score จะเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น ยกตัวอย่าง ถ้าคุณเป็นเจ้าของแบรนด์ยาสีฟันยี่ห้อหนึ่ง คุณทำการตลาดแบบให้ความรู้เรื่องสุขภาพฟันด้วยการหาคนที่เป็น “ผู้รู้” ทางด้านสุขภาพปากและฟันคอยให้บริการตอบคำถามประชาชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณจะวัดผลเขาด้วย Page view หรือจำนวนคนถามก็อาจจะพอใช้ได้ แต่อย่างไรมันก็ไม่เท่ากับการรู้ว่าผู้รู้คนนี้มีิอิทธิพลแค่ไหนอย่างไรกับ คนบนโลกออนไลน์ ในเบื้องต้นผมแนะนำว่าให้ใช้กันควบคู่ไปกับการวัดผลแบบเดิม เช่นพวก Unique user และ Page view นะครับ
ผมลองๆ เสิร์ชดูก็เห็นว่ามีฝรั่้งเขียนเรื่องเดียวกับผมเหมือนกัน แต่บางอย่างก็ใช้กับไทยได้ บางอย่างก็ใช้ไม่ได้ ลองอ่านเปรียบเทียบกับที่ผมเสนอนะครับ