เชื่อว่าหลายแบรนด์เคยใช้ influencer กันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะไม่ใช่ทุกครั้งที่ประสบความสำเร็จ ลองมาฟังความเห็นจาก Murray Newlands ผู้ซึ่งเป็นทั้งนักธุรกิจและถูกจ้างเป็น influencer ซะเอง
ต้องยอมรับว่าการตลาดทุกวันนี้ หลายแบรนด์เลือกใช้คนดังในอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เชื่อคำพูดของ influencer หรือบล็อกเกอร์มากกว่าจะเชื่อการโฆษณาจากปากแบรนด์โดยตรง แต่ก็ไม่มีอะไรมาการันตีว่าแค่ใช้ influencer ที่มียอดผู้ติดตามจำนวนมาก แปลว่าได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่เราวางไว้
Murray Newlands ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าควรใช้ influencer อย่างไร เพื่อให้แบรนด์ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ
1. ปล่อยให้ influencer มีอิสระในการคิดงาน
เพราะเขาคือคนที่รู้จัก follower ของตัวเองมากที่สุด ไม่ว่าจะชอบแบบไหน ต้องการอะไร “การจ่ายเงินเพื่อให้ influencer โพสต์คอนเทนต์ที่เราสร้าง ไม่ได้ช่วยให้เราได้ผลลัพธ์อย่างที่หวัง” การให้อิสระจะทำให้พวกเขาสามารถแนะนำความเป็นตัวตนของแบรนด์ได้ดีกว่า นอกจากว่าเราจะต้องการบางอย่างที่เฉพาะเจาะจง ก็อาจจะบรีฟเพิ่มเติมได้ แต่อย่าตกใจถ้า influencer ปฏิเสธที่จะทำตาม
2. จ้างคนที่เค้ารักเรา
ถ้าเราจ้างคนที่ไม่ได้อินกับแบรนด์ของเรา เวลาพูดอะไรออกไป คนก็ไม่เชื่อว่ามันจริง ควรมองหา influencer ที่สามารถโน้มน้าวใจลูกค้าของแบรนด์ได้ “ถ้าเราสามารถหาคนที่ดูเหมือนว่าเต็มใจจะขายสินค้าของเรา แม้เขาจะไม่ได้ค่าตัว สุดท้ายแบรนด์จะได้คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ”
3. สร้างรูปแบบความสัมพันธ์แบบที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน
“ควรมีการให้เครดิต ให้เงินรางวัลพิเศษ หรือเชิญไปตามงานอีเวนต์ของแบรนด์ เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างเครือข่าย หรือต่อยอดได้” เมื่อเรามีข้อตกลงที่ดี influencer จะขยันมากขึ้น ส่วนแบรนด์ก็จะได้งานที่ดี
4. เลือก influencer ที่มียอด engagement ดี มากกว่าจะดูแค่ยอดผู้ติดตาม
แบรนด์มีตัวเลือกจำนวนมาก จึงควรเลือกอย่างระมัดระวัง ซึ่งตัวเลข ไม่ควรเป็นเหตุผลเดียวในการตัดสินใจ “ระหว่าง influencer ที่มียอดคนติดตามไม่มาก แต่คนพร้อมจะทำตาม กับ influencer ที่มีคนติดตามจำนวนมาก แต่ไม่ได้สนใจอะไรเท่าไหร่ การเลือก influencer แบบแรกมักจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า”
5. ใช้ influencer ประหนึ่งช่องทางรายงานข่าวให้กับแบรนด์
“influcer สามารถเป็น ‘นักข่าว’ ให้กับเรา ในการแนะนำสินค้าใหม่ๆ โปรโมทงานอีเวนต์ หรือบอกต่อข้อเสนอใหม่ๆ บนโลกโซเชียล ไม่ว่าจะในรูปแบบภาพหรือวิดีโอ” แม้คนจะรู้อยู่แล้วว่า influencer ที่เขาตามได้รับค่าตอบแทน แต่สุดท้ายเขาก็ยังเชื่อ influencer มากกว่าแบรนด์ออกมาพูดเอง
6. เป็นสปอนเซอร์เองบ้าง
แบรนด์สามารถเพิ่มความสนใจได้ จากการเสนอตัวเป็นสปอนเซอร์ให้กับการแข่งขัน หรือเป็นของรางวัลที่ influencer จัดประกวด
7. สร้างเครือข่าย (หลายๆ เครือ)
“ไม่ใช่แค่เราที่มีสิทธิเลือก อย่าลืมว่า influencer ตัวแม่ก็เป็นที่ต้องการของหลายแบรนด์เช่นกัน” ดังนั้นเราควรสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้ได้ influencer ที่เราต้องการ เช่น การโทรหา ส่งอีเมล์ แชร์คอนเทนต์ หรือมุ้งมิ้งกับ influencer บนเพจหรือบล็อกของพวกเขา แต่ที่สำคัญที่สุดคือห้ามลืมสร้างเครือข่ายเด็ดขาด !
8. เคารพการตัดสินใจของ influencer
influencer เป็นได้ เพราะมีคนเชื่อในสิ่งที่เขาพูด โดยทั่วไปคนเหล่านี้ก็เป็นนักสร้างสรรค์และมีสิทธิในสิ่งที่เขาทำอยู่ ดังนั้นแบรนด์จึงควรเคารพในชิ้นงานหรือเครื่องมือที่เค้าเลือกใช้ การสั่งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่แบรนด์ต้องการ แต่ influencer ไม่เห็นด้วย ไม่ได้ช่วยให้งานออกมาดี
9. influencer ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นคนดังเท่านั้น
หลายครั้งโจทย์ในการเลือก จะถูกจำกัดที่คนดัง และมียอดผู้ติดตามมาก แต่การเลือกคนธรรมดาที่กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์สนใจ จะได้รับการเชื่อถือมากกว่าการที่คนดังออกมาพูด แถมงบที่จ่ายยังสบายกระเป๋ากว่าด้วย
10. สร้างแคมเปญที่ก่อให้เกิด call-to-action
แม้การกระจายข่าวโดยใช้ influencer จะดีอยู่แล้ว แต่การสร้างแคมเปญให้คนทำอะไรสักอย่าง จะช่วยสร้าง engagement และทำให้สนุกขึ้นได้ โดยอาจจะทำเป็น แคมเปญที่ให้คนแชร์ หรือการจัดประกวดอะไรสักอย่างที่ให้ influencer มาเป็นกรรมการ เป็นต้น
ที่มา : Inc