ขึ้นชื่อว่าเพื่อนร่วมงาน นั่นหมายถึงสิ่งที่มาพร้อมกับงาน มีทั้งดีและร้าย คุณเลือกเพื่อนร่วมงานไม่ได้ แต่เลือกวิธีที่จะปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานแต่ละแบบได้ มาดูกันว่าเราจะรับมือเพื่อนร่วมงานสุดยี้ทั้ง 5 ประเภทได้อย่างไรบ้าง
เพื่อนร่วมงานจอมแทรก
การถูกขัดจังหวะไม่ใช่เรื่องแย่ แต่ถ้ามันเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในทุกๆ สถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการสนทนาต่อหน้า ในที่ประชุม หรือโทรศัพท์ แบบนี้ถือว่าไม่ปกติ เพราะไม่ใช่แค่ทำให้คุณหัวเสียเท่านั้น แต่ยังทำให้อยู่ร่วมกันได้ลำบากขึ้นอีกด้วย เรื่องที่ต้องเคลียร์ก็มักจะไปไม่ถึงไหน
วิธีแก้ไข
ครั้งต่อไปถ้าคุณต้องประชุมหรือสนทนากับคนประเภทนี้ ปล่อยให้เขาพูดแทรกได้ตามใจชอบ เฉพาะครั้งแรกเท่านั้น
ถ้าเขาหรือเธอพยายามจะทำมันอีกครั้ง ขอให้พูดกลับไปอย่างสุภาพและกระชับว่า “รอให้ฉันพูดจบก่อน แล้วฉันจะแฮปปี้มากๆ ถ้าได้ทราบความเห็นของคุณในตอนนั้น”
การพูดในทำนองดังกล่าว จะช่วยให้คุณเดินหน้าบทสนทนาเดิมกับที่ประชุมต่อไปได้ และเมื่อพูดจบ ก็หันไปถามเพื่อนร่วมงานจอมแทรกว่าเขาหรือเธอมีความเห็นเช่นไร
เพื่อนร่วมงานจอมสอดรู้สอดเห็น
ถึงแม้ว่าเราจะใช้เวลาในออฟฟิศวันละ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ แต่เส้นแบ่งระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวก็ยังต้องมีอยู่ เป็นเรื่องที่คนทั่วไปทราบดี
น่าเสียดายที่มีบางคนไม่รู้ และไม่เคารพเส้นแบ่งดังกล่าว ความไม่เคารพนี้จะถูกแสดงออกมาด้วยคำถามที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของคุณ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่คุณไม่อยากจะคุยกับคนอื่น นอกจากคนในครอบครัว
วิธีแก้ไข
ถ้ากลัวว่าเพื่อนร่วมงานจอมสอดรู้สอดเห็นจะเสียความรู้สึก ก็จงหัวเราะและโต้ตอบแบบทีเล่นทีจริง และในกรณีที่คุณจำเป็นต้องตรงไปตรงมามากกว่านั้น ลองพูดว่า “พูดจริงๆ นะ ฉันไม่ควรพูดเรื่องนี้” หรือ “โทษทีนะ มันเป็นเรื่องส่วนตัว ฉันอยากคุยเรื่องอื่นมากกว่า” แล้วก็เปลี่ยนเรื่องซะ ไม่มีใครเสียเลือดเสียเนื้อ และผู้ถามก็อาจจะได้รับบทเรียนว่าอย่าถามเรื่องส่วนตัวอีก
เพื่อนร่วมงานตลกไม่เลือกเวลา
อารมณ์ขันในออฟฟิศเป็นเรื่องดี เว้นเสียแต่ว่าอารมณ์ขันเหล่านั้นรบกวนการทำงาน และเพื่อนร่วมงานจอมปล่อยมุกคนนั้นก็ยังไม่ซีเรียสกับเรื่องที่ควรจะจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายขนาดไหนก็ตาม เขาอาจจะคิดว่าเขาเป็นนักเอนเตอร์เทน ซึ่งมันก็อาจจะใช่เฉพาะในตอนแรกเท่านั้นแหละ เพราะหลังจากนั้นคือความพินาศ
วิธีแก้ไข
เพื่อยุติมหกรรมปล่อยมุกแบบไม่ดูเวล่ำเวลา แนะนำให้หยุดโต้ตอบ ทันทีที่เขาหรือเธอยิงมุก คุณต้องยิ้มแค่พองาม (อาจจะแสยะยิ้ม หรือยิ้มหึหึ อะไรทำนองนั้น) แล้วเดินหน้าบทสนทนาต่อไปในทิศทางที่มันควรจะเป็น
หรือเมื่อต้องติดต่อกับคนแบบนี้ ทั้งผ่านอีเมล แชท หรือตัวต่อตัว เมื่อเขาพยายามที่จะตลก คุณต้องไม่ใส่ใจมัน และพูดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับงานเท่านั้น
เพื่อนร่วมงานจอมบงการ
คนแบบนี้อาจจะเป็นเพื่อนร่วมงานของคุณก็จริง แต่เขามักจะแสดงท่าทางเสมือนว่าเป็นผู้บังคับบัญชาคอยชี้นิ้วสั่ง และวิพากษ์วิจารณ์ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างคุณกับเขาก็จะล้มเหลว และทำให้อำนาจหน้าที่ของคุณถูกลิดรอนด้วย
วิธีแก้ไข
เรื่องแบบนี้ต้องพูดกันตรงๆ ในที่ที่ไม่ใช่ออฟฟิศ อาจจะเป็นร้านกาแฟหรือร้านขนม เพราะมันคือสถานที่ที่เป็นกลาง
โดยคุณอาจจะเริ่มบทสนทนาว่า คุณเข้าใจว่าเขาเป็นคนที่ทำงานหนักและเสียสละเพื่อบริษัทมากขนาดไหน นั่นเป็นสิ่งที่คุณชื่นชมเขา แต่ถึงอย่างนั้น คุณอดรู้สึกไม่ได้ว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ของเขาค่อนข้างรบกวนประสิทธิภาพในการทำงานของคุณ ซึ่งมันจะทำให้เป้าหมายที่หัวหน้าตั้งไว้ให้ผิดเพี้ยนไป
อาจจะตบท้ายว่า “ฉันเคารพความคิดเห็นของคุณนะ แต่คงจะปลื้มกว่านี้ถ้ามันไม่เกินบทบาทหน้าที่ของคุณ”
เพื่อนร่วมงานจอมกลั่นแกล้ง
คุณอาจจะคิดว่าคงไม่เจอคนแบบนี้อีกแล้วตั้งแต่มัธยมปลาย แต่โชคไม่ดีเลยที่การกลั่นแกล้งกันยังมีอยู่จริงในที่ทำงาน ซึ่งมันอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดิมๆ เหมือนสมัยมัธยม แต่มาในรูปของการแสดงความเห็นแย่ๆ หรือการตั้งข้อสงสัยกับการตัดสินใจของคุณ ทำให้ความมั่นใจของคุณเริ่มสั่นคลอน
วิธีแก้ไข
การโต้ตอบของคุณขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่พวกเขาทำ ถ้ามันอยู่แค่ภาษาที่ก้าวร้าวในอีเมล คุณอาจจะตอบกลับไปแค่ “ฉันไม่โอเคกับความคิดเห็นนั้นเลย” หรือ “ฉันอยากจะนัดเวลาเพื่อคุยกันในเรื่องที่เรามีความเห็นไม่ตรงกัน”
อย่างไรก็ตาม ถ้ามันรุนแรงขึ้น คุณควรจะแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือฝ่ายบุคคลทราบ โดยเฉพาะเมื่อคุณเริ่มรู้สึกว่าถูกคุกคาม ข่มขู่ ทางวาจา (หวังว่าคุณคงจะโชคดีพอที่คู่กรณีไม่ใช่หัวหน้านะ)
ไม่ว่าคุณจะทำงานที่ไหนก็ตาม รับรองได้ว่าต้องมีเพื่อนร่วมงาน 5 ประเภทนี้อยู่ด้วย อย่างน้อยๆ ก็ 1 ประเภท ขอแนะนำให้สูดหายใจลึกๆ แล้วลองนำเอาวิธีแก้ไขเหล่านี้ไปใช้ดู
ที่มา : Inc