“ตอนแรกก็กะทำเล็ก ๆ พอทำเสร็จปุ๊บ เปิดสองวันแรกคนล้นเลย บางคนก็นั่งบันได นั่งระเบียงเอา บางคนเอาโคมไฟมาตั้ง อ่านหนังสือกัน” คำพูดข้างต้นเป็นของคุณเอนก จงเสถียร ผู้ก่อตั้ง Too Fast To Sleep พื้นที่สำหรับการอ่านหนังสือของคนรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบันแม้จะมีบ้างกับการขาดทุนสาขาละ 100,000 – 200,000 บาท แต่สิ่งที่เขาได้รับกลับมานั้นกลับประเมินค่าไม่ได้ในแง่ของตัวเงิน
โดยคุณเอนกชี้ว่า พฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนในยุคก่อนอาจหมายถึงการนอนแต่หัวค่ำแล้วตื่นมาอ่านแต่เช้าที่หลายคนบอกว่าเป็นช่วงเวลาสมองโล่งปลอดโปร่งเหมาะแก่การจดจำเนื้อหา ทว่าในยุคปัจจุบัน ไลฟ์สไตล์เหล่านั้นดูจะเปลี่ยนไปแล้ว โดยคุณเอนกชี้ว่าเขาเห็นจากพฤติกรรมของลูกสาวและเพื่อน ๆ สมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่พบว่า คนรุ่นใหม่หันมานิยมอ่าน – ติวหนังสือในช่วงกลางคืน ซึ่งอาจไล่อ่านไปจนถึงตีสามตีสี่จึงจะเข้านอน แล้วค่อยตื่นไปเรียนประมาณ 9 โมงเช้า เรียนเสร็จกลับมานอนอีกรอบ และตื่นมาประมาณ 3 – 4 ทุ่มเพื่ออ่านหนังสืออีกรอบ ขณะที่พื้นที่ที่จะรองรับการอ่านหนังสือ – ติวหนังสือในลักษณะนี้กลับไม่มีปรากฏในเมืองไทย เพราะห้องสมุดต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยของไทยไม่มีบริการเปิดตลอดทั้งคืนเหมือนในต่างประเทศ
ด้านคุณเอนกซึ่งเป็นนักธุรกิจในอุตสาหกรรมผู้ผลิตฟิล์มถนอมอาหาร และมีพื้นที่เล็ก ๆ อยู่ในย่านสามย่าน จึงตัดสินใจใช้พื้นที่เล็ก ๆ นั้นเปิดบริการ Too Fast To Sleep สาขาแรก และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม โดยจุดแข็งของ Too Fast To Sleep นั้นอาจอยู่ที่การไม่เน้นขายอาหาร – เครื่องดื่ม ไม่จำเป็นว่าต้องมาแล้วสั่งอาหารในร้านจึงจะสามารถนั่งได้นาน ๆ แถมยังมีโต๊ะ เก้าอี้ ห้องน้ำ ไวไฟ ให้บริการครบครันโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่ม
โดยคุณเอนกเล่าติดตลกว่า ก่อนหน้าที่จะเปิด Too Fast To Sleep นั้น ตัวเขาเองเป็นคนใช้จ่ายมือเติบ เมื่อทำมาหาได้จากธุรกิจก็จะช้อปปิ้งเดือนหนึ่ง 7 หลัก แต่เมื่อมาเปิด Too Fast To Sleep และต้องวิ่งมาดูแลกลับพบว่าไม่มีเวลาใช้เงินเลย ซึ่งในจุดนี้ภรรยาของเขาชอบใจมาก และสนับสนุนให้ทำ Too Fast To Sleep ต่อเนื่องจากต่อให้สาขาจะขาดทุน 100,000 – 200,000 บาทต่อเดือน ทางบ้านก็ยังประหยัดค่าช้อปปิ้งไปได้หลายแสนบาทอยู่ดี แถมการลงมาทำ Too Fast To Sleep นี้ยังได้ความสุขทางใจกลับมาอีกต่างหาก
“เมียนี่ดีใจที่สุดเลย ประหยัดเงินได้ 700,000 บาท แต่ความสุขของเราคือ เวลาเราได้เจอคน เราได้เห็นเด็กไทย ผมบอกเลยนะว่าคนไทยเนี่ยเก่งมาก ผมใช้คำว่าโคตรเก่ง สภาพแวดล้อมแบบนี้อ่ะนะ ผมเรียกว่าอบายมุขเพียบเลย แต่ทำไมเราไปแข่งได้รางวัลชนะเลิศล่ะ ฟิสิกส์ เคมี โอลิมปิก แปลว่าเราไม่มีที่ให้เขา เด็กที่แย่ ๆ ไม่ใช่มันอยากเกเรนะ แต่เพราะมันไม่มีที่ไป ไอ้ที่แว้น ๆ กันตอนกลางคืน ลองมีที่ให้มันนั่งที่อื่น มันจะไปแว้นทำไม ลองมีที่ให้เขาเลือกสิ ผมไม่ได้บังคับว่าต้องมานะ แต่ลองมี Second Choice วันนี้อาจไปกินเหล้า พรุ่งนี้อาจมานั่งอ่านหนังสือ เป็นช้อยส์หนึ่งให้เขาเลือก คุณไปดูสิ สาขาที่สามย่านเต็มทุกคืน”
“มีคนถามผมไม่กลัวคู่แข่งเหรอ ผมบอกไม่กลัว เปิดกันเยอะ ๆ เลยยิ่งดี”
“ผมมาเรียนหนังสือตอนแก่ไง (เคยไปเรียนต่างประเทศแต่ธุรกิจครอบครัวประสบปัญหาทางการเงินจึงไม่ได้กลับไปเรียนอีกและมาเรียนอีกครั้งพร้อมกับลูก) เรียนพร้อมลูกผม ดังนั้นพอมาเห็นเด็ก ๆ เรียนกันสมัยนี้อีกทีมันมีความสุขมากนะ เวลาไปถึงร้านก็จะเอาละ แจกอะไรดี ผมก็สั่งป๊อปคอร์นแจกบ้าง สั่งน้ำแจกบ้าง จนลูกน้องบ่น อย่าสั่งน้ำปั่นแจกได้ไหม เพราะลูกน้องจะปั่นกันตาย (หัวเราะ)”
นอกจากนั้น คุณเอนกยังได้เล่าประสบการณ์เมื่อครั้งวิกฤติค่าเงินบาท ซึ่งทำให้บริษัทของเขาตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ด้วยว่า ลูกน้องเดินมาถามเช่นกันว่าจะทำอย่างไร พร้อมกับเสนอทางออกว่าควรลดเงินเดือนทุกคนคนละ 8% บริษัทก็จะอยู่ได้ ผมก็มาถามผู้บริหารว่าลูกน้องเขาจะลดเงินเดือนคนละ 8% พวกลื้อจะเอายังไง งั้นลดเงินเดือนคนละ 15% แล้วกัน สองเท่าของลูกน้อง พอสามปีเราพ้นวิกฤติ ผมนับเลยนะ ลูกน้องแต่ละคน ผมติดอยู่เท่าไร ผมคืนให้เขาหมด มันเหมือนเราเป็นหนี้เขา บางคนรับเงินตกใจเลยนะ วิ่งมาหาเรา คุณเอนก ไล่ผมออกทำไม (หัวเราะ) เขานึกว่าให้ซองขาว”
กลับมาที่ Too Fast To Sleep คุณเอนกได้เล่าถึงหลาย ๆ เคสที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เขาทำ Too Fast To Sleep ไม่ว่าจะเป็นการได้พบเจอเด็ก ๆ หลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ไม่มีบ้านนอนในตอนกลางคืน ต้องออกมาใช้ชีวิตตามท้องถนน ซึ่งเคสที่เขาประทับใจที่สุดคือ มีเด็กคนหนึ่งมาที่ร้านตอนสี่ทุ่ม และถามว่าถ้าไม่มีเงินนั่งได้ไหม ลูกน้องในร้านตอบว่าได้ จากนั้น เด็กคนดังกล่าวก็มาที่ร้านทุกวัน มานั่งอ่านหนังสือ ตอนสี่ทุ่ม และจะออกจากร้านตอนตีห้า เป็นแบบนี้ทุกวัน จนวันหนึ่งเขาไปที่ร้าน จึงได้คุยกับเด็กคนดังกล่าวและพบความจริงที่ว่า บ้านของเด็กคนนั้นอาจไม่เหมือนครอบครัวที่อบอุ่นทั่วไป
“บ้านเขามีสี่คน พ่อแม่พี่ชายแล้วก็เขา เป็นห้องเช่าเล็ก ๆ นอนได้สี่คนพอดี วันดีคืนดีพี่ชายพาเมียมา ตัวเขาก็ไม่มีที่นอน ทุกคืน เขาจะออกไปอยู่ข้างนอก ริมฟุตบาท ไม่มีเงินจะไปนั่งร้านเกมก็ไม่ได้ ผลการเรียนก็ได้ 1.8 กว่า ๆ คือเกือบจะรีไทร์แล้ว แต่หลังจากนั้นเขาก็มาที่ร้าน อ่านหนังสือตอนกลางคืน เขาจบปริญญาตรีด้วยคะแนนเกือบ 2 กว่า ๆ เกือบ 3.0”
“วันจบเขามาหาลูกน้องผม แล้วบอกว่า ขอบคุณมากนะ แต่ต่อไปนี้เขาคงไม่ได้มาใช้บริการแล้ว ลูกน้องมาเล่าให้ฟัง ผมนี่โกรธมาก คนแบบนี้น่าจะเอาไว้ เพราะคนแบบนี้เคยอยู่เฉียดนรกมาแล้ว แต่สามารถถีบตัวเองจนข้ามมาสวรรค์ได้ คนแบบนี้ที่ต้องเก็บเอาไว้”
“ผมบอกลูกน้องเลยว่า จำไว้นะ เด็กบางคนไม่มีตังค์นะ ยี่สิบบาทก็ไม่มี ซึ่งการทำธุรกิจแบบนี้ทำให้บางคนบอกเอนกบ้าไปแล้ว ผมไม่สน เพราะตายไปก็เอาเงินไปไม่ได้”
อย่างไรก็ดี ความใจดี CSR ของ Too Fast To Sleep นอกจากจะทำให้เป็นแบรนด์ในใจของเด็ก ๆ นักศึกษาแล้ว ยังอาจทำให้แบรนด์ดังกล่าวก้าวขึ้นไปอีกขั้นสู่ความเป็น Mass ซึ่งเป็นไปได้ ว่า หาก Too Fast To Sleep ก้าวไปถึงจุดนั้นได้ ธุรกิจนี้อาจเริ่มมี “กำไร” เพราะสเกลในการให้บริการที่เติบโตมากขึ้นด้วย โดยในตอนนี้ Too Fast To Sleep มีทั้งสิ้น 4 สาขาได้แก่ สาขาสามย่าน เกษตร ศาลายา และสยามสแควร์ ซึ่งเป็นการเปิดร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์นั่นเอง
“อาจไมไ่ด้กำไรหวือหวา 5 – 10% ต่อปีก็พอแล้ว เพราะอย่าลืมว่าธุรกิจนี้มันจะขาดรายได้ช่วงปิดเทอม ที่เด็ก ๆ กลับบ้านกันหมด ไม่มีใครมามหาวิทยาลัย รายได้อาจหายไป 90% ก็ต้องเอารายได้ช่วงพีค ๆ มาเฉลี่ยกัน” คุณเอนกกล่าวปิดท้าย