รายงานจาก YouTube ระบุว่า 65% ของคอนเทนต์มหกรรมกีฬาโลกอย่างโอลิมปิก (Olympic) ครั้งที่ผ่านมานั้นถูกเปิดชมบนอุปกรณ์พกพา โดยประเทศที่ชมบนอุปกรณ์พกพามากที่สุดคือซาอุดิอาระเบีย ขณะที่ไทยติดอันดับ 7 ของตารางโลก รองจากอิตาลีและเหนือกว่าสหรัฐอเมริกา
สถิติน่าทึ่งของประเทศไทยนี้ถูกเปิดเผยในรายงานของสำนักข่าว Digiday ซึ่งรวบรวม 5 ตารางแสดงสถิติและพฤติกรรมการชมคอนเทนต์โอลิมปิกครั้งที่ผ่านมาบนโลกออนไลน์ คาดว่าสถิติเหล่านี้จะเป็นแนวทางบอกถึงพฤติกรรมการชมคอนเทนต์โอลิมปิกในครั้งนี้ด้วย
อัตราการชมคอนเทนต์โอลิมปิกที่กรุงลอนดอนบน YouTube ผ่านอุปกรณ์พกพาช่วง 4 ปีที่แล้วนั้นคิดเป็นสัดส่วน 87% ถือว่าสูงสุดของตาราง รองลงมาเป็นอังกฤษและเกาหลีใต้ ถัดมาคือแม็กซีโก มาเลเซีย อิตาลี และไทย โดยสหรัฐอเมริกามีอัตราการชมบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตคิดเป็นอันดับ 8 ของโลก ขณะที่คาซัคสถานและญี่ปุ่นครองอันดับ 9 และ 10
นอกจากตารางนี้ การสำรวจความเห็นของผู้บริโภค ยังพบว่าส่วนใหญ่เลือกชมคอนเทนต์โอลิมปิกส์ทางทีวี โดยแพลตฟอร์มโซเชียลที่เลือกใช้ในการติดตามข่าวคราวโอลิมปิกมากที่สุดคือ Facebook รองลงมาเป็น Twitter ขณะที่ Instagram ได้รับความนิยมรองลงมา และน้องใหม่อย่าง Snapchat นั้นรั้งอันดับ 4
สำหรับช่องทางการแชร์คอนเทนต์โอลิมปิกยอดนิยม อันดับ 1 คือเครือข่ายสังคม รองลงมาเป็นการแชร์ผ่านบริการแชต อันดับถัดมาคือการแชร์ผ่านข้อความ SMS, อีเมล, แอพพลิเคชัน และกระทู้ต่างๆ
แม้โอลิมปิกจะเป็นมหกรรมที่จัดงานในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ แต่คอนเทนต์กีฬาเหล่านี้จะถูกส่งต่อและชมต่อเนื่องไปอีกนาน ข้อมูลจาก YouTube พบว่าฟุตบอลคือกีฬาที่สร้างคอนเทนต์อมตะที่จะทำให้เกิดกระแสบนโซเชียลหรือโลกออนไลน์ต่อเนื่องได้นานที่สุด รองลงมาคือปั่นจักรยาน และไตรกีฬา
เป็นไปได้สูงว่าสถิติเหล่านี้ในโอลิมปิกปี 2016 จะต่างจากสถิติในโอลิมปิกปี 2012 แต่อย่างน้อย ทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวทางให้นักการตลาดทั่วโลกสามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อวางแผนการทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติงกับชาวโซเชียลได้ในเบื้องต้น
ที่มา : digiday