Site icon Thumbsup

ต้องปรับตัวอย่างไร เมื่อ Gen Z ก้าวขึ้นเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดในตลาด

ในตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลาย ๆ แบรนด์ที่หันมาให้ความสนใจกับผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z กันมากขึ้น เนื่องจากกลุ่ม Gen Z หรือก็คือคนที่เกิดระหว่างปี 1997 – 2015 นั้น กำลังเริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดกันแล้วนั่นเอง (ชาว Gen Z ที่อายุมากที่สุดก็คือ 20 ปี) แถมผลการศึกษาจากหลาย ๆ งานวิจัยยังชี้ด้วยว่า ชาว Gen Z นั้นก็มีพฤติกรรมของตัวเอง และแตกต่างจากกลุ่มมิลเลนเนียลอยู่พอควร

โดยจุดต่างของชาว Gen Z กับชาว Millennial ตามการสำรวจของ Nielsen ในหัวข้อ Total Audience Report ประจำไตรมาสที่ 1 ของปี 2017 นั้น พบว่า ในเรื่องของการเป็นเจ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้น อาจไม่ต่างจากชาวมิลเลนเนียล ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นที่ใกล้ ๆ กัน แต่ชาว Gen Z มีประสบการณ์ในการรับชมรายการทีวีแบบเดิม ๆ น้อยกว่าคนเจเนอเรชั่นอื่น ๆ แถมชาว Gen Z ใช้เวลาดูรายการจากอินเทอร์เน็ตบน “คอมพิวเตอร์พีซี” น้อยกว่าคนเจเนอเรชั่นอื่น ๆ ด้วย 

โดยสถิติจาก Nielsen พบว่า

เมื่อศึกษาถึงพฤติกรรมในการซื้อของแล้ว มีรายงานจาก IBM ตัวหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ “Uniquely Generation Z Study 2017″ ที่พบว่า เด็ก Gen Z สนใจการช้อปปิ้งในห้างสูงมาก ดังภาพ ส่วนการช้อปปิ้งโดยผ่านแอปพลิเคชัน หรือโทรศัพท์นั้นก็น้อยอย่างเห็นได้ชัด

ชาว Gen Z กับความต้องการในการซื้อ

ทั้งนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นห้างสรรพสินค้าหลาย ๆ แห่งมีการปรับตัวกันยกใหญ่ในช่วงนี้ ซึ่งไม่ว่าจะใช้ชื่อ Transformation หรือ 4.0 แปะท้าย แต่ก็เป็นการปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหม่นี้นั่นเอง

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของเด็ก Gen Z ที่ต่างจาก Generation อื่นอีกข้อหนึ่งก็คือ ในระหว่างช้อปปิ้งอยู่ในห้าง พวกเขาเหล่านี้ก็ยังนิยมการ “ส่งข้อความ” หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น Generation แห่งการส่งข้อความอย่างแท้จริง ซึ่งผลก็คือ ช่วงเวลานี้น่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งการเตรียมพร้อมในการนำ AI Chatbot มาใช้สำหรับแบรนด์ที่มีศักยภาพ เพื่อเตรียมรับการ Texting จากบรรดาเหล่า Gen Z ที่จะมีกำลังซื้อสูงขึ้นในอีกไม่นานนี้นั่นเอง

ส่วน Mobile apps ที่ชาว Gen Z ใช้งานมากที่สุดระหว่างช้อปปิ้งอยู่ในร้านค้าปลีก ตามการศึกษาของ Euclid Analytics consumer retail behavior survey พบว่า ชาว Gen Z นิยมใช้บริการส่งข้อความและ Snapchat สูงเป็นอันดับต้น ๆ ดังภาพ

Mobile apps ที่ชาว Gen Z ใช้งานมากที่สุดระหว่างช้อปปิ้งอยู่ในร้านค้าปลีก 

ซึ่งไม่เฉพาะการส่งข้อความ แต่ชาว Gen Z มีการใช้งานคุณสมบัติต่าง ๆ ของแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือมากกว่าค่าเฉลี่ยแทบทุก segments อย่างไรก็ดี สำหรับตลาดนอกสหรัฐอเมริกา เราอาจต้องเบนไปที่แอปพลิเคชันอย่าง Instagram – Facebook Messenger แทน เพราะสามารถจับตลาดโลกได้เหนือกว่า Snapchat 

เพื่อตอบรับกับเทรนด์การส่งข้อความ ไม่เฉพาะห้างสรรพสินค้าหรือช็อปต่าง ๆ ที่มีการปรับตัว เพราะมีรายงานข่าวว่า Amazon ผู้ให้บริการ E-Commerce ยักษ์ใหญ่อยู่ระหว่างการทำแบบสำรวจความคิดเห็น และมีแผนจะพัฒนาแอปพลิเคชันส่งข้อความในชื่อ Anytime ออกมาใช้งานในอนาคตอันใกล้นี้เช่นกัน

จะเห็นได้ว่า แม้พฤติกรรมบางอย่างของชาว Gen Z จะคล้ายกับชาว Millennials เช่น ใช้งานอุปกรณ์พกพา ใช้งานแอปพลิคเชัน แต่ก็มีอีกหลาย ๆ ด้านที่ค่อนข้างต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยชาว Gen Z ในปัจจุบันได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดแล้ว ด้วยส่วนแบ่ง ดังนี้

  1. Gen Z 26%
  2. Millennials 22%
  3. Gen X 20%
  4. Baby Boomers 24%

ซึ่งจากความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ เราอาจสรุปได้สั้น ๆ ว่า การสร้างประสบการณ์ในร้านค้าจะเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ และแบรนด์ควรเริ่มมองหาเทคโนโลยีเข้ามารองรับความต้องการด้าน Texting หรือพฤติกรรมการส่งข้อความที่จะเพิ่มมากขึ้นในลูกค้ากลุ่ม Gen Z นอกจากนั้นแล้ว เรื่องของการปรับคอนเทนต์ให้อยู่บนอุปกรณ์สื่อสารก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กันค่ะ

ที่มา: MarketingLand