หากเปรียบปี 2015 เป็นปีแห่งไวรัล ปี 2016 เป็นปีของ Social Media และปี 2017 เป็นปีแห่ง Influencers ปี 2018 อาจเป็นปีที่นักการตลาดทั่วโลกต้องให้ความสนใจกับ Micro-Influencers อย่างจริงจัง เนื่องจาก Micro-Influencers กำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้แคมเปญการตลาดประสบความสำเร็จได้ไม่แพ้การใช้คนดัง ที่สำคัญ มีความเป็นไปได้ว่า Micro-Influencers นั้นสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวสินค้าได้มากกว่าคนดังอีกด้วย
สำหรับหลายคนที่สงสัยว่าแล้ว Micro-Influencers คือใครนั้น อาจกล่าวได้ว่า Micro-Influencers คือคนทั่วไปที่เป็น Real Users ของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ และสามารถทำให้เกิดการบอกต่อได้ เช่น เวลาเราไปกินข้าวที่ร้านไหนแล้วถูกใจ ถ่ายรูปแชร์บน Social Media จากนั้นก็มีเพื่อนมาถามว่าร้านตั้งอยู่ที่ไหน (จะได้ไปชิมบ้าง) เป็นต้น ซึ่ง Micro-Influencers สามารถสร้าง Awareness ให้กับแบรนด์ได้ไม่ต่างจาก Influencers ประเภทอื่น ๆ แต่ที่ Micro-Influencers เริ่มเป็นที่น่าจับตาสำหรับแบรนด์ก็คือคุณค่าที่ Micro-Influencers ทำได้มากกว่า นั่นคือการสร้าง Trust ให้กับสินค้าหรือบริการได้นั่นเอง
การเกิดขึ้นของ Micro-Influencers นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บริโภคฉลาดและรู้เท่าทัน (นักการตลาด) มากขึ้นกว่าเดิม จากแบรนด์ที่เคยใช้ดาราคนดังมาบอกว่าใช้สินค้านี้แล้วดีงาม ตอนนี้ในสายตาผู้บริโภคก็รู้ทันแล้วว่านั่นคือการโฆษณา หรือจะจ้างบล็อกเกอร์ดัง ๆ ให้รีวิวสินค้าให้นั้น ถึงวันนี้ ผู้บริโภคอาจสัมผัสได้ว่าเป็นการจ้างรีวิว ตรงกันข้ามกับการที่คนธรรมดาทั่วไปออกมาพูดถึงสินค้าที่ผู้บริโภค (ทุกวันนี้) ยังรู้สึกว่า มีความจริงใจมากกว่า การใช้ Micro-Influencers จึงเป็นสิ่งที่แบรนด์ต้องตระหนักให้มากขึ้นด้วยประการฉะนี้
แต่การทำแคมเปญการตลาดโดยใช้ Micro-Influencers ก็มีกฎด้วยเช่นกัน ซึ่งในมุมของผู้บริหารแพลตฟอร์ม Revu อย่างคุณเชค อนุพงศ์ จันทร ได้ให้ทัศนะว่า แบรนด์จะต้องท่องกฎสามข้อนี้ไว้ให้ขึ้นใจ การใช้ Micro-Influencers จึงจะประสบความสำเร็จ ได้แก่
- ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะให้ Micro-Influencers ทำอะไร
- เมื่อแจ้งเป้าหมายไปแล้ว ต้องให้อิสระเต็มที่ นั่นคือเมื่อให้เขาทำแล้ว ต้องอย่าเข้าไปขัดขวาง หรือไปกำหนดว่างานควรจะออกมาอย่างไร แต่ให้เขามีอิสระที่จะเขียนงาน จึงจะทำให้งานออกมาเป็นคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ และแบรนด์จะได้ชิ้นงานที่หลากหลาย
- ควรมีโปรโมชันให้ Micro-Influencers นำไปบอกต่อได้ เช่น ให้ตัวอย่างทดลองกับ Micro-Influencers ไปแจกบนช่องทางของเขา หรือให้โค้ดส่วนลดเพื่อให้ Micro-Influencers ไปบอกกับ Followers
นอกจากสิ่งที่ต้องเตรียมการเพื่อ Micro-Influencers แล้ว หลังบ้านของแบรนด์เองก็ต้องมีการเตรียมการด้วยเช่นกัน ซึ่งในจุดนี้คุณอนุพงศ์แนะนำว่า “ควรมีการใช้คีย์เวิร์ดที่ถูกต้อง เพราะ Micro-Influencers ไม่ใช่คนดัง ไม่ใช่เพจที่มีคนติดตามหลักล้าน ดังนั้น ผู้บริโภคจะพบ Micro-Influencers ได้ก็จากการเสิร์ช และต่อให้ Micro-Influencers รีวิวดีแค่ไหน แต่ถ้าไมีคีย์เวิร์ดที่ถูกต้อง ก็จะเสิร์ชไม่เจอ ทั้งนี้ การจะกำหนดว่าจะใช้คีย์เวิร์ดอะไร สามารถเข้าไปดูได้ที่ Google Keyword Planner หรือ Google Trend และควรให้ Influencers ใส่คีย์เวิร์ดเหล่านั้นลงในบทความรีวิวด้วยเสมอ”
นอกจากนั้น การรีเฟรชบทความให้ใหม่อยู่เสมอก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะบทความที่รีวิวไว้แล้วเมื่อสองปีก่อน กับบทความที่วันที่ Publish เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างหลังย่อมได้รับความสนใจมากกว่านั่นเอง ซึ่งจากการเตรียมความพร้อมเหล่านี้ เชื่อว่าตลอดปี 2018 เราจะได้เห็นเทรนด์การใช้ Micro-Influencers ที่ไม่ธรรมดาจากนักการตลาดของไทยเกิดขึ้นอย่างแน่นอน