การครบรอบ 20 ปีของ Huawei ประเทศไทยนั้น ต้องย้อนถึงช่วงเวลาตั้งแต่การเข้ามาของกลุ่ม Enterprise และ Consumer ที่วันนี้รวมทุกธุรกิจมาไว้ภายใต้อีโคซิสเต็มส์เดียวกัน ผ่านการบริหารของ อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย จำกัด ที่เพิ่งเข้ามานั่งในตำแหน่งนี้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ปีนี้ถือเป็นอีกปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับหัวเว่ย เนื่องในการฉลองการดำเนินงานในไทยครบรอบ 20 ปี หลังจากที่ได้สั่งสมการพัฒนาทางด้านต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราจึงมีความเข้าใจในตลาดอย่างลึกซึ้ง และตระหนักดีกว่านวัตกรรมที่สร้างอนาคตของประเทศไทยมีความสำคัญอย่างไร
โดยกุญแจสำคัญที่จะนำศักยภาพด้านนวัตกรรมมาสู่ประเทศนี้คือบุคลากรที่มีความสามารถ และกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลก็คือ อีโคซิสเต็มของอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของหัวเว่ยในการส่งเสริมและสนับสนุนประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การสานพลังนวัตกรรม เชื่อมไทยสู่อนาคต ร่วมกัน
เส้นทางของ Huawei ในไทย
นับตั้งแต่การก่อตั้งสำนักงานในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2542 หัวเว่ยมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีให้แก่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผู้พัฒนาโครงข่าย 2G, 3G และ 4G ในประเทศไทยและยังเป็นผู้นำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในด้านต่างๆ รวมทั้งการเดินหน้าต่อเรื่อง 5G
“เรามีความภูมิใจที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีให้แก่ประเทศไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยจะยังคงต่อยอดความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งตรงตามวิสัยทัศน์ของหัวเว่ย ในการส่งมอบเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่คนไทยทุกคน ทุกครัวเรือนและทุกองค์กร เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างไร้รอยต่อในโลกแห่งนวัตกรรมนี้” มร. อาเบล เติ้ง กล่าว
นอกจากการเป็นศูนย์กลางในการดำเนินธุรกิจของหัวเว่ยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หัวเว่ยยังได้เปิดศูนย์ OpenLab ในกรุงเทพมหานคร ศูนย์คลาวด์ ดาต้า รวมถึง 5G Testbed เป็นต้น โดยปัจจุบัน หัวเว่ยได้จ้างงานบุคลากรในประเทศไทยถึง 3,200 คน ซึ่งมีถึง 75% ที่เป็นคนไทย โดยในปี 2561 การจัดซื้อจัดจ้างของหัวเว่ยในประเทศไทยคิดเป็นมูลค่าถึง 196 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
เตรียมเปิด Academy พัฒนาศักยภาพคนไทย
หัวเว่ยยังเตรียมที่จะเปิดตัวหัวเว่ย อะเคเดมี ในประเทศไทย เพื่อเฟ้นหาและส่งเสริมบุคลากรที่มีทักษะด้านไอซีที พร้อมส่งเสริมให้ประเทศเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 และด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัยอย่างคลาวด์ เอไอ และซูเปอร์คอมพิวติ้ง หัวเว่ยจะสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลได้ทั้งในส่วนขององค์กรภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม
ช่วยส่งเสริมนวัตกรรมให้แก่บริษัทสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี บ่มเพาะให้เกิดอีโคซิสเต็มแห่งนวัตกรรมบนรากฐาน 5G และขับเคลื่อนความสามารถด้านนวัตกรรมของไทยจากระดับรากฐาน ทั้งนี้ เพื่อร่วมมือกันสร้างอีโคซิสเต็มของภาคอุตสาหกรรมเพื่อสังคมอัจฉริยะที่เชื่อมต่ออย่างไร้ที่ติในอนาคต
การเดินหน้าเรื่อง 5G ในจีนถือว่าเป็นความร่วมมือที่กำลังก่อให้เกิดโอกาสเป็นอย่างมาก หากประเทศไทยทั้งภาพรวมประเทศ องค์กรธุรกิจและการใช้งานของประชาชนสามารถช่วยกันผลักดันให้เกิดได้ น่าจะช่วยให้ไทยสามารถพัฒนาขีดความสามารถทัดเทียมกับชาวต่างชาติได้อย่างแน่นอน