Huawei เปิดแผนธุรกิจ ลุยตลาดการศึกษาด้วยโซลูชัน Smart Education หวังตอบโจทย์การทำ Transformation ในส่วนของมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยต่าง ๆ รวมถึงโรงเรียนระดับมัธยม ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศล่าสุดอย่าง SDN Network, Cloud Data, Smart Classroom พร้อมเปิดตัวเลข การลงทุนเทคโนโลยีสารสนเทศในธุรกิจการศึกษามีการเติบโตอย่างน่าสนใจในสหภาพยุโรปและเอเชียแปซิฟิก โดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้ของ Huawei ถึง 20%
โดยการผลักดันครั้งนี้ นอกจากจะยกเคสของความร่วมมือกับ สจล. มาเป็นกรณีตัวอย่างแล้ว Huawei ยังได้จัดการประชุมด้านการศึกษาระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในชื่อ Huawei Asia Pacific Education Summit 2017 ภายใต้แนวคิด Leading New ICT, The Road to Smart Education ขึ้นด้วย โดยมีการจัดแสดงระบบเครือข่ายไอซีทีของ สจล. ให้กับผู้เข้าชมงานได้ศึกษาเป็นกรณีตัวอย่างด้วย
คุณเดวี่ ชิว รองประธานฝ่ายการตลาดและการขาย กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ สำนักงานใหญ่ เผยว่า การสร้างระบบการศึกษาอัจฉริยะ หรือ Smart Education นั้นจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และทำให้ผู้เรียนได้เข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ได้โดยไม่มีข้อจำกัด
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเผยว่า SDN & Cloud Computing Center ของ สจล. เป็นก้าวแรกของการยกเครื่องระบบโครงสร้างด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้รองรับรูปแบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยในอนาคตได้ โดยประกอบด้วย
- 100G Based Campus Core Network ซึ่งเป็นระบบโครงข่ายคอมพิวเตอร์ที่สามารถส่งถ่ายข้อมูลที่ความเร็ว 100 กิกะบิตต่อวินาที
- SDN (Software-defined network) for Campus and Data Center Convergence เป็นระบบเครือข่ายที่รวมความเป็น Data Center เข้ากับ Campus Network เพื่อผู้ดูแลเครือข่ายสามารถใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น
- Educational Cloud Data Center in Container ศูนย์ข้อมูลจัดเก็บแบบบูรณาการในตู้คอนเทนเนอร์ที่เคลื่อนที่ได้ การทำงานมีเสถียรภาพและปลอดภัยสูง เริ่มใช้งานได้รวดเร็ว ย้ายตำแหน่งได้ง่าย ประหยัดพลังงานและมีค่าใช้จ่ายต่ำ
- WiFi coverage with whole campus Free Mobility เครือข่าย WiFi ที่เชื่อมต่อได้ถึงระดับกิกะบิตต่อวินาทีครอบคลุมทั่วมหาวิทยาลัย 3,000 จุด
โดยทาง สจล. เผยว่า จากความพร้อมนี้ทำให้ทาง สจล. สามารถจับมือกับมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ในสหรัฐอเมริกา เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงคอร์สต่าง ๆ ที่สอนโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระดับโลกได้ รวมถึงอาจารย์ในสถาบันก็สามารถทำวิจัยในด้านต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบทิศทางการขับเคลื่อนเทคโนโลยีให้เข้าสู่ธุรกิจการศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกับจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว ในมุมมองของคุณเดวี่ ชิว ผู้บริหาร Huawei มองว่า เอเชียแปซิฟิกอาจเริ่มช้ากว่าจีนอยู่พอสมควร โดยจีนนั้นมีการจับมือกันของสถาบันการศึกษาเพื่อลงทุนด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งทำให้สถาบันการศึกษาของจีนสามารถเข้าถึงเน็ตเวิร์กความเร็วระดับ 100 Gbps ขึ้นไปได้นานแล้วนั่นเอง
นอกจากการผลักดัน Smart Education Solution ดังกล่าวแล้ว การเปิดตัวศูนย์ OpenLab ของ Huawei ก่อนหน้านี้ในกรุงเทพฯ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการพัฒนาบุคลากรดิจิทัลเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดเช่นกัน โดย OpenLab ที่กรุงเทพสามารถฝึกอบรมคนได้กว่า 800 คนต่อครั้ง และมอบประกาศนียบัตรวิชาชีพให้แก่บุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาแล้วกว่า 500 คนเลยทีเดียว และในปี 2018 Huawei มีแผนจะสร้าง OpenLab อีกแห่งในประเทศอินเดียด้วย
เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาด Smart Education อย่างต่อเนื่อง ทาง Huawei ระบุว่า จะจัดงาน “Huawei Asia Pacific Education Summit 2017” ขึ้นเป็นประจำทุกปี และจะเชิญผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการศึกษาระดับโลกมาร่วมกันอัปเดทเทรนด์เทคโนโลยีด้านการศึกษา และแลกเปลี่ยนกันถึงอนาคตของ Digital Transformation ในอุตสาหกรรมการศึกษาของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย
อย่างไรก็ดีในส่วนของงบประมาณการลงทุนระบบทั้งหมดใน สจล. ครั้งนี้ยังไม่มีการเปิดเผยว่ามีมูลค่าเท่าไร