เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการเปิดเผยตัวเลขชุดหนึ่งที่น่าสนใจมากสำหรับคนไทย นั่นก็คือ “รายงานเชิงลึกการพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจฐานดิจิทัลของประเทศไทย” (Thailand Digitalization Whitepaper) ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท โรแลนด์ เบอร์เกอร์ (Roland Berger) โดยเจาะลึกในเรื่องดิจิทัลของอุตสาหกรรมไทย 3 ด้านได้แก่ สังคมผู้สูงอายุ, การเกษตร และการท่องเที่ยว
สำหรับตัวเลขที่น่าสนใจนี้มาจากข้อมูลฟากของ “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) เหตุที่กล่าวว่าน่าสนใจมากเป็นเพราะในรายงานชิ้นนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ. 2573 หรืออีก 13 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุถึง 26.9% ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งตัวเลขนี้เทียบเท่าประเทศสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรเลยทีเดียว ขณะที่ในระดับโลกแล้ว ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 17% หรือระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็ไม่ต่างกันมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 18% เท่านั้น
ส่วนสาเหตุการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุนั้นเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงทราบกันดีแล้วว่า มาจากสองประเด็นหลัก ๆ นั่นก็คือ อัตราการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กับการเพิ่มขึ้นของอายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากร
แผนภาพที่ 1 ปิระมิดประชากรไทยแสดงถึงประชากรตามเพศและกลุ่มอายุ
นอกจากนั้นยังมีประเด็นรองในเรื่องของการขยายตัวของสังคมเมือง และการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ที่ทำให้ไลฟ์สไตล์ของคนไทยเปลี่ยนไป และมีแนวโน้มต้องการจำนวนบุตรที่น้อยลงด้วย
สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นนี้นำไปสู่ความท้าทายในหลาย ๆ ด้านที่คนไทยในยุคต่อไปต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น
1. รายจ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น
ตัวเลขจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยในปี พ.ศ. 2557 อยู่ที่ 360 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 12,258 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า จากเดิมในปี พ.ศ. 2543 นั้นอยู่ที่คนละ 74 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,519 บาทเท่านั้น
ในขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ภาครัฐต้องรับผิดชอบก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยพบว่า ในปี พ.ศ. 2538 ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แค่ 51% แต่ในปี พ.ศ. 2557 พบว่าเขยิบขึ้นมาเป็น 86%
แผนภาพที่ 2 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อประชากรหนึ่งคน (เหรียญสหรัฐ, พ.ศ. 2538 ถึง 2557)
2. ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มจำนวนขึ้น
หนึ่งในข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ประกอบอยู่ในรายงานเชิงลึกฉบับนี้ชี้ว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากป่วยเป็นโรคเรื้อรัง (ความดันโลหิตสูง – เบาหวาน เป็นสองโรคที่พบได้บ่อยที่สุด) โดยตัวเลขในปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มเป็น 37% และเบาหวานเพิ่มเป็น 15% จากเดิมในปี พ.ศ. 2545 อยู่ที่ 20% และ 9% ตามลำดับ
3. บริการทางการแพทย์ที่ไม่สะดวกต่อผู้สูงอายุ
จากรายงานดังกล่าวพบว่า ผู้สูงอายุกว่าครึ่งของไทยนั้นอาศัยอยู่ในเขตชนบท โดยภาคเหนือและภาคอีสานมีประชากรที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากที่สุด มากไปกว่านั้น ในเขตชนบท เมื่อมีผู้สูงอายุป่วย และต้องการแพทย์เฉพาะทาง การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมารอพบแพทย์ที่โรงพยาบาลระดับอำเภอ เป็นที่เรื่องยากลำบากมาก
4. มีผู้สูงอายุที่ต้องอาศัยตามลำพังเพิ่มขึ้น
การปรับเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ทำให้ประชากรวัยทำงานต้องเข้ามาทำงานในเมืองมากขึ้น และปล่อยให้ผู้สูงอายุจำนวนมากอาศัยอยู่ตามลำพัง โดยในปี พ.ศ. 2557 พบว่ามีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ตามลำพังเพิ่มเป็น 8.7% จากเดิมในปีพ.ศ. 2537 มีแค่ 3.6% ส่วนผู้สูงอายุที่อาศัยกับบุตรหลานก็ลดลงเหลือแค่ 55% จากเดิมที่ 73% ด้วย
แผนภาพที่ 3 สัดส่วนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่กับบุตรและอาศัยอยู่ตามลำพัง (%, พ.ศ. 2537 – 2557)
การอยู่ตามลำพังถือว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เช่น หกล้ม, หัวใจวายเฉียบพลันในผู้สูงอายุได้มาก อีกทั้งยังพบว่าสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า ผู้สูงอายุไทยกว่า 90% อาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่มีราวจับในห้องน้ำ และห้องนอน รวมถึงยังมีอีก 35% ที่ขับถ่ายด้วยส้วมหลุม ทำให้ต้องนั่งยองและอาจลุกได้ยากลำบากนั่นเอง
5. ประเทศไทยกำลังมีผู้ช่วยเหลือค้ำจุนผู้สูงอายุลดลง
ผู้ช่วยเหลือค้ำจุนผู้สูงอายุก็คือ คนดูแล ซึ่งหากคำนวณจากประชากรวัยทำงาน (อายุ 15 – 60 ปี) ต่อประชากรสูงอายุ 1 คน (อายุมากกว่า 60 ปี) พบว่า จากเดิมที่มีอยู่ 4.2 คนในปี พ.ศ. 2558 จะลดลงเหลือ 2.2 คน ในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งการขาดผู้ดูแลนี้ หากไม่มีการแก้ไขจะนำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ อีกมากมายในอนาคต
แผนภาพที่ 4 จำนวนประชากรวัยทำงานต่อผู้สูงอายุ 1 คน (พ.ศ. 2543 – 2573)
6. เกิดผลกระทบจากการพึ่งพาทางด้านเศรษฐกิจ
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า รายได้ของประชากรไทยในแต่ละช่วงอายุมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยผู้สูงอายุมีรายได้ต่อปีน้อยกว่าคนวัย 40 – 44 ปีถึง 30% และ 80% ของผู้สูงอายุได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากบุตรหลาน และมีถึง 37% ที่บอกว่า เงินช่วยเหลือจากบุตรหลานคือรายได้หลักของตนเอง
แผนภาพที่ 5 ผู้สูงอายุแบ่งตามแหล่งที่มาของรายได้หลัก
ดึง “4 เทคโนโลยี” รับมือ 6 ความท้าทาย
จากตัวเลขดังที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องนำ “เทคโนโลยี” เข้ามาจัดการกับ “ความท้าทาย” เหล่านั้น ซึ่งเทคโนโลยีที่สามารถนำมาช่วยได้นั้น รายงานเชิงลึกชิ้นนี้ได้ชี้ว่ามีทั้งสิ้น 4 หมวดใหญ่ ๆ ได้แก่
1. การจัดทำระบบจัดการข้อมูลสุขภาพแห่งชาติ (National Health Information System หรือ NHIS)
ระบบจัดการข้อมูลสุขภาพแห่งชาติ (NHIS) ประกอบด้วยการจัดเก็บข้อมูลแบบ Real-Time การบันทึกข้อมูลในฐานข้อมูลระดับชาติ (National Data Platform) การแบ่งปันข้อมูลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ซึ่งข้อมูลหลักของระบบ NHIS คือฐานข้อมูลประวัติผู้ป่วยในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National Electronic Health Record) โดยเป็นประวัติอย่างละเอียดของประชากรแต่ละคน เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลระบบประกันสุขภาพ ข้อมูลการแพ้ยา ประวัติการเป็นโรค ประวัติการตรวจรักษา ประวัติการใช้ยา ประวัติการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ฯลฯ ที่โรงพยาบาลทุกแห่งมีสิทธิ์เข้าถึง
แผนภาพที่ 6 ส่วนประกอบต่าง ๆ ของระบบบริการข้อมูลสุขภาพแห่งชาติ
โดยที่ผ่านมา ความท้าทายของประเทศไทยก็คือ การที่ประเทศไทยมีระดับการพัฒนาของ NHIS อยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระดับที่มีการพัฒนาและการใช้แบบกระจัดกระจาย (Scattered Stage) ที่ภาครัฐและเอกชนมีการจัดเก็บข้อมูลแบบดิจิทัล แต่ส่วนใหญ่ไม่มีการประสานงานในการจัดเก็บข้อมูล อีกทั้งไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลระดับชาติสำหรับผู้ป่วยด้วย
ความท้าทายอีกข้อหนึ่งคือ ความไม่พร้อมทางการบุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นประเด็นที่ทำให้การจัดเก็บข้อมูลสุขภาพทำได้ยากขึ้น รวมถึงการที่ระบบไม่สามารถทำงานข้ามแพลตฟอร์มกันได้กับระบบอื่น ทำให้การแชร์ข้อมูลถูกจำกัด ประการสุดท้ายคือการประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และการรักษาความลับของผู้ป่วยที่ยังเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนเป็นกังวล
ด้วยเหตุนี้ แนวทางการพัฒนาที่รายงานเชิงลึกชิ้นนี้นำเสนอจึงมีสองข้อใหญ่ ๆ ด้วยกัน นั่นคือ การพัฒนาระบบบันทึกฐานข้อมูลประวัติผู้ป่วยในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National Electronic Health Record หรือ NEHR) บนฐานข้อมูลระดับชาติ โดยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงได้ และมีการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการวางนโยบายและการป้องกันโรคได้ด้วย
สองคือการพัฒนาพอร์ทัลสำหรับผู้ป่วยแห่งชาติ (National Patient Portal) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงฐานข้อมูลระดับชาติ และข้อมูลประวัติของตัวเองผ่านแอปพลิเคชัน และสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูล สถิติ บทวิเคราะห์เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและแอปพลิเคชันด้านสุขภาพต่อไป
2. การให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้สูงอายุในพื้นที่ห่างไกลอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดด้วย Telehealth
Telehealth คือการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มาใช้ในการให้บริการด้านสุขภาพในระยะทางไกลและสามารถนำมาใช้ได้ใน 2 รูปแบบ ได้แก่
- 1. Provider-to-Provider (ระหว่างผู้ให้บริการด้านสุขภาพ)
- 2. Provider-to-Patient (ระหว่างผู้ให้บริการด้านสุขภาพกับผู้ป่วย)
แผนภาพที่ 7 ภาพอธิบาย Telehealth สองรูปแบบ
ประโยชน์ที่จะได้รับจาก Telehealth คือ ช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับบริการด้านสุขภาพจากแพทย์เฉพาะทางที่อยู่ในโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาลเหล่านั้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังด้วย
ในส่วนของรัฐบาล Telehealth จะช่วยลดความจำเป็นในการสร้างสถานพยาบาลเพิ่มเติมในพื้นที่ชนบท และการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ลงได้
สำหรับตัวการที่สะกัดการใช้งาน Telehealth ไม่ให้แพร่หลายนั้น ประกอบด้วย 3 ปัจจัย ดังนี้
– โครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ยังไม่พร้อม ทั้งในด้านความเร็วและการครอบคลุมของเครือข่าย
– ขาดความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี Telehealth
– กฎระเบียบต่าง ๆ ยังไม่ชัดเจนในการให้การรักษาแบบ Telehealth และจำเป็นต้องกำหนดสิทธิของแพทย์และผู้ป่วยให้ชัดเจนขึ้น
โดยรายงานดังกล่าวได้เสนอรูปแบบการพัฒนา Telehealth เอาไว้ดังนี้
– พัฒนาเครือข่าย Telehealth ระหว่างผู้ให้บริการ (Provider to Provider) เช่นในโรงพยาบาลศูนย์ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ (ร่วมกับการเตรียมความพร้อมในด้านแอปพลิเคชัน) เพื่อให้การสื่อสารกับโรงพยาบาลศูนย์มีความชัดเจนและรวดเร็ว
– อบรมบุคลากรทางการแพทย์ให้พร้อมที่จะให้บริการ Telehealth
– สนับสนุนให้มีบริการ Telehealth ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ป่วยมากขึ้น (Provider to Patient) โดยเฉพาะเทคโนโลยี Remote Patient Monitoring เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีความลำบากในการเดินทางมาพบแพทย์
– พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับวัดข้อมูลที่บ้าน และอุปกรณ์รับข้อมูลที่โรงพยาบาล
– ส่งเสริมภาคเอกชนรวมถึงสตาร์ทอัป ผลิตอุปกรณ์แบบสวมใส่ (Personal Wearables) เพื่อใช้ในการชี้วัดทางสุขภาพด้วยตัวเองและเชื่อมกับระบบ Remote Patient Monitoring ของโรงพยาบาล
– แก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการใช้งาน Telehealth โดยต้องกำหนดสิทธิ์ของแพทย์และผู้ป่วยอย่างชัดเจน และในส่วนของบริการแบบ Provider to Patient ก็ต้องมีนโยบายด้านความเป็นส่วนตัวที่รัดกุม เป็นต้น
3. การเสริมสร้างความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้สูงอายุขณะอยู่บ้าน
ความปลอดภัยของผู้สูงอายุขณะอยู่บ้านเป็นสิ่งที่ลูกหลานหลายคนกังวล ซึ่งเทคโนโลยีที่เหมาะสมจะนำมาใช้ใน Smart Home จึงมีหลากหลาย สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่ม Home Sensors, อุปกรณ์ IoT และ Care Robots (หุ่นยนต์ดูแล)
ประโยชน์ของ Smart Home
- ช่วยเพิ่มความปลอดภัยโดยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง
- ลดภาวะการพึ่งพาคนอื่นในการดำรงชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุในวันที่ผู้ดูแลหาได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ
- ช่วยลดความกังวลของลูกหลาน
ด้วยเหตุนี้ รายงานเชิงลึกฯ ฉบับนี้จึงมีคำแนะนำว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า สิ่งที่ประเทศไทยควรมุ่งเน้นก็คือ การสนับสนุนให้มีการพัฒนาสินค้า Smart Home ออกมาให้มากกว่านี้ โดยเน้นที่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อพัฒนาเซนเซอร์ในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ที่ใช้งานง่าย และมีราคาย่อมเยา รวมถึงการสนับสนุนเอกชน และสตาร์ทอัปในการพัฒนา IoT และหุ่นยนต์ดูแลที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุด้วย
4. การใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจและสังคม
เครื่องมือดิจิทัลสำหรับผู้สูงอายุ (Digital Social Interaction Solutions) เป็นกลุ่มของเครื่องมือดิจิทัลที่สามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ทั้งในด้านสุขภาพ การพัฒนาสมอง การเพิ่มการมีส่วนร่วมกับสังคม การหางานและการสร้างรายได้ การติดต่อกับญาติมิตร ฯลฯ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นสามกลุ่มหลักดังนี้
- Online Communities & Communications
- Caregivers Platforms
- Lifestyle Promotion Tools
แม้ว่าการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลสำหรับผู้สูงอายุสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ แต่จากข้อมูลของรายงานชิ้นนี้ได้ชี้ว่า ผู้สูงอายุที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างสม่ำเสมอนั้นมีเพียง 3.9% เท่านั้น ขณะที่การพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลสำหรับผู้สูงอายุโดยสตาร์ทอัปไทยก็ยังมีจำกัด ซึ่งการที่ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจประโยชน์ของเครื่องมือดิจิทัล ทำให้พลาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพสำคัญ และการมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนออนไลน์จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าได้ด้วย
แผนภาพที่ 8 อัตราการใช้อินเทอร์เน็ต (% ของประชากร)
ด้วยเหตุนี้แนวทางที่สามารถพัฒนาต่อในอีก 5 ปีข้างหน้าคือการพัฒนา Digital Social Interaction Solution สำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งอาจเริ่มใช้เครื่องมือดิจิทัลนี้กับผู้สูงอายุในเขตเมืองก่อน เนื่องจากผู้สูงอายุในเขตเมืองมีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหามากกว่าผู้สูงอายุในเขตชนบท ก่อนจะให้การสนับสนุนการพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลใหม่ ๆ ที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ นายวิคเตอร์ จาง ประธานบริหาร ฝ่ายสื่อสารรัฐกิจ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด เผยว่า หัวเว่ยขอให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยโดยใช้ความสามารถด้านเทคโนโลยีของบริษัทมาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัล ซึ่งรายงานเชิงลึกนี้ถือเป็นหนึ่งในข้อตกลงความร่วมมือด้วย
ด้านนายเดวิค ซุน ประธานกรรมการบริหารและหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แสดงความเชื่อมั่นในระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ และนโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากบีโอไอ ว่าจะทำให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมมากขึ้นในสายตาองค์กรธุรกิจในระดับชาติ
ขณะที่อีกหนึ่งการสนับสนุนจากหัวเว่ยที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือการเปิดศูนย์ Huawei OpenLab Bangkok มูลค่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 512 ล้านบาท ที่อาคารจีทาวเวอร์ ถนนรัชดาภิเษก โดยศูนย์ดังกล่าวตั้งขึ้นบนพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร และสามารถใช้เป็นสถานที่สำหรับการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มพื้นฐานด้านไอซีทีของไทย ได้อย่างครบวงจร
โดยที่ผ่านมา หัวเว่ยมีการสร้างศูนย์ Huawei OpenLab มาแล้วในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน สิงคโปร์ เยอรมนี เม็กซิโก แอฟริกาใต้ ดูไบ และมีแผนจะสร้างให้ครบ 20 แห่งภายในปี พ.ศ. 2562 ด้วย
สำหรับ Huawei OpenLab Bangkok นั้น บริษัทมีแผนจะใช้ศูนย์ดังกล่าวเป็นสถานที่ฝึกอบรมบุคลากร ด้านไอซีทีได้ไม่ต่ำกว่า 800 คนต่อปี รวมถึงพัฒนาบุคลากรที่ผ่านประกาศนียบัตรรับรองด้านอาชีพ Huawei Certification อีก 500 คนต่อปี รองรับโครงการทดสอบแนวคิดราว 150 คนต่อปี และสตาร์ทอัปด้านไอซีทีได้มากกว่า 20 รายด้วย
นายซุนเผยว่า “ศูนย์ Huawei OpenLab Bangkok จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลแก่ลูกค้าและพันธมิตรต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม โดยจะเป็นแพลตฟอร์มแบบเปิด และ Data Center สำหรับช่วยแก้ปัญหาการทดสอบโซลูชันการใช้งานต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ทั้งยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมด้วย”
ทั้งนี้ จะมีนักวิจัยจากต่างชาติเดินทางเข้ามาทำงานที่ศูนย์ดังกล่าวอีกหลายร้อยคนในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะทำให้นักวิจัย หรือสตาร์ทอัปจากไทยสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ โดยตรง
จากข้อมูลที่น่าสนใจใน Aging Society ที่เราได้นำมาฝากกันผ่าน “รายงานเชิงลึกการพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจฐานดิจิทัลของประเทศไทย” ครั้งนี้ เชื่อว่า หลายท่านคงได้เห็นความสำคัญบางประการของการจับมือกัน การศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อต้านทาน หรืออย่างน้อยก็ปรับให้เราสามารถต่อกรกับความรุนแรงจาก Digital Disruption ได้ดียิ่งขึ้น