ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์จากโลกตะวันตกเริ่มขยายคอนเทนต์ของตนเองลงมาสู่บริการส่งข้อความอย่าง LINE หรือ WeChat อันโด่งดัง สื่ออย่าง Huffington Post ก็เลือกที่จะลงมาอยู่บนสองแพลตฟอร์มนี้เช่นกัน แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีนำเสนอเล็กน้อย โดยการสร้างแอคเคาท์ขึ้นมาสองแอคเคาท์ แอคเคาท์แรกเป็นการนำเสนอในภาษาอังกฤษ ส่วนแอคเคาท์ที่สองจะนำเสนอด้วยภาษาถิ่น
วิธีดังกล่าวทำให้ Huffington Post สามารถทะลายข้อจำกัดด้านภาษาลงได้ และทำให้ทราบถึงความชอบของผู้ชมในแต่ละประเทศ แต่ละภาษาได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกของ WeChat ภาคภาษาอังกฤษนั้นชอบเรื่องราวเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ บันเทิง ข่าวสารของ Asian Americans ส่วนสมาชิก WeChat ของภาคภาษาจีนนั้นจะชอบบทความวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากกว่า
ส่วนการนำเสนอด้วยคลิปวิดีโอนั้น ทาง Huffington Post พบว่า บน LINE มีการตอบรับที่สูงกว่า WeChat ซึ่งอาจมาจากผู้ใช้งาน WeChat ส่วนมากมีแบนด์วิธที่จำกัดก็เป็นได้
ทั้งนี้ Huffington Post ปฏิเสธที่จะเปิดเผยยอดวิวบน WeChat แต่สำหรับใน LINE นั้น ปัจจุบัน แอคเคาท์ภาคภาษาอังกฤษมีผู้ติดตามกว่า 340,000 คนแล้ว นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และแต่ละโพสต์ก็ได้รับการสนใจอย่างสูงด้วย ส่วนแอคเคาน์ LINE ภาคภาษาญี่ปุ่นนั้น มีผู้ติดตามแล้วกว่า 30,000 รายทั้ง ๆ ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเท่านั้น และผลจากการก้าวลงมาในแพลตฟอร์มส่งข้อความในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ผู้บริโภคสื่อในเอเชีย มีความสนใจ และก้าวทันเทคโนโลยี โดยสามารถใช้แอปพลิเคชันส่งข้อความเพื่อรับชมข่าวสารต่าง ๆ ได้
ไม่เฉพาะแต่ Huffington Post สื่ออย่าง Business Insider ก็สามารถสร้างผู้ติดตามบน Line ได้ถึง 230,000 คน ภายในเวลา 2 สัปดาห์หลังจากเปิดตัวเช่นกัน
อย่างไรก็ดี สำหรับสื่อจากโลกตะวันตก แอปอย่าง WeChat ยังคงเป็นปราการที่ยากจะฝ่าเข้าไป หากเปรียบเทียบกับ LINE และมีน้อยรายที่อยากจะแชร์ตัวเลขความเคลื่อนไหวบน WeChat ออกมาให้โลกรับรู้ ลักษณะของการใช้ WeChat ในขณะนี้ของสื่อจึงเป็นไปในแง่ของการสร้างการรับรู้ – สร้างการมีตัวตนบน WeChat เสียมากกว่าจะหวังอื่นใดนั่นเอง
ที่มา DigiDay